“ มท.อิ่ม” สนับสนุนผลการวิจัยและแนวคิดนวัตกรรมวิทยาศาสตร์พลเมือง แก้ปัญหาสารหนูปนเปื้อนในแม่น้ำกก พร้อมเดินหน้า ผนึกกำลัง สกสว. สร้าง “ระบบเซ็นเซอร์อัจฉริยะ” รายงานคุณภาพน้ำแบบเรียลไทม์
ผู้ใช้เฟซบุ๊ก “ Kidnukorn Suebsakun “ ได้เขียนโพสต์ ถึง น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และ ในฐานะ หัวหน้าศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำในพื้นที่แม่น้ำกกและแม่น้ำสาย โดยระบุว่า “ คำถามและข้อวิจารณ์
1. ท่านยังคงเน้นย้ำแม่น้ำกกเพียงสายเดียวเท่านั้น
ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว แม่น้ำปนเปื้อนสารโลหะหนักจากเหมืองในประเทศเมียนมา ประกอบด้วยแม่น้ำกกสายรวกโขง
ท่านอย่าลืมว่าในแม่น้ำสายและรวกมีการผันน้ำเข้าสู่พื้นที่เกษตรกรรมตลอดทั้งปีอย่างน้อย 60,000 ไร่ ผลิตข้าวปีละ 2 ครั้ง ผลิตมันฝรั่ง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และพืชผักสวนครัว การประปาส่วนภูมิภาคใช้แม่น้ำสายและแม่น้ำรวกผลิตน้ำประปาให้ผู้บริโภค (ลูกค้า) อย่างน้อย 14,000 ราย
ส่วนแม่น้ำโขงไม่เคยมีการสำรวจข้อมูลเลยว่าประชาชนใช้แม่น้ำโขงในการเกษตรเนื้อที่มากน้อยเพียงใด ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ในลำน้ำโขงประชาชนใช้พื้นที่ริมตลิ่งเพาะปลูกพืชผักสวนครัวจำหน่ายให้กับชาวเชียงแสนเป็นประจำ
นอกจากนี้รายงานการวิจัยของม.นเรศวร และสกสว.ที่ท่านได้รับฟังรายงานเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งทีเป็นประโยชน์มาก ท่านพึงระลึกว่าพื้นที่การวิจัยคือแม่น้ำกกเท่านั้น แต่ยังขาดการวิจัยแบบเดียวกันในแม่น้ำสาย รวก และ โขง
2. รัฐบาลไม่เคยเปิดเผยให้ประชาชนเห็นถึงหลักฐานของการสื่อสารระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลเมียนมาในเรื่องการแก้ไขปัญหาเหมืองแร่ในประเทศเมียนมา ที่ผ่านมาประชาชนมักได้รับทราบเพียงแค่คำพูดปากเปล่าจากรัฐมนตรีหลายต่อหลายคนเท่านั้น
นอกจากนี้ประชาชนยังมีคำถามอีกว่ารัฐมนตรีท่านใดกันแน่ที่เป็นผู้รับผิดชอบการเจรจากับประเทศเมียนมาและกลไกระหว่างประเทศทั้งหมด ที่รัฐบาลมักกล่าวอ้างว่าจะมีการเจรจาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น MRC (Mekong River Commission: คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง) LMC (Lancang Mekong Cooperation: กรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง)
ประการสำคัญคือรัฐบาลไม่เคยเปิดเผยความคืบหน้าหรืออุปสรรคการดำเนินงานในการเจรจาแก้ปัญหาต้นเหตุมลพิษข้มพรมแดนแม้แต่ครั้งเดียว รัฐบาลมักประชาสัมพันธ์กิจกรรมว่าได้มีการประชุมเท่านั้น แต่ประชาชนต้องการทราบผลการดำเนินงานด้วย
3. ท่านได้กล่าวว่า เราก็ได้ร่วมมือหลาย ๆ ฝ่ายในการแก้ไขปัญหา อาทิ กระทรวงกลาโหม และกรมกิจการชายแดนทหาร เป็นต้น ขณะนี้จึงอยู่ระหว่างรอทางการเมียนมานัดวันพูดคุย
คำถามคือการเจรจาของฝ่ายความมั่นคงเป็นการดำเนินงานตามรอบการเจรจาของหน่วยงานทหารของทั้ง 2 ประเทศ
