คืนนี้ 21 ต.ค.ห้ามพลาด!! ชมฝนดาวตกไอโรออนิดส์ ร่องรอยดาวหางฮัลเลย์ ทิ้งไว้ในวงโคจร

คืนนี้ 21 ต.ค.ห้ามพลาด!!  ชมฝนดาวตกไอโรออนิดส์  ร่องรอยดาวหางฮัลเลย์ ทิ้งไว้ในวงโคจร
ลุ้นฟ้าเปิด ชวนสายดาราศาสตร์-โรแมนซ์ ชมความงาม “ฝนดาวตกโอไรออนิดส์” ร่องรอยเศษฝุ่น “ดาวหางฮัลเลย์” ที่ยังคงทิ้งไว้จำนวนมากในวงโคจรที่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดเมื่อ 37 ปีก่อน

ข้อมูลจากเพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) เผยว่า “ฝนดาวตกโอไรออนิดส์” เกิดจากโลกเคลื่อนที่ตัดผ่านเส้นทางการโคจรของดาวหางฮัลเลย์ ที่หลงเหลือเศษฝุ่นและวัตถุขนาดเล็กจำนวนมากทิ้งไว้ในวงโคจร ขณะเคลื่อนที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์เมื่อปี พ.ศ. 2529

แรงโน้มถ่วงของโลกจึงดึงดูดเศษฝุ่นและวัตถุดังกล่าวเข้ามาเสียดสีกับชั้นบรรยากาศโลก เกิดการลุกไหม้ เห็นเป็นแสงวาบคล้ายลูกไฟพุ่งกระจายตัวออกมาบริเวณกลุ่มดาวนายพราน มีสีเหลืองและเขียว สวยงามพาดผ่านท้องฟ้า

สำหรับฝนดาวตกโอไรออนิดส์ปี 2566 ในคืนดังกล่าว ดวงจันทร์ จะตกลับขอบฟ้าเวลาประมาณ 23.30 น. หลังจากนั้นจะไร้แสงจันทร์รบกวนจนถึงรุ่งเช้าของวันถัดไป

อีกทั้งยังตรงกับคืนเสาร์-อาทิตย์พอดี จึงเป็นโอกาสดีที่จะชมฝนดาวตก วิธีการสังเกตที่ดีที่สุดคือมองด้วยตาเปล่า เลือกสถานที่ที่ปราศจากแสงรบกวนหรือห่างจากแสงเมืองให้มากที่สุด จะทำให้เห็นดาวตกได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) คาดการณ์ว่า ฝนดาวตกชนิดนี้ จะมีอัตราการตกสูงสุดเฉลี่ยเพียง 20 ดวงต่อชั่วโมง แต่เนื่องจากเป็นฝนดาวตกที่เกิดบริเวณกลุ่มดาวนายพราน กลุ่มดาวที่มีความสว่างโดดเด่นบนฟ้า หากสามารถบันทึกภาพการกระจายตัวของฝนดาวตกได้ จะทำให้ได้ภาพฝนดาวตกที่สวยงามเคียงข้างกลุ่มดาวนายพราน อีกทั้งยังเป็นฝนดาวตกในช่วงปลายฝนต้นหนาว ท้องฟ้ามักจะมีทัศนวิสัยดี จึงเหมาะแก่การเฝ้ารอชมและถ่ายภาพฝนดาวตกได้ตลอดทั้งคืนจนถึงรุ่งเช้า

ฝนดาวตกโอไรออนิดส์ เป็นปรากฏการณ์ที่สังเกตได้ในช่วงวันที่ 2 ตุลาคม - 7 พฤศจิกายนของทุกปี เพราะฉะนั้นสามารถรอชมความสวยงามได้ทุกปี แต่หากเป็น ดาวหางฮัลเลย์ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของฝนดาวตกนี้ จากการคำนวณคาดว่า ดาวหางจะโคจรเฉียดดวงอาทิตย์อีกครั้งในช่วงกลางปี พ.ศ. 2604 ดังนั้น จะเห็นดาวหางกันอีกครั้งในอีก 38 ปีข้างหน้า

ภาพ https://earthsky.org/clusters-nebulae-galaxies/everything-you-need-to-know-orionid-meteor-shower/

TAGS: #ฝนดาวตก #ดาวตกไอโรออนิดส์ #ดาวหางฮัลเลย์