สมาน สุดโต
พ ศ 2431 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชการที่ 5 ทรงตั้งเสนาบดีสภา ประกอบด้วยพระบรมวงศ์ชั้้นผู้ใหญ่ ข้าราชการพลเรือน 12 พระองค์/คนเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ในจำนวน 12 พระองค์/คน นั้น แต่ละพระองค์/คน มีพระนามและชื่อที่ประชาชนคุ้นเคยเพราะทรงพระปรีชาสามารถยิ่ง เช่น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศนานุวัดติวงศ์ พระเจ้าน้องยาเธอสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิธาดา พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นนเรศวรฤทธิ์ เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ พระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ เจ้าพระยาพลเทพ(พุ่ม ศรีไชยันต์) พระยาสุศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) เป็นต้น
หนังสือรายงาน การประชุมเสนาบดีสภา รศ 112 ตอน 2 ได้กล่าวถึงการประชุมว่า ในเดือนมิถุนายน พ.ศ 2436 หรือร.ศ 112 นั้น มีการประชุมเกือบทุกวัน รวมแล้วถึง 24 ครั้ง ซึ่งแสดงให้เห็นภาวะวิกฤติของบ้านเมือง จากการคุกคามของจักรวรรดินิยมตะวันตก โดยเสนาบดีทั้งหลาย ต้องเตรียมพร้อมเพื่อแก้ไขสถานการณ์ร้ายแรงที่จะเกิดขึ้น เช่น เรื่องการจัดกองทัพ เตรียมกำลังทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ ค่าใช้จ่ายทางทหาร และข้อขัดข้องต่างๆ
เมื่อเหตุการณ์รุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชหัตถ์เลขา ให้เสนาบดีสภา ปรึกษากันอีกครั้งในวันที่ 20 มิถุนายน ในเรื่องจัดการทหารรักษาพระนคร ตามพระดำริของ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าพรานุรังษีสว่างวงศ์กรมพระภานุพันธ์วงศ์วรเดช ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการและความเห็นของหลวงสันวิธานนิเทศ
ในรายงานนั้นได้กล่าวถึงการ เสียสละทรัพย์ ของ บุคคลสำคัญ คือพระบริสุทธิโลหะภูมินทราธิบดี ผู้ว่าราชการเมืองตะกั่วทุ่ง ได้ส่งเงินเข้ามาทูลเกล้าถวาย 2,000 เหรียญเพื่อใช้ในการป้องกันรักษาพระราชอาณาเขต และเจ้าพระยารัตนบดินทร์ ทูลเกล้าถวาย ทั้งเงินและ 'เลข' คือไพร่สม ซึ่งเป็นคนของมูลนาย เพื่อใช้ในราชการ นับเป็นตัวอย่างที่ดีของข้าราชการ
อย่างไรก็ตามการรบระหว่างฝรั่งเศสกับไทยที่ปากน้ำ ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ ได้เกิดขึ้นเ เมื่อวันที่ 13 เดือนกรกฎาคม ร.ศ 112 เวลาเช้า เมื่อเรือรบของไทย 4 ลำคือเรือมงกุฎราชกุมาร เรือมุรธา เรือนฤเบนทร์ และเรือหาญหักศัตรู ออกไปจอดที่สันดอน เพื่อคอยรับเจ้าอาชดุกแห่งออสเตรีย แต่เรือรบทั้ง 4 ลำนี้ กลับต้องทำการหนักมาก ด้วยว่า เวลาบ่าย 5 โมงกับ 15 นาทีเกิดฝนตกหนัก คนในเรือรบและบนฝั่งแทบแลไม่เห็นกัน
ขณะนั้นเรืออัคเรศ ทอด(สมอ)อยู่ข้างนอกสันดอนบอกเข้ามาว่า มีเรือรบของฝรั่งเศส 2 ลำกำลังเล่นเข้ามา
แต่คนของเรา(ในเรือรบไทย)เข้าใจว่า เรืออัคเรศ เข้าใจผิด เพราะเวลานั้นจะมีเรือรบ 2 ลำของอังกฤษลำหนึ่ง และเรือรบเยอรมันลำหนึ่งกำหนดจะเข้ามาถึงในวันนั้นเหมือนกัน จึงไม่สงสัยว่า เป็นเรือรบฝรั่งเศส ทั้งนี้มองสิเออปาววี ราชทูตฝรั่งเศส ได้สัญญาไว้ว่าจะไม่มาอย่างแน่นอน แต่แล้วเรือรบทั้งสองลำนั้นกลายเป็นเรือฝรั่งเศสจริงๆ
ทหารไทยที่ป้อมพระจุลพระจอมเกล้า จึงได้ยิงปืนใหญ่ไม่ใส่ลูกกระสุน 3 นัดบอกสัญญาให้เรือฝรั่งเศสทั้งสองเล่นกลับออกไปเสีย แต่ฝรั่งเศสไม่ฟัง ทหารป้อมพระจุลจอมเกล้าจึงยิงปืนไปที่เรือรบฝรั่งเศสอีก จึงเกิดการสู้รบขึ้นแต่เป็นเวลากลางคืน จนถึงเวลา 1 ทุ่มมืดมาก จึงหยุดยิง
เป็นทีน่าสังเกตว่าปืนจากเรือรบฝรั่งเศสมีประสิทธิภาพสูง เพราะเป็นของใหม่ ส่วนปืนใหญ่ของไทยรุ่นเก่า จึงสู้กันไม่ได้
ผลจากการสู้รบ ทหารไทยถูกปืนยิงตาย 8 คน ป่วย(บาดเจ็บ) 41 คน สูญหาย 1คน
ส่วนทหารฝรั่งเศส ตาย 3 คน มองสิเออปาวี ราชทูตฝนั่งเศส ให้เอามาฝังไว้ที่ริมสถานทูตฝรั่งเศสในกรุงเทพส่วนทหารไทยที่ได้รับบาดเจ็บราชการนำมารักษาที่โรงพยาบาลบางรัก และสภาอุณาโลมแดงได้รักษาพยาบาลอย่างดี เป็นที่น่าชื่นชม
อนึ่งผู้มีบรรดาศักดิ์หลายท่าน ได้พากันไปเยี่ยมเยียนทหารเหล่านี้โดยน้ำใจกรุณา พร้อมทั้งแจกผ้านุ่งผ้าห่มกับเงินให้ทั่วทุกคน
แต่ นายเจิมศรี เสาวลักษณ์ได้แจกผ้าคนละผืน ให้เงินคนละ 2 บาท แล้วเห็นว่าคนพยาบาลไม่พอ จึงได้ออกเงินส่วนตัวของท่านให้หมอเฮ จ้างคนพยาบาลเพิ่มขึ้นอีก 2 คนเพื่อจะได้รักษาพยาบาลทหารทั้งปวงจนกว่าจะหายเจ็บป่วยหมดทุกคน
เหตุการณ์ ร.ศ.112 ตึงเครียดมากในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 แต่น้ำพระทัย และน้ำใจคนไทยในการเสียสละมีสูงมากเพื่อธำรงรักษาเอกราชของชาติไทย
วันปิยะมหาราช 23 ตุลาคม เป็นวันที่ชาวไทย สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ มิเสื่อมคลาย
(อ้างอิง: รายงานการประชุม เสนาบดีสภา รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาคที่ 2 ร.ศ 112 ตอน 2)