แต่ปัญหาแม่น้ำปนเปื้อนสารพิษมีความเร่งด่วน ท่านจึงไม่สามารถรอคอยการทำงานของหน่วยงานประจำเท่านั้น เช่นเดียวกันกับการเจรจากับประเทศเมียนมา ท่านเพียงแต่รอคอยคู่เจรจากำหนดวันการหารือ ยิ่งทำให้การแก้ปัญหาล่าช้าออกไปอย่างไร้วี่แวว
4. ในกรณีน้ำใช้ในการเกษตร ท่านเอาข้อมูลหลักฐานใดในการประกอบการตัดสินใจว่า "สารปนเปื้อนหมดไปแล้ว" การกล่าวอ้างว่า "สารปนเปื้อนหมดไปแล้ว" หมายความว่าอย่างไร สารปนเปื้อนไม่มีแล้วในแม่น้ำหรืออย่างไร การกล่าวเช่นนี้เป็นการสร้างความเข้าใจผิดต่อประชาชนทั้งประเทศ
5. ในกรณีที่ท่านกล่าว่า ในเรื่องของการใช้น้ำในการเกษตร ตอนนี้ยังไม่ได้รับรายงานว่า มีผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร แต่อย่างใดนั้น
ท่านต้องเข้าใจว่า สารโลหะหนักใช้เวลาสะสมในดินและพืช การตรวจไม่เจอในครั้งนี้ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าครั้งต่อไปจะไม่ตรวจพบสารโลหะหนักเกินค่ามาตรฐาน
ตราบใดที่ท่านยังปล่อยให้น้ำในการเกษตรยังมีสารโลหะหนัก ดินและพืชย่อมสะสมสารพิษเหล่านั้นเข้าไปตลอดเวลา
นอกจากนี้ ท่านได้มีแผนการเฝ้าระวังและตรวจสอบสารโลหะหนักตกค้างในผลผลิตข้าวนาปีที่จะมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงปลายเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายนหรือไม่ อย่างไร
ท่านทราบหรือไม่ว่า พื้นที่ในน้ำกกสายรวกที่ปนเปื้อนสารพิษมีพื้นที่ในเขตชลประทาน 100,000 ไร่ ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทานแต่ใช้แม่น้ำสารพิษในการเกษตรยังไม่มีตัวเลข เช่นเดียวกับแม่น้ำโขงที่ยังไม่มีการสำรวจพื้นที่เกษตร
ท่านกังวลหรือไม่ว่า หากตรวจพบข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หรือข้าวนาปีมีสรโลหะหนักเกินค่ามาตรฐานขึ้นมา ความเสียหายจะกินวงกว้างแค่ไหน
6. ที่ท่านกล่าวว่าภาพรวมของสารพิษในน้ำ ไม่ได้มีเพิ่มขึ้น อยู่ในภาวะคงที่นั้น ท่านกำลังจะสื่อว่าไม่มีอะไรที่น่ากังวลหรืออย่างไร สำหรับประชาชนในจังหวัดเเชียงใหม่และเชียงรายแล้วนั้น "ภาวะคงที่" มีสองความหมายคู่กัน ความหมายแรก "ยังคงมีปัญหา" คือเรายังเผชิญความเสี่ยงต่อไป เนื่องจากแม่น้ำยังมีสารพิษ
ความหมายที่สอง "ท่านยังไม่ได้แก้ปัญหาต้นเหตุ" หากท่านได้แก้ปัญหาต้นเหตุแล้วสารพิษในแม่น้ำควรลดลงมากกว่าคงที่ตามที่ท่านกล่าวอ้าง
ดังนั้นการที่ท่านบอกว่า ภาพรวมของสารพิษในน้ำ ไม่ได้มีเพิ่มขึ้น อยู่ในภาวะคงที่นั้น จึงเป็นความเข้าใจผิดโดยสิ้นเชิง
ข้อเสนอแนะ
1. การแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ: รัฐบาลต้องแสดงออกถึงความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาต้นเหตุมากกว่านี้ ดังนี้
1.1 แสดงให้รัฐบาลเมียนมาเห็นอย่างจริงจังว่ารัฐบาลไทยมีความต้องการให้รัฐบาลเมียนมาขึ้นโต๊ะเจรจาโดยด่วนที่สุด
ถึงแม้ว่าพื้นที่บางส่วนจะอยู่ในเขตการปกครองของกลุ่มกองกำลังว้า แต่ว้าไม่เคยทำสงครามกับรัฐบาลทหารพม่า พวกเขาเอื้อประโยชน็ให้กันและกันมาด้วยดีตลอด ดังนั้นจึงไม่มีทางที่รัฐบาลทหารเมียนมาจะใช้เป็นข้อกล่าวอ้างได้ว่าไม่มีอำนาจเหนือดินแดนรัฐฉานในเขตปกครองของว้าที่เป็นที่ตั้งของเหมืองแร่ทั้งหมดที่สร้างปัญหาให้กับประเทศไทย
