กระทรวงดีอี หนุนทุน นวัตกรรม AI มอบ "ม.วลัยลักษณ์" เดินหน้าพัฒนานวัตกรรม ประเมินโรคตาเขในเด็กแรกเกิด
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) มอบทุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) ให้กับ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพื่อพัฒนานวัตกรรม AI ด้านการแพทย์ เพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรค โดยเฉพาะ การวินิจฉัยโรคตาเขในเด็กแรกเกิด เพื่อลดอัตราความเสี่ยงการพิการทางสายตาในเด็กแรกเกิด
สำหรับงานวิจัยการตรวจจับโรคตาเขด้วยปัญญาประดิษฐ์มีศักยภาพพัฒนาเป็นแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟนหรืออุปกรณ์เคลื่อนที่ ในรูปแบบ Telemedicine เพื่อเพิ่มการเข้าถึงการวินิจฉัยในพื้นที่ห่างไกล นอกจากนี้ยังสามารถต่อยอดเทคโนโลยี AI เพื่อใช้ตรวจโรคตาอื่น ๆ เช่น ต้อกระจก ต้อหิน และจอประสาทตาเสื่อม ช่วยเพิ่มความแม่นยำและลดเวลารอคอย เนื่องจากในการคัดกรองในปัจจุบันต้องใช้จักษุแพทย์และเจ้าหน้าที่จำนวนมากในการเก็บข้อมูลเพื่อทำการวินิจฉัย โครงการนี้เป็นการต่อยอดจากผลงานวิจัยก่อนหน้าที่นำเทคนิคปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในการตรวจจับและประมวลผล ของ รศ.ดร.วัฒนพงศ์ เกิดทองมี นักวิจัยจากหลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์(มวล.) ที่ก่อนหน้านี้ ได้พัฒนาการประมวลผลภาพตรวจจับตำแหน่งของดวงตาและรูม่านตา ซึ่งเป็นพื้นฐานในการประยุกต์ใช้ในโครงการวิจัยต่าง ๆ เช่น การตรวจจับโรคตาเขและการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการมองเห็นและการติดตามสายตา ต่อมาจึงได้ต่อยอดงานวิจัยสู่รูปแบบการทำงานที่จะสมารถทำการะบุตำแหน่งดวงตาและรูม่านตาเพื่อสร้างเครื่องมืออัตโนมัติให้จักษุแพทย์วินิจฉัยโรคตาเขได้เร็วขึ้น ลดภาระงานลดด่าใช้จ่ายและที่สำคัญระบบนี้ออกแบบให้ใช้งานง่ายเป็นมิตรกับเด็กเพิ่มโอกาสในการตรวจคัดกรองผู้ป่วยเด็กได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มศักยภาพของประเทศไทยในด้านเครื่องมือแพทย์อีกด้วย
โดยงานวิจัยดังกล่าว สอดคล้องกับ แนวนโยบายของกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) ที่มุ่ง เพื่อพัฒนาด้านการแพทย์และสาธารณสุข จึงได้ให้ทุนสนับสนุนโครงการพัฒนาเครื่องมืออัตโนมัติเพื่อวินิจฉัยโรคตาเข โดยใช้เทคนิคปัญญาประดิษฐ์ กับสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพื่อพัฒนาโครงการดังกล่าว
โครงการนี้มีเป้าหมายพัฒนาเป็น โมเดลธุรกิจแบบไม่หวังผลกำไร (Social Enterprise) โดยจะมีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาให้การสนับสนุน สนุน อาทิ กรมการแพทย์ เพื่อยกระดับสู่ Telemedicine เต็มรูปแบบ สำหรับให้บริการประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กแรกเกิดซึ่งในแต่ละปีมีจำนวนประมาณ 200,000 คน หากสามารถคัดกรองเบื้องต้นได้แม้เพียง 4% หรือ 8,000 คน ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดความพิการทางสายตาได้ในอนาคต