แผน 'OR 'ในมือ 'ดิษทัต' 5 ปีลงทุน7 หมื่นล.ทั้งใน/ต่างประเทศ ยืนค่าการตลาด 2 บ.โครงสร้างราคาน้ำมัน

แผน 'OR 'ในมือ 'ดิษทัต' 5 ปีลงทุน7 หมื่นล.ทั้งใน/ต่างประเทศ ยืนค่าการตลาด 2 บ.โครงสร้างราคาน้ำมัน
โออาร์ เริ่ม 1 ม.ค.ปี67 ใช้น้ำมันมาตรฐานยุโรป 10 PPM ทั่วไทย ใช้ 2 หมื่นล. ลงทุนใน/ต่างประเทศ สร้างคลังน้ำมันรับ‘ไทยออยล์’ บุกหนักกัมพูชา เข้าตลาดธุรกิจสุขภาพความงาม เกาหลี-ญี่ปุ่น ต้นปีหน้า

ดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR กล่าวแผน 5 ปี (2567 -2571) เตรียมใช้งบลงทุนไม่ต่ำกว่า 70,000 ล้านบาท ในการขยายธุรกิจน้ำมัน (Oil) และ ไม่ใช่น้ำมัน (Non-Oil) ทั้งในประเทศไทย และ 11 ประเทศที่เข้าไปลงทุน (กัมพูชา, สปป.ลาว เมียนมา, เวียดนาม, สิงคโปร์, ฟิลิปปินส์, จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลี,โอมาน, ซาอุดิอาระเบีย)

 

ทั้งนี้ โออาร์ จะมุ่งให้ความสำคัญในการสร้างความแข็งแกร่งโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ให้กระจายทั่วทุกพื้นที่กลยุทธ์ เพื่อใช้เป็นจุดแข็งการทำธุรกิจหลัก ต่อการขยายความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งใน/ต่างประเทศที่บริษัทได้เข้าไปทำตลาด

 

ในปี 2567 บริษัทเตรียมใช้งบลงทุนราว 20,000 ล้านบาท มุ่งวางโครงสร้างพื้นฐาน รองรับพลังงงานทดแทน (Renewable Energy) ในด้านรถยนต์ไฟฟ้า หรือ  อีวี (EV) ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ที่ปัจจุบันมีจุดบริการครบใน 77 จังหวัดแล้ว

 

นอกจากนี้ ยังเตรียมแผนสร้างคลังก๊าซแอลพีจี (LPG) โดยได้ศึกษาหาที่ดินตั้งแต่ในปี 2566 เพื่อรองรับความมั่นคงการใช้น้ำมัน (Surplus) ของไทยออยล์ (Thaioil) คาดเห็นความคืบหน้าแผนดำเนินงานที่ชัดเจนในปี 2567

 

ในส่วนของเอาต์เล็ตในประเทศไทย บริษัท วางแผนเปิดสาขาต้นแบบ (Flagship Store) ที่จะเป็นรูปแบบธุรกิจใหม่ที่มีพื้นที่ค้าปลีกขนาดใหญ่  โดยนอกจากมีสถานีบริการน้ำมัน ปตท.แล้ว ยังมีร้านค้าปลึกในเครือแบรนด์ต่างๆ รวมถึงโชว์รูมรถยนต์ไฟฟ้า บีวายดี (BYD) ฯลฯ จะตั้งอยู่บนถนนวิภาวดีรังสิต 62  พรัอมเปิดให้บริการในวันที่ 12 ธันวาคม นี้

 

ดิษทัต กล่าวต่อว่าบริษัทฯ มุ่งให้ความสำคัญดูแลประชาชน ด้านค่าครองชีพจากราคาน้ำมัน โดยปัจจุบันยังคงอัตราค่าตลาดน้ำมันที่ 2 บาท จากโครงสร้างราคาน้ำมันภายใต้การดำเนินงานของโออาร์  ที่ประกอบด้วย อัตราภาษีน้ำมัน, ราคาปลีกน้ำมันที่นำมาขาย สัดส่วน 30% และ ค่าการตลาด ราว 5-6% 

 

ทั้งนี้ นับจากวันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้น บริษัทฯ เตรียมประกาศนำผลิตภัณฑ์น้ำมันที่มีค่ากำมะถัน 10 พีพีเอ็ม (PPM) มาตรฐานเดียวกับประเทศยุโรปมาจำหน่ายทั่วประเทศ อย่างเป็นทางการ เพื่อมีส่วนร่วมตามแนวทางปฎิบัติลดมลภาวะทางอากาศ จากการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ ควันดำ เป็นส่วนหนึ่งของฝุ่น PM2.5 จากเครื่องยนต์สันดาป  บนท้องถนนด้วย

 

