กกต.แจงปมยื่นยุบ "ก้าวไกล" เหตุมีหลักฐานชัด ยันไม่ข้ามขั้นตอน ยึดกฎหมายทุกอย่าง

กกต.แจงปมยื่นยุบ
กกต.แจงปมยื่นศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคก้าวไกล เหตุหลักฐานชัด ไม่ต้องไต่สวนก่อนยื่น ยันไม่ข้ามขั้นตอน เป็นไปตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 93 ไม่ใช่มาตรา 92 เป็นกรณีเดียวกับที่เคยยื่นร้องยุบพรรคไทยรักษาชาติ

นายปกรณ์ มหรรณพ กรรมการการเลือกตั้ง พร้อมด้วย นายฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ กรรมการการเลือกตั้ง และนายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. พบปะพูดคุยกับสื่อมวลชน โดยนายปกรณ์ กล่าวถึงการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้มีการสั่งยุบพรรคก้าวไกล ว่า อยากทำความเข้าใจถึงเหตุผลต่อการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญฉบับลงวันที่ 31 ม.ค.2567 ได้ระบุชัดเจน ว่าการกระทำของผู้ถูกร้อง เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คำวินิจฉัยนี้ทำให้ กกต.ไม่อาจจะทำอย่างอื่นได้ เมื่อมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการตามมาตรา 92 (1) (2) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง ถือว่า กกต.มีหลักฐานอันควรเชื่อได้แล้ว ถ้าขนาดที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ใช่หลักฐานอันควรเชื่อถือได้ กกต.คงตอบกับสังคมยาก

นายปกรณ์ กล่าวว่า นอกจากนี้เหตุที่ต้องยื่น เพราะคำวินิจฉัยดังกล่าวของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันธ์กับ กกต. และมีผู้มาร้องเรียนในเรื่องนี้ กกต.จึงจำเป็นต้องยื่น ถ้า กกต.ไม่ยื่นคำร้องอาจจะมีความผิดตามกฎหมาย อีกทั้งการยื่นคำร้องในครั้งนี้เป็นไปตามตามมาตรา 92 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง จึงไม่มีเหตุที่จะต้องไต่สวน เพียงแต่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่านั่นจึงไม่มีเหตุที่จะต้องไต่สวน ซึ่ง กกต.ปฏิบัติในลักษณะเดียวกันกับการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้มีคำวินิจฉันยุบพรรคไทยรักษาชาติ โดยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเมื่อ กกต.มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้ถูกร้องได้กระทำการอันเป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคของผู้ถูกร้อง ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณา

นายปกรณ์ ยังกล่าวว่า การยื่นในครั้งนี้ยื่นตามมาตรา 92 ซึ่งระเบียบการไต่สวนของ กกต.มี 2 ฉบับ ฉบับแรกใช้เป็นการทั่วไปตามระเบียบปี 2561 ใช้กับทุกกรณี หากพบว่าการเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตและต้องทำ หรือมีการร้องเรียนเข้ามา แต่กรณีที่หลายฝ่ายกล่าวอ้างว่าไม่เปิดให้ผู้ถูกร้องชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาและแสดงพยานหลักฐานนั้น การดำเนินการตามมาตรา 93 เป็นกรณีความปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองว่ามีการกระทำ เมื่อมีการกระทำ นายทะเบียนต้องรวบรวมพยานหลักฐาน แจ้งข้อกล่าวหา และเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ก่อนเสนอความเห็นต่อ กกต. ซึ่งมาตรา 93 ไม่เกี่ยวกับมาตรา 92 ซึ่งทั้งสองมาตรามีความแตกต่างกัน


“มีคำถามมาก ว่าเห็นด้วยที่มีการยุบพรรคการเมืองหรือไม่ กกต. มีการพูดคุยกันมาก และตอบได้อย่างเดียวว่า กกต. ไม่สามารถตอบได้ กกต.เป็นผู้ปฏิบัติต้องเคารพตามกฎหมายและปฏิบัติตามกฏหมาย จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยไม่ได้ แต่เมื่อใดมีผู้ไม่เห็นด้วยกับกฎหมาย และแก้กฎหมาย เช่น ไม่มีการบัญญัติกฎหมายเรื่องยุบพรรคการเมือง กกต. แม้แต่จะคิดก็ยังไม่กล้า นี่คือสิ่งที่เราทำตามกฏหมายและปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายทุกอย่าง บางครั้งอาจเข้าใจสับสนบ้าง แต่สิ่งที่เราอยากจะแถลงให้สื่อมวลชน พี่น้องประชาชนได้ทราบ ก็คือเราทำตามกฎหมายทุกอย่าง ผลจะเป็นอย่างไร เราเคารพและรับฟังปฏิบัติตามดุลยพินิจของศาลรัฐธรรมนูญเต็มที่” นายปกรณ์ กล่าว

เมื่อถามว่าพรรคก้าวไกล ส่งคลิปที่ประธาน กกต.ให้สัมภาษณ์ในทำนองยอมรับว่าการพิจารณาเรื่องยุบพรรคขัดต่อระเบียบและเป็นการข้ามขั้นตอน นายปกรณ์ กล่าวว่า สิ่งนี้จะต้องดูภาพรวมทั้งหมดของคำให้สัมภาษณ์ของแถลง ไม่ใช่ตัดเฉพาะบางส่วนออกมา ส่วนที่พรรคก้าวไกล ระบุว่ากรณีของพรรคก้าวไกลไม่อาจเทียบได้กับกรณีของพรรคไทยรักษาชาติ นายปกรณ์ กล่าวว่า ประเด็นนี้อยู่ที่ศาลแล้ว ทางเราที่เป็นคู่กรณีไม่อาจแสดงความเห็นได้ เราเคารพศาลอย่างยิ่ง

เมื่อถามอีกว่าบัญชีพยานหลักฐานที่จะยื่นต่อศาลมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง นายปกรณ์ กล่าวว่าเราได้ทราบคร่าวๆ แล้ว แต่กำลังรอหนังสือจากศาลฉบับเต็มว่าจะระบุอย่างไร แล้วเราจะรีบปฏิบัติตามคำสั่งศาลทันที่ ส่วนนายอิทธิพร บุญประคอง จะเป็นหนึ่งในรายชื่อพยานหรือไม่ขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ดำเนินการ ส่วนที่พรรคก้าวไกลแย้งว่าต้องปฏิบัติตามมาตรา 93 นายปกรณ์ กล่าวว่า เป็นความเห็นของพรรคก้าวไกลเท่านั้น ย้ำว่าดำเนินการทั้งสองมาตราแตกต่างกัน

TAGS: #ยุบพรรคก้าวไกล #กกต #ไทยรักษาชาติ