จากสันเขื่อนสูงเท่าตึกกว่า 40 ชั้น สู่ใต้น้ำลึกเกือบ 60 เมตร ทุกก้าวคือความทุ่มเทของทีมงาน กฟผ. เพื่อความมั่นคงของพลังงานไทย
“เขื่อน” สิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ ทำหน้าที่กักเก็บน้ำไว้สำหรับใช้ในภารกิจต่าง ๆ เมื่อเกิดภัยธรรมชาติอย่างพายุฝนฟ้าคะนองแรง ๆ หรือกระทั่งแผ่นดินไหว หลายคนอาจเกิดข้อสงสัยว่าเขื่อนจะแตก ร้าว รั่ว หรือไม่และ สิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่นี้มีการดูแลรักษาหรือการตรวจสอบความแข็งแรงได้อย่างไร?
ภารกิจดูแลเขื่อน กฟผ.
เขื่อน เครื่องมือสำคัญในการใช้เพื่อบริหารจัดการน้ำของประเทศ โดยทำหน้าที่กักเก็บและชะลอน้ำ เพื่อลดผลกระทบ ป้องกันน้ำท่วมผลักดันน้ำเค็ม มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการชลประทานและการเกษตร ที่สำคัญคือเป็นแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการระบายน้ำของเขื่อนอีกด้วย ดังนั้นความปลอดภัยแข็งแรงของเขื่อนจึงเป็นเรื่องที่ต้องได้รับการตรวจสอบและดูแลอย่างเข้มงวดและสม่ำเสมอ
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คือผู้รับหน้าที่นี้ โดยมีเขื่อนในการดูแลถึง 14 เขื่อนทั่วประเทศไทย มีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญที่เรียกว่า ผู้รักษาความมั่นคงปลอดภัยเขื่อน คอยเฝ้าระวัง ตรวจวัด ติดตามและบำรุงรักษาเขื่อน เป็นประจำทุกวัน ทุกสัปดาห์ ทุกเดือน เพราะจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความมั่นใจและอุ่นใจด้านความปลอดภัยทั้งแก่ประชาชนโดยรอบเขื่อน และประชาชนทั่วประเทศ
จากสันเขื่อนดำดิ่งลงสู่ใต้น้ำ
กระบวนการตรวจสอบเขื่อนของ กฟผ. เริ่มจากการตรวจสอบด้วยสายตา เช่น ที่เขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณ ผู้รักษาความมั่นคงปลอดภัยเขื่อน จะเริ่มด้วยการเดินตรวจบริเวณแนวสันเขื่อนที่เป็นหินถมซึ่งมีความลาดชันและสูงกว่า 140 เมตร (เทียบเท่ากับตึก 40 กว่าชั้น) เพื่อตรวจสอบการทรุดตัวของแนวหินทิ้งลาดท้ายเขื่อน และตรวจสอบสิ่งผิดปกติ จากนั้นจะใช้ ระบบ DS-RMS (Dam Safety Remote Monitoring System) เพื่อตรวจวัดพฤติกรรมเขื่อน และเก็บข้อมูลมาแสดงผลในรูปแบบกราฟ โดยจะสรุปสถานะความปลอดภัยของเขื่อนในสภาวะปกติ สภาวะแผ่นดินไหว และสภาวะน้ำหลาก แบ่งความปลอดภัยเขื่อนเป็น 3 สถานะ คือ ปกติ แจ้งเตือน และเฝ้าระวัง
จากนั้นผู้รักษาความปลอดภัยเขื่อนจะเดินลงบันไดที่มีความสูงราวตึก 15 ชั้น เพื่อไปยังอุโมงค์ของเขื่อน ซึ่งเป็นพื้นที่อับอากาศ มีความกว้างของรากฐานเกือบ 600 เมตร เพื่อตรวจสอบสภาพคอนกรีต และใช้เครื่องมือ ต่าง ๆ ตรวจวัดค่าที่เกี่ยวข้องให้อยู่ในเกณฑ์ปกติตลอดเวลา
ไม่ใช่แค่เพียงบนผืนดินแต่ยังมีการตรวจสอบใต้น้ำด้วย ทีมนักประดาน้ำ ของ กฟผ. ที่เชี่ยวชาญสูงในการปฏิบัติงานภายใต้การทำงานที่ความลึกเกือบ 60 เมตร ผืนน้ำที่มืดมิดและมีแรงดันอากาศสูง นักประดาน้ำ
ทุกคนจึงต้องผ่านการอบรมอย่างเข้มข้นทั้งร่างกายและจิตใจเพื่อความพร้อมสำหรับภารกิจบำรุงรักษาอุปกรณ์ใต้น้ำ เช่น การเชื่อม การตัดต่ออุปกรณ์ เป็นต้น อีกทั้งต้องมีการอบรมและทดสอบนักประดาน้ำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยปัจจุบันมีทีมนักประดาน้ำเกือบ 50 คน หากจุดใดที่นักประดาน้ำไม่สามารถปฏิบัติการได้ กฟผ. ก็จะใช้ยานสำรวจใต้น้ำ (Remotely Operated Vehicle : ROV) เพื่อสำรวจและเก็บข้อมูลมาวิเคราะห์ผล และวางแผนบำรุงรักษาต่อไปได้
ภารกิจดูแลและตรวจสอบเขื่อนเพื่อความมั่นคงปลอดภัย เป็นภารกิจที่ไม่ง่าย ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ ที่มีความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ เป็นหนึ่งในฟันเฟืองเล็ก ๆ ที่สำคัญ เพื่อให้เขื่อนได้ยืนหยัดทำหน้าที่สร้างประโยชน์ให้กับทุกชีวิตต่อไปได้อย่างมั่นคง ขณะเดียวกันก็ปลอดภัยสำหรับชุมชนโดยรอบและประชาชนทุกคน