นายกฯอานันท์แนะผู้มีอำนาจฟังคนรุ่นใหม่ประเทศไทยยังไปได้อีกไกล

นายกฯอานันท์แนะผู้มีอำนาจฟังคนรุ่นใหม่ประเทศไทยยังไปได้อีกไกล
"เมืองไทยหรือประเทศส่วนใหญ่ที่กำลังพัฒนาต้องการธรรมาภิบาลมากกว่าประชาธิปไตย ถ้าพวกคนมีประชาธิปไตยแต่ไม่มีธรรมาภิบาลมันก็ล้มเหลว"

หมายเหตุ* นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษ สำนักข่าวTHE BETTER เกี่ยวกับมุมมอง และความหวัง แนวทางในการที่จะทำให้ประเทศไทยดีกว่านี้ได้อย่างไร โดยมีรายละเอียดสาระที่น่าสนใจดังนี้

“อานันท์” ระบุว่า เมื่อพูดถึงปัจจัยต่างๆ ที่เป็นองค์ประกอบของของประเทศ คิดว่า เรามีศักยภาพดีแล้ว แต่ทำไมประเทศเรายังไม่เติบโต ทำไมเรายังไม่เติบโตไปในทิศทางที่ทำให้คนอื่นเคารพนับถือ มันก็มาถึงจุดอ่อนของเราก็คือคน มี 65 ล้านคน ก็จริง เรามีความปลาบปลื้ม ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหน ก็จะประกาศอยู่เสมอว่าเมืองไทยมีระบบการศึกษาทั่วประเทศ 90% อ่านออกเขียนได้ แต่ปัจจุบัน การอ่านออกเขียนได้มันไม่พอ คนจบหลักสูตรการเรียนขั้นมัธยมในประเทศไทยค่าเฉลี่ยน้อยกว่าคนเวียดนาม แล้วก็คิดว่าน้อยกว่าฟิลิปปินส์ แล้วก็น้อยกว่ามาเลเซีย

การที่เราต้องการให้ประเทศมีความเจริญมีอัตราการเติบโต และมีความรู้สึกที่พอใจแล้ว ก็ไปขาดอยู่ที่ว่าคนของเรามือไม่ถึง เพราะเดี๋ยวนี้ แค่อ่านออกเขียนได้ไม่พอ การศึกษาของคนไทยระดับค่อนข้างต่ำ ทุกอย่างก็ต่ำไปหมด แต่ไม่ได้หมายความว่าคนไทยไม่เก่ง ถ้ามองในหลายๆ ประเทศเรื่องการแพทย์หมอไทยถือว่าเก่งในระดับโลก และด้านวิศวะกรเราก็ไม่เลว แต่เราขาดช่างฝีมือ 

ขณะเดียวกันระดับการสอนของครูในเมืองไทย ยังไม่ถึงขั้นมาตรฐาน ยังอาศัยวิธีเก่าๆ ที่เรียกว่าการท่องจำตามโรงเรียน ก็จะสอนว่าอันนี้ผิดอันนี้ถูก แต่ไม่ได้ให้กำลังใจกับเด็กที่มีความคิดเห็นส่วนตัว และเรื่องของหลักสูตรอย่างสิงคโปร์เมื่อ 60 ปีที่แล้วการศึกษาก็ไม่ได้ดีอะไรเลย แต่เมื่อ 50 ปี 40 ปีที่แล้วมีรัฐมนตรีคนหนึ่งมาปรับหมดเลยปรับหลักสูตรปรับมาตรฐานการสอนผ่านโรงเรียนฝึกหัดวิชาครูการศึกษาเลยก้าวหน้า

"อานันท์" ยังมองอีกว่า รู้สึกว่าบางครั้งบางคราว เราไม่กลับมาดูตัวเรา เราไม่รู้จักตัวเรา เรารู้จักคนไทยแค่ไหน ถ้าเราไม่ประเมินตัวเอง นึกว่าเราฉลาด นึกว่าเราเก่ง หรือไปคิดว่าไอ้เด็กพวกนี้ มันเด็กจะไปรู้อะไร มันไม่เคยผ่านชีวิตมาอย่างเราที่ผ่านอายุ 60 -70 ปี มาแล้วคบเด็กสร้างบ้าน เด็กเถียงเด็กท้าทาย ก็ใช้กฎหมายจัดการปราบปราม ความจริง คนเราเมื่อพูดเก่งแล้วต้องฟังให้เป็นด้วย ฝรั่งเขียนหนังสือเยอะแยะในเรื่องของศาสตร์ของการฟัง ของเราผู้ที่มีอำนาจผู้ที่อยู่ในตำแหน่งที่มีสิทธิ์เหนือคนอื่น ก็ควรฟังคนอื่นบ้าง แล้วฟังต้องฟังให้เข้าใจ ว่า รุ่นหัวก้าวหน้า ไม่ได้หมายถึงแค่เด็ก แต่หมายถึง หัวก้าวหน้าที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศได้ 

