"วิษณุ" แจงปม "พิธา" ถือหุ้นไอทีวี ชี้ไม่ต้องไต่สวนฉุกเฉิน แนะดูคำวินิจฉัยเก่าๆ ก็เห็นทิศทางได้
วันที่ 29 พ.ค.2566 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญในบทบัญญัติเกี่ยวการถือครองหุ้นสื่อ ว่า ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ชี้ขาดแล้วกัน โดยในรัฐธรรมนูญเขียนไว้สั้นๆเท่านั้นไม่ได้บอกว่ากี่หุ้น และไม่ได้บอกว่าต้องเป็นสื่อขนาดไหน โอเปอเรตคือดำเนินการอยู่หรือไม่ แต่ถ้าดูคำวินิจฉัยเก่าๆของศาลรัฐธรรมนูญ ก็อาจเห็นทิศทางได้เหมือนกัน เพราะศาลรัฐธรรมนูญเคยตัดสินเรื่องนี้มาแล้วหลายดคี
ทั้งนี้เมื่อถามว่า กรณีถือหุ้นสื่อของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล จะต้องรีบทำให้เสร็จก่อนถึงวันเลือกนายกรัฐมตรีหรือไม่ หรือเป็นเรื่องระหว่างคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) กับศาลรัฐธรรมนูญ นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นเรื่องของ กกต.กับศาลรัฐธรรมนูญ คือด่านที่ 1 กกต. ด่านที่ 2 ศาลรัฐธรรมนูญ และ เมื่อถามย้ำว่าถ้ากกต.เห็นด้วย ก็ไปศาลรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ หรือถ้าไม่เห็นด้วย ก็สามารถปัดตกได้ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ใช่
ขณะเดียวกัน เมื่อถามว่าศาลรัฐธรรมนูญต้องไต่สวนฉุกเฉินก่อน หรือให้เป็นไปตามกระบวนการ นายวิษณุ กล่าวว่าเป็นไปตามปกติ ไม่มีอะไรแปลกประหลาด แต่เมื่อศาลรับเรื่อง มีสิทธิ์สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ได้ อย่างเช่นเมื่อคราว นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่เลือกนายกฯกันตอนนั้น อยู่ในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. แต่ตัดสินออกมาในเดือน พ.ย.
อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่าแต่กรณีนี้ กกต.จะต้องรับรองเป็นส.ส.ก่อนหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ใช่ เมื่อถามอีกว่า มองว่าห้วงเวลาที่จะตัดสินออกมาจะอยู่ในช่วงไหน จะกระทบกับการเลือกนายกฯหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ ตนตอบไม่ถูก เพราะกกต.ยังไม่ได้ทำอะไรเลย
นายวิษณุ ยังกล่าวถึงผู้ที่จะดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ว่า ตำแหน่งประธานสภามีความสำคัญเนื่องจากเป็นตำแหน่งอันดับ 1 ที่จะต้องเกิดขึ้นภายหลังจากการเลือกตั้ง และกลไกการเมืองทั้งหมดจะได้เดินต่อหลังจากมีตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร เช่น การเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นไปตามที่นายวันมูฮัมหมัด นอร์มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรได้กล่าวไว้
จะมากำหนดอะไรตามใจชอบไม่ได้ ไม่เช่นนั้นในอดีตคงไม่มีการยกตำแหน่งให้นายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่มี 3 เสียง เป็นประธานสภาฯในขณะนั้นหรอก เพราะคงเชื่อว่าสามารถชี้เป็นชี้ตายอะไรได้ แต่ความเป็นจริงชี้เป็นชี้ตายอะไรไม่ได้ แต่ที่ใหญ่ของประธานสภาฯ คือปกครอง บังคับบัญชาข้าราชการในสภาได้ ขณะเดียวกันมีอำนาจในการกำหนดวันประชุมสภาฯ ส่วนการบรรจุวาระใดใดนั้นเป็นไปตามข้อบังคับสภา
ทั้งนี้ประธานสภาจะต้องวางตัวเป็นกลาง ไม่ใช่จะมาผลักดันนโยบายของพรรคใดก็ได้ ซึ่งตำแหน่งประธานสภา ไม่สามารถเป็นกรรมการบริหารพรรค ไม่สามารถเป็นตำแหน่งหัวหน้าพรรค