1.2 การตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานแร่ที่ประเทศต้นทาง ได้แก่ดีบุก ตะกั่ว พลวง แมงกานีส ทองแดง และวุลแฟรม โดยแร่เหล่านี้มีการนำเข้าจากประเทศไทยผ่านด่านแม่สาย เชียงแสน เชียงของ แม่ฮ่องสอน แม่สะเรียง ตาก และแม่สอด
หน่วยงานที่มีข้อมูลคือกรมศุลกากรและกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
ท่านต้องพิสูจน์ว่าแหล่งแร่ทั้งหมดนั้นมาจากเหมืองแร่ใดในประเทศเมียนมา แหล่งแร่เหล่านั้นเป็นต้นเหตุของสารพิษปะปนในแม่น้ำหรือไม่
เมื่อท่านทราบแน่ชัดแล้วว่าแหล่งแร่เหล่านั้นเป็นต้นเหตุท่านย่อมมีสิทธิสั่งห้ามการนำเข้ามายังประเทศไทย
1.3 การตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานแร่ที่ประเทศปลายทาง ท่านต้องตรวจสอบต่อไปอีกว่าแร่ทั้งหมดที่นำเข้าจากพม่านั้น ได้มีการส่งออกไปยังประเทศที่สามหรือไม่ อย่างไร
สืบเนืองจากข้อ 1.2 ท่านจำเป็นต้องตรวจสอบต่อไปอีกว่า หากมีประเทศที่ 3 รับซื้อแร่ที่มาจากเหมืองที่ก่อใหเกิดมลพิษข้มพรมแดนมายังประเทศไทยแล้วนั้น ท่านย่อมมีสิทธิระงับการส่งออกแร่ทั้งหมด รวมถึงเจรจาให้ประเทศที่สามงดซื้อแร่ที่ส่งออกจากประเทศไทยที่มาจากแหล่งแร่ประเทศเมียนมาด้วย
1.4 ท่านต้องมีความมุ่งมั่นในการใช้กลไกภูมิภาคที่ท่านกล่าวอ้างถึงได้แก่ MRC และ LMC ให้เห็นเป็นรูปธรรมของการทำงานมากกว่านี้ ประชาชนต้องการเห็นบุคคลระดับรัฐมนตรีเป็นผู้นำการเจรจา มิใช่ปล่อยให้หน่วยงานตามกลไกปกติเป็นผู้ดำเนินการเพียงฝ่ายเดียว
2. การเฝ้าระวังความเสี่ยงในพื้นที่เกษตรกรรมที่ใช้น้ำกกสายรวกโขงปนเปื้อนสารพิษในการเกษตร มีข้อเสนอแนะ สำคัญคือแผนการเฝ้าระวังและตรวจสอบสารโลหะหนักในพื้นที่เกษตรทั้งในและนอกเขตชลประทาน สภาพปัญหาขาดแผนการเฝ้าระวังและตรวจสอบสารโลหะหนักในผลผลิตทางการเกษตรที่ใช้น้ำกก สาย รวก โขง ทำการเกษตรตลอดทั้งปี โดยท่านต้องดำเนินการ ดังนี้
1) สํารวจข้อมูลจำนวนเกษตรกร เนื้อที่เพาะปลูก ประเภทการเกษตร (พืช ไม้ผล ปศุสัตว์) ที่ใช้นำกกสาย รวก โขง ในการเกษตร ทั้งที่อยู่ในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน
2) สำรวจข้อมูลรูปแบบ วิธีการใช้น้ำกก สาย รวก โขง ในการเกษตร และแหล่งน้ำอื่น
3) จัดทำห่วงโซ่อุปทานผลผลิตการเกษตรทั้งหมด
4) จัดทำแผนการตรวจสอบผลผลิตการเกษตรก่อนการเก็บเกี่ยว เพื่อป้องกันมิให้ผลผลิตที่มีสารโลหะ หนักหลุดออกไปสู่ท้องตลาด โดยเฉพาะข้าวนาปีที่จะมีการเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนตุลาคมถึง พฤศจิกายน 2568
5) จัดทำแผนการรองรับในกรณีตรวจพบผลผลิตของเกษตรกรมีสารโลหะหนัก เช่น การเยียวยาและ ชดเชยให้เกษตรกร การดึงเอาผลผลิตที่มีสารปนเปื้อนอออกจากท้องตลาด
ผมหวังว่าท่านจะกลับไปพิจารณาข้อมูลที่ท่านได้รับมาอย่างรอบด้านและถี่ถ้วนอีกครั้ง
ประชาชนไม่อยากถูกทิ้งให้เผชิญปัญหาจากความเข้าใจผิดของท่านอีกแล้ว
ขอแสดงความรับถือ
สืบสกุล กิจนุกรณี
