Harkness Method ห้องเรียนแบบใหม่ หนุน เด็กไทยกล้าแลกเปลี่ยนความคิด อย่างเท่าเทียม
ใครเคยได้ยินคำว่า Harkness Method แล้วสงสัยว่าเรียนยังไง ลองนึกภาพโต๊ะวงรีที่ทุกคนนั่งล้อมวงกัน แบบไม่มี “หัวโต๊ะ” ไม่มีใครพูดคนเดียว ทุกคนมี “เสียง” และมีบทบาทในการสร้างองค์ความรู้ร่วมกันอย่างเท่าเทียม
.
ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ อธิบาย ห้องเรียนแบบไม่มีหน้าห้อง ว่า การเรียนแบบไม่มีหน้าห้อง ครูไม่ได้ยืนหน้าห้องอีกต่อไป แต่เป็นเหมือนผู้สังเกตการณ์ คอยฟัง คอยกระตุ้น เมื่อถึงจังหวะเหมาะสม เพื่อเข้าใจพลวัตการสนทนาและระดับความเข้าใจของนักเรียน เปิดพื้นที่ให้เกิดการคุย ถาม และเรียนรู้แบบ Peer-to-Peer ที่ทรงพลังอย่างยิ่ง โดยไม่มีกรอบตายตัวจากครูผู้สอน แต่หัวใจของการเรียนแบบนี้ คือ เด็ก ๆ ต้องเตรียมตัวล่วงหน้า เพราะการสนทนาแบบ Harkness คือการนำ “ทุนทางปัญญา” มาร้อยเรียงต่อกัน การอ่านผ่าน ๆ ไม่พอ ต้องเข้าใจอย่างลึกซึ้ง และพร้อมเชื่อมโยงข้อมูลจากหลายแหล่งเข้าด้วยกัน
เด็กนักเรียน จะได้ฝึกคิดวิเคราะห์ ฟังอย่างเข้าใจ และพูดอย่างมีเหตุผล พร้อมตั้งคำถามที่ลึกซึ้ง ไม่ใช่แค่หาคำตอบ แต่เพื่อเปิดประเด็นใหม่และท้าทายอคติของตัวเอง เป็นการฝึกใช้ตรรกะ สื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ และเคารพความคิดเห็นที่ต่างจากตนเอง ซึ่งเป็นหัวใจของการอยู่ร่วมในโลกที่หลากหลาย
“ ในฐานะคนในแวดวงการศึกษา เชื่อว่าเด็กไทยเก่งอยู่แล้ว ขอแค่มีพื้นที่ให้เค้าได้ ลองพูด ลองคิด และลองฟัง อย่างอิสระ โดยไม่ถูกตัดสิน ห้องเรียนที่ดีไม่ใช่แค่ที่นั่งฟัง แต่คือพื้นที่ที่ทุกเสียงมีความหมาย และทุกความคิดมีคุณค่า การเปลี่ยน ห้องเรียน ให้กลายเป็น พื้นที่สนทนาอย่างมีเป้าหมาย คือ การเปิดโอกาสให้เด็กใช้พลังของความคิดและคำพูดเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ” ดร.ดาริกา ระบุ
ดร.ดาริกา อธิบายต่อว่า ความจริง ห้องเรียนแบบ Harkness นี้ ถ้าเข้าใจการเรียนการสอนแบบนี้จริง ๆ ไม่ต้องอาศัยการมีโต๊ะวงรีก้อได้ เพียงแต่การใช้บรรยากาศโต๊ะวงรี ทำให้เข้าใจบรรยากาศมากขึ้น
แต่ที่สำคัญคือการเตรียมความพร้อมของเด็กและครูเป็นสำคัญ เท่านี้ก้ออาจเปลี่ยนอนาคตของเด็กคนหนึ่งไปได้เลย