"ไม่ควรจะไปรังแกเด็กโดยตั้งใจด้วยการใช้มาตรการต่างๆ ที่ไปขัดขวางหรือลดความหนักแน่นของเสียงเขามันไม่มีประโยชน์ จากประสบการณ์ของตัวผมเอง ผมได้ความรู้จากการฟังคนไม่ใช่แค่ฟังจากคนรุ่นใหม่ ฟังจากคนโบราณ ฟังจากพวกอนุรักษ์นิยมด้วย แล้วผมก็ไปไม่ไปนั่งคิดว่าคนนั้นผิดคนนี้ถูก เราฟังเพื่อมาปรับปรุงตัวเอง"

ฉะนั้น ทั้งหมดที่พูดมาก็เป็นส่วนหนึ่งและเป็นส่วนใหญ่ที่ทำให้เมืองไทยมันไม่ได้ใช้ศักยภาพเต็มที่ ทั้งที่คนไทยมีดีเยอะแยะศักยภาพมีทุกด้านแต่ทำไมมันไม่ค่อยไปไหน อันนึงก็เป็นเพราะวิธีคิดเราคิดไม่เป็น

ทั้งนี้เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี อดีตเสนาบดีกระทรวงการศึกษาที่การ เคยพูดไว้ว่าคนไทย มีลักษณะ 3 อย่างที่ดี ลักษณะแรก คือ รักบ้านเมืองมากรักแผ่นดินไทยรักสถาบัน 2.คือเป็นคนที่มีนิสัยประจำตัวที่ดีอ่อนน้อมเรียบร้อยนุ่มนวลใจดี และ 3.คนไทยผสานผลประโยชน์เก่ง แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี ไม่ไปสุดขั้วสุดโต่งไปสายกลางประนีประนอม 

แต่มาดูในปัจจุบันนี้ อันแรกยังอยู่ รักประเทศแต่ก็มีคนเบื่อประเทศเยอะ คนที่รักประเทศก็ลดน้อยลงไป เพราะสมัยใหม่คุณไม่จำเป็นต้องรักประเทศ ความรักประเทศมันมีความหมายเมื่อ 100 ปี ก่อน แต่ปัจจุบันถือว่าทุกคนรักประเทศ แต่ที่รักแตกต่างกันบางคน คลั่งประเทศ คลั่งศาสนา คลั่งชาติ แบบสุดโต่ง ซึ่งไม่ควรเป็นลักษณะของคนไทย คิดว่าคนไทยรักประเทศเยอะเท่าเดิม แต่วิธีรักแตกต่างกันในปัจจุบันนี้ ใครไม่รักประเทศแบบที่ฉันรักไอ้พวกนี้ชังประเทศ คนไทยกลายเป็นคนพิพากษาคนเร็วเหลือเกิน 

อันที่สองดีที่ยังเหลืออยู่เยอะ ยังอ่อนน้อมโอบอ้อมอารี แต่ก็มีลดน้อยลงไป เพราะคนที่เกิดในยุคนี้ความเรียบร้อยความอ่อนน้อมกับผู้ใหญ่ก็ลดน้อยลงไป อันนี้ถือว่าเป็นเรื่องธรรมชาติเป็นทุกประเทศและยิ่งการศึกษาบอกให้คนคุยกันได้เถียงกันได้ แต่โดยพื้นฐานความอ่อนน้อมกับผู้ใหญ่ยิ้มแย้มแจ่มใสยังมีเหลืออยู่มาก 