ดิษทัต กล่าวต่อ สำหรับแผนธุรกิจในตลาดต่างประเทศ บริษัทมุ่งให้ความสำคัญกับประเทศกัมพูชาในฐานะ 'บ้านหลังที่สอง' ในการทำธุรกิจโดยนำรูปแบบการทำธุรกิจ (Business Model) ที่ประสบความสำเร็จในไทยทั้ง ค้าปลีกน้ำมัน และ นอน-ออยล์ ธุรกิจบริการไลฟ์สไตล์แบรนด์ต่างๆ มาทำตลาด ด้วยมองเห็นศักยภาพทางเศรษฐกิจ (GDP) กัมพูชาที่ยังเติบโตไม่ต่ำกว่า 5%

 

โดย โออาร์ จะนำธุรกิจแบรนด์ในเครือ ทั้งร้านกาแฟ อเมซอน, ร้านสะดวกซื้อโอตาริ (Ootari) , ร้านสะดวกซื้อ ฯลฯ มาทำตลาดในกัมพูชา โดยบริษัทเป็นผู้ดำเนินการเอง สัดส่วน 20% และ ร่วมมือกับพันธมิตร(ดีลเลอร์) ท้องถิ่นสัดส่วน 80%

 

ในปี 2567 เตรียมใช้งบลงทุนไม่ต่ำกว่า 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา หรือ ราว 1500-1600 ล้านบาท  พร้อมวางแผนใน3 ปี เตรียมจัดตั้งสำนักงานใหญ่ และสาขาแฟล็กชิป สโตร์ สถานีบริการน้ำมัน ปตท ในกัมพูชา เช่นกัน

 

ดิษทัต เสริมว่า “ในตอนนี้โออาร์ พักการทำธุรกิจในเมียนมาไว้ก่อน จากหลายปัจจัยนอกเหนือการควบคุม อย่างความไม่สงบภายในประเทศที่เกิดขึ้น แม้จะเป็นอีกหนึ่งประเทศในซีแอลเอ็มวีที่มีศักยภาพในการทำตลาดก็ตาม”

 

ส่วนฟิลิปปินส์ เป็นอีกหนึ่งตลาดที่มีความท้าทายในการทำธุรกิจเช่นกัน ปัจจุบัน เปิดให้บริการปั๊มน้ำมันปตท. ราว 170 แห่ง และมีแนวโน้มเติบโตอีกมาก โดยบริษัทฯ ยังเป็นผู้จัดหาน้ำมันให้กับลูกค้าธุรกิจสายการบิน ด้วย

 

ขณะที่ตลาด สปป.ลาว ปัจจุบันเปิดให้บริการปั๊มน้ำมัน ราว 80 แห่ง รวมถึงธุรกิจร้านคาเฟ่ อเมซอน ด้วยบริษัทมองเห็นศักยภาพในตลาดนี้แม้จะเป็นแลนด์ล็อค แต่ด้วยสภาพภูมิประเทศที่เหมาะสมในการปลูกกาแฟ จะสามารถจัดหาวัตถุดิบเมล็ดกาแฟให้กับธุรกิจร้านคาเฟ่ อเมซอนให้กับตลาดในกัมพูชาได้ โดยอาศัยข้อได้เปรียบด้านการขนส่งและกระจายสินค้า (Logistic) ที่ใกล้ชิดระหว่าง 2 ประเทศนี้

 

สำหรับประเทศเวียดนาม บริษัทมีแผนทำงานร่วมกับพันธมิตรธุรกิจบริษัทน้ำมันแห่งชาติในเวียดนามเพื่อทำตลาด โดยปัจจุบันโออาร์ ยังไม่มีสถานีน้ำมันปตท.เปืดให้บริการ ด้วยยังเป็นตลาดน้ำมันที่ยังถูกกำกับดูแลโดยรัฐบาล รวมถึงธุรกิจไลฟ์สไตล์แบรนด์ต่างๆ ในเครือโออาร์ ที่ยังไม่ได้นำเข้าไปทำตลาด       

 

โดยในไตรมาสแรกปี 2567 บริษัทยังมีแผนขยายธุรกิจการดูแลสุขภาพ (Health&Wellness) ในประเทศเกาหลี และ ญี่ปุ่น ด้วยเช่นกัน 

 

สำหรับผลดำเนินการ 9 เดือนแรกของปี 2566 ที่ผ่านมา อยู่ที่ 10,900 ล้านบาท มียอดขายกว่า 600,000 ล้านบาท และมีกำไรอยู่ที่อัตรา 2% ของรายได้ ส่วนธุรกิจไลฟ์สไตล์ มีสัดส่วนกำไร 20-25%  พร้อมวางเป้าหมายการเติบโตธุรกิจในปี 2567 อยู่ที่ 3-4% สอดคล้องกับ GDP ของไทยปีนี้อยู่ที่ 2.8-2.9%