เยอรมนีปฏิเสธขายเครื่องยนต์เรือดำน้ำให้ไทย อ้างข้อจำกัดจากอียูห้ามส่งอาวุธให้จีน "ภูมิธรรม" ทวิภาคีรมว.กห.เยอรมัน ย้ำไทยเดินหน้าร่วมมือด้านกลาโหม-เทคโนโลยีกับเบอร์ลินต่อเนื่อง
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของไทย ได้เข้าพบหารือกับนายบอริส พิสโตริอุส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เพื่อกระชับความร่วมมือทวิภาคีด้านความมั่นคงระหว่างสองประเทศ
ในการหารือครั้งนี้ นายภูมิธรรมได้สอบถามถึงความเป็นไปได้ที่เยอรมนีจะขายเครื่องยนต์เรือดำน้ำให้ไทย ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของเรือดำน้ำที่ไทยจัดซื้อจากสาธารณรัฐประชาชนจีน อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีกลาโหมเยอรมนีได้ชี้แจงว่า เยอรมนีไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้ เนื่องจากข้อจำกัดของสหภาพยุโรป (EU) ที่ห้ามส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ให้จีน อันมีผลต่อการขายชิ้นส่วนยุทโธปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับจีน
แม้จะติดข้อจำกัดด้านยุทโธปกรณ์ แต่ทั้งสองฝ่ายยังคงยืนยันความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างไทยกับเยอรมนี ซึ่งมีมายาวนานถึง 163 ปี และมีพัฒนาการในความร่วมมือด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ เยอรมนีเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยในสหภาพยุโรป
นายภูมิธรรมยังได้แสดงความยินดีกับเยอรมนีที่จัดตั้งรัฐบาลใหม่โดยมีนายฟรีดริช แมร์ซ เป็นนายกรัฐมนตรี และกล่าวชื่นชมที่นายพิสโตริอุสยังคงดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีกลาโหม ซึ่งสะท้อนถึงเสถียรภาพของนโยบายด้านความมั่นคงของเยอรมนี นอกจากนี้ ยังได้กล่าวยกย่องการที่เยอรมนีเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม United Nations Peacekeeping Ministerial