อันที่สาม กลไกการผสานประโยชน์ อันนี้เปลี่ยนไป จะเป็นเพราะว่าโซเชียลมีเดียหรือหนังสือพิมพ์หรือสื่อทั้งหลาย ที่ออกข่าวหรือแสดงความเห็นที่มันช่วยส่งเสริมความเกลียดชังความไม่เป็นมิตรซึ่งกันและกันมากขึ้น อันนี้ก็เกิดขึ้นทุกประเทศไม่ใช่แค่ประเทศไทย มันก็โยงไปเรื่องว่า ถ้าคนเรามีการศึกษาดีมีสติหน่อย เวลาฟังข่าวอะไรที่เป็นข่าวปลอม คนที่มีสติก็จะจับได้มากกว่าเพราะเป็นเรื่องไม่จริง แต่ถ้าคนที่การศึกษาไม่ดีพอ ไม่มีสติก็เชื่อทันทีเพราะเชื่อทันทีมันอันตรายมาก

ในด้านเศรษฐกิจนั้น เราค่อนข้างจะอ่อน เพราะรัฐบาลมีนโยบายไม่แน่ชัด ไม่สม่ำเสมอ เมื่อเป็นแบบนี้ การทำธุรกิจก็ยาก ถ้ากฎหมายไม่ดี เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอยู่เรื่อย จะมีนโยบายหรือเกิดการกระทำให้เกิดไม่ความยุติธรรมให้กับสังคม เรื่องที่ควรทำเปิดประมูลโดยทั่วไปก็เปิดประมูลเฉพาะกรณี หรือโครงการใหญ่ๆ แทนที่จะให้แข่งขันกัน ก็ให้พวกพ้องไปทำก่อน 

การบริหารทางเศรษฐกิจกับการเมืองก็เหมือนกัน ตราบใดที่มีคนมองเห็นความไม่ยุติธรรมในนโยบายทางการเมือง เช่นเรื่องการเขียนรัฐธรรมนูญถ้าเขียนให้เข้าข้างตัวเอง เขียนให้รัฐบาลตัวเองอยู่ได้ตลอดชีวิต มันก็ไม่ยุติธรรม หรือถ้าเกิดทางด้านธุรกิจจะเป็นกฎหมายเรื่องนโยบายที่เอนเอียงไปทางด้านพวกที่มีอำนาจผูกขาด หรือเลือกที่รักมักที่ชัง คนปัจจุบันก็จะรู้สึกว่าไม่มีความยุติธรรมในสังคม ทำให้ประชาชนจำนวนมากรู้สึกว่า เมืองไทยมันไม่มีความยุติธรรมที่ไหนเลย ความยุติธรรมทางด้านประชาธิปไตยก็ดี ทางการเมืองก็ดี ความยุติธรรมทางด้านธุรกิจก็ดี ความยุติธรรมในกระบวนการยุติธรรมก็ดี ถ้ามีความรู้สึกแบบนี้มากๆความอึดอัดใจก็มากขึ้น ก็จะทำให้คนถูกดูดไปอยู่ในจุดที่สุดโด่ง

สำหรับโอกาสที่จะก้าวข้ามความขัดแย้งต่างๆในประเทศไทย นั้น "อานันท์" มองว่า ถ้าถามว่ามีก็มี แต่เมืองไทยเหมือนพลาดโอกาสนั้น ไม่ใช่ไม่มีโอกาสนะ โอกาสนี้มีเรื่อยๆ แต่ผมอายุ 90 ก็เท่ากับอายุประชาธิปไตยเมืองไทย 90 ปี

“นี่ถามจริงๆ ประชาธิปไตยไปถึงไหน ตั้งแต่เขียนรัฐธรรมนูญมา 21 ฉบับมี รัฐประหารมาไม่รู้กี่ครั้ง เพราะเราไม่เข้าใจว่าประชาธิปไตยคืออะไร ไปนึกถึงว่ามีเลือกตั้ง มีเขียนรัฐธรรมนูญ มีรัฐบาล มีสภา มีฝ่ายค้านฝ่ายรัฐบาล แต่เนื้อหาสาระของประชาธิปไตยมันอยู่ที่จิตใจ ว่า คุณมีจิตใจเป็นประชาธิปไตยหรือเปล่า เพราะคำว่าประชาธิปไตยต้องมีคำว่ายุติธรรมมาด้วย มันต้องมีความโปร่งใสมาด้วย”