ขณะที่ความเคลื่อนไหวของ น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และ ในฐานะ หัวหน้าศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำในพื้นที่แม่น้ำกกและแม่น้ำสาย ได้เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาได้ร่วมหารือกับ ศ. ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผอ.สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (Thailand Science Research and Innovation) ซึ่งเป็นการหารือแนวทางการแปลผลนิติวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมจัดการความเสี่ยงการปนเปื้อนสารหนูในแม่น้ำกกอันเนื่องมาจากมลพิษข้ามพรมแดน พร้อมทั้งยกระดับการแก้ไขปัญหาจากระดับพื้นที่สู่การบูรณาการข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อตอบคำถามประชาชน และสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบาย หลังจากสถานการณ์ดังกล่าวสร้างความกังวลต่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง
น.ส.ธีรรัตน์ กล่าวต่ออีกว่า ภายหลังการร่วมกันหารือ ตนเห็นชอบในหลักการวิทยาศาสตร์พลเมืองที่เสริมด้วยปัญญาประดิษฐ์ของทีมวิจัยมาสนับสนุนการตรวจสอบสารปนเปื้อนในแม่น้ำกก สร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน สร้างการเรียนรู้ความเสี่ยงและการจัดการความเสี่ยง โดยขอให้ดำเนินการทันที เพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน รมช.มท. กล่าวว่า การหารือครั้งนี้ ได้นำเสนอสิ่งที่เป็นประโยชน์และสามารถตอบโจทย์ที่ประชาชนที่ประชาชนกังวลอยู่ แต่อุปสรรคการทำงานที่ผ่านมา คือ การบูรณาการข้อมูลเข้าสู่ศูนย์ข้อมูลข่าวสารของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งจำเป็นต้องสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้เร็วที่สุด เพื่อนำไปเป็นข้อมูลประกอบในการเจรจาระหว่างประเทศ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว
โดยภายหลังการประชุมดังกล่าว มีข้อสรุปแนวทาง 3 ข้อหลักด้วยกัน ได้แก่
มีข้อสรุปดังนี้ 1) แม่น้ำกกปนเปื้อนสารหนูเกินค่ามาตรฐาน โดยพบว่าแหล่งกำเนิดหลักของการปนเปื้อนมาจากเหมืองแร่หายากประมาณ 70% และมาจากเหมืองทองคำในประเทศเมียนมาประมาณ 30%
2) สถานการณ์ความปลอดภัยปัจจุบัน โดยปริมาณโลหะและกึ่งโลหะในน้ำใต้ดิน ระดับตื้น พืชผักที่ปลูกโดยใช้น้ำจากแม่น้ำกก และเนื้อปลายังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานและปลอดภัยสำหรับการบริโภค แต่จำเป็นต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง
3) ผลกระทบต่อระบบนิเวศ ปรากฏการณ์ “ปลาแค้ป่วย” จากการติดเชื้อไวรัส และ ปรสิตอย่างผิดปกตินั้น สัมพันธ์กับการรับสัมผัสโลหะและกึ่งโลหะปนเปื้อนในน้ำ โดยมลพิษในแม่น้ำกกทำให้ปลาแค้อ่อนแอและติดเชื้อได้ง่ายขึ้น ถือเป็น "ตัวชี้วัดทางชีวภาพ" ที่สำคัญที่เตือนให้แก้ปัญหาการปนเปื้อนในแม่น้ำกกอย่างเร่งด่วน
ทั้งนี้ เพื่อให้การเกิดประโยชน์การทำงานร่วมกันทั้งในเชิงการทำงาน และการแก้ไขปัญหาของประเทศ โดย สกสว. มีแผนจะต่อยอดพัฒนา “ระบบเซ็นเซอร์อัจฉริยะ” เพื่อเฝ้าระวังคุณภาพน้ำแบบเรียลไทม์ เพื่อให้สามารถดำเนินการตรวจสอบและป้องกันผลกระทบต่อประชาชนได้อย่างแม่นยำและทันท่วงที