คลังเร่งสรุปข้อเสนอสหรัฐฯ ก่อน 1 ส.ค. หวังลดแรงกระทบภาษีนำเข้า 36% ทีมไทยแลนด์ประชุมเข้มที่บ้านพิษณุโลก เตรียมยื่นข้อเสนอรอบใหม่-แผนเยียวยารายเซกเตอร์ รมว.คลังยันไม่กระทบเกษตรกรและอุตสาหกรรมรายย่อย
เวลา 07.00 น. คณะทำงานด้านเศรษฐกิจนำโดย นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยนายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ อาทิ นายจักรภพ เพ็ญแข และนายจตุพร บุรุษพัฒน์ เดินทางเข้าร่วมประชุมทีมไทยแลนด์ ณ บ้านพิษณุโลก เพื่อหารือแนวทางตอบสนองกรณีสหรัฐอเมริกาประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยในอัตรา 36% โดยให้โอกาสเจรจาจนถึงวันที่ 1 สิงหาคมนี้
ต่อมาในเวลา 07.47 น. นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางมาถึงเพื่อร่วมติดตามสถานการณ์ ก่อนจะเดินทางกลับในเวลา 10.55 น. โดยมีคณะรัฐมนตรีและผู้แทนพรรคการเมืองร่วมส่ง
หลังใช้ระยะเวลานานเกือบ 3 ชั่วโมง นายพิชัย พร้อมด้วย นายจตุพร นายเอกนัฎ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายฉันทวิชญ์ ตัณฑสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้แถลงข่าวร่วมกัน
โดยนายพิชัย ระบุว่า วันนี้ได้เชิญทีมที่ปรึกษา มาหารือร่วมกันถึงกรณีที่ได้รับจดหมายจากสหรัฐฯ โดยย้ำว่า การส่งจดหมายดังกล่าว เป็นการเลื่อนเวลาให้เรา ยังไม่ได้เจรจาถึงที่สุด วันนี้จึงได้มีการทบทวน เพราะยังมีเวลาถึงวันที่ 1 สิงหาคม เพื่อจะได้ข้อยุติกับสหรัฐฯ ซึ่งจะพูดคุยกันอีกรอบ โดยเมื่อวานนี้ได้เรียกประชุม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และบริษัทภาคเอกชนขนาดใหญ่ มาหารือร่วมกันถึงผลกระทบที่ได้รับ ว่าจะมีมาตรการรองรับอย่างไร
ได้ข้อสรุป 3 แนวทางในการเจรจา คือ 1.การนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ จะต้องไม่ให้ผู้ผลิตโดยเฉพาะเกษตรกร และภาคอุตสาหกรรมรายย่อยได้รับผลกระทบ 2. การนำเข้าสินค้าจะต้องดูแลให้ทั่วถึง ไม่ให้เกิดเรื่องที่ไม่เหมาะสม และถือเป็นโอกาสในการทบทวนตัวเองให้สินค้าได้รับการกำกับดูแลให้มีประสิทธิภาพ ทั้งขาเข้าและขาออก และ3. มาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ จากการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ
ส่วนกรณีที่มีนายทักษิณ ชินวัตรอดีตนายกรัฐมนตรี มาร่วมประชุมวันนี้ด้วย นายพิชัยกล่าวว่า ตนเป็นผู้เชิญ ในฐานะที่นายทักษิณรู้เรื่องเหล่านี้ดี น่าจะให้ข้อคิดเห็นและแนวทางที่เป็นประโยชน์ได้ดี
นายพิชัย ยืนยันว่าเราจะทำให้ดีที่สุด ซึ่งก็มีหลายสิ่งที่ทำ ไม่ใช่เรื่องเฉพาะอัตราภาษีอย่างเดียวเป็นเรื่องอื่นๆประกอบด้วย จะชี้แจงให้ชัดเจน จะไม่ทำให้ไทยเสียเปรียบ และเชื่อว่าไทยจะไม่ได้รับผลกระทบสูงกว่าประเทศอื่น
นายพิชัย กล่าวว่าจะสรุปข้อมูล ที่ได้ประชุมกันรวมถึงที่ได้หารือกับภาคเอกชน รวมถึงแนวทางเยียวยาผลกระทบในแต่ละเซกเตอร์ ในวันจันทร์ที่ 14 กรกฎาคม ว่ามีข้อเสนอใดที่จะต้องปรับปรุงเพื่อยื่นข้อเสนอเพิ่มเติมอีกหรือไม่ จากเดิมที่เคย เสนอสหรัฐฯไปแล้วเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมา และจะหาโอกาสในการพูดคุยทางออนไลน์กับผู้ปฏิบัติว่ายังต้องการอะไรอีก เพื่อทำความเข้าใจกันก่อน และปรับปรุง ข้อเสนออีกเล็กน้อย หากจำเป็นก็พร้อมจะเดินทางไปพูดคุย
ทั้งนี้นายพิชัย ยังระบุว่าสหรัฐฯต้องการเจรจาภาษีเกือบทุกตัวสินค้า และผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะสินค้าทางการเกษตร ที่แม้จะมีมูลค่าไม่มากแต่ ที่เกี่ยวข้องกับคนหมู่มาก ก็อาจให้ความสนใจมาก