ทั้งนี้การมีรัฐสภามีรัฐธรรมนูญนั้นคือประชาธิปไตยครึ่งๆ กลางๆ เมืองไทยหรือประเทศส่วนใหญ่ที่กำลังพัฒนาต้องการธรรมาภิบาลมากกว่าประชาธิปไตย ถ้าพวกคนมีประชาธิปไตยแต่ไม่มีธรรมาภิบาลมันก็ล้มเหลว แต่ถ้าคุณมีธรรมาภิบาลก็มีประชาธิปไตย 

อย่างไรก็ตามเมื่อถามว่า พอจะมีความหวังไหมที่ประเทศไทยจะดีขึ้น “อานันท์” บอกว่าผมเป็นคนไม่ฝัน แต่เป็นคนชอบประวัติศาสตร์

“ความหวังในใจมี แต่จะเป็นความหวังที่ไม่เพ้อฝัน คนที่มีอำนาจคนที่มีหน้าที่ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือสส.ผมอยากให้มีความฝัน ผมหวังว่าความฝันของเขาใกล้เคียงกับของผม แต่ความฝันของผม ผมไม่สามารถไปบอกให้เขาทำเหมือนของผมได้”

ขณะเดียวกันเมื่อถามว่าท่านฝันไว้ว่าอย่างไร "อานันท์" บอกว่า ก็ที่พูดมาทั้งหมดเนี่ยคือความฝัน 

“ผมฝันอยากเห็นรัฐธรรมนูญที่ให้ความเป็นธรรมกับคน ผมฝันอยากเห็นรัฐบาลที่เข้าใจการบริหารงานทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจ”

ในขณะเดียวกันถ้ารัฐบาลทำหน้าที่กระจายทรัพยากรของชาติให้กับประชาชนทั่วประเทศ ทุกแห่งหนทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนาก็จะดี  แต่ขณะนี้ทุกอย่างอยู่ที่รัฐบาลกลางหมด การกระจายอำนาจคือการกระจายงบประมาณด้วย ถ้าคุณให้อำนาจเขาไปเฉยๆ ไม่ให้งบประมาณเขาจะไปทำอะไรได้ 

"อานันท์" ระบุอีกว่า การกระจายอำนาจต้องให้อำนาจจริงๆ ไม่ใช่อำนาจปลอมๆ ไม่ใช่มีตัวแทนรัฐบาลกลางอยู่ประจำจังหวัดและคอยรายงานเข้ากระทรวงที่กรุงเทพ หรือหลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นเรื่องของชาวบ้าน อย่างเรื่องตำรวจแต่ละจังหวัด เขาควรมีตำรวจของตัวเองได้

เหมือนอย่างคุณจับเด็กเข้าคุกหมดแทนที่คุณจะให้เด็กอยู่ในกรอบของกฎหมายในปัจจุบันถึงมันจะไม่เป็นธรรม แต่มันก็ยังดีกว่า แต่มันก็ยังได้เรียนรู้ความจริง ให้เขาอยู่ในสภา ถ้าเค้าอยู่ในสภา 4 ปีผมแน่ใจว่าหลายสิ่งหลายอย่างที่เขาอยากทำมันทำไม่ได้ในสภา และหลายสิ่งหลายอย่างที่เขาคิดมันไม่ใช่เป็นของจริง ให้เขาเรียนรู้ไปเองแต่คุณขับไล่เขาออกไปจากวง มันก็เหมือนการตัดโอกาสเขา ตัดอนาคตเขามันกลับไปสร้างความเกลียดชังให้กันมากขึ้น

ในส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหาการขัดแย้งที่มีการเสนอนิรโทษกรรมมันจะเป็นโอกาส ทีแก้ปัญหาได้ไหม “อานันท์” บอกว่า ในใจผมคิดว่ามันแก้ไม่ยาก วิธีแก้มันไม่ยากแต่ว่าคุณมีความต้องการจะแก้จริงจังแค่ไหน เพราะการที่มีปัญหาค้างอยู่แบบนี้มันก็ทำให้คนกลุ่มหนึ่งหรือหลายกลุ่มได้ประโยชน์ มันก็กลับมาที่ควรทำอะไรเพื่อประโยชน์ให้กับประชาชนหรือทำประโยชน์เพื่อตัวคุณเองกับเพื่อนพ้องคุณ 

TAGS: #อานันท์ ปันยารชุน #ประชาธิปไตย #คนรุ่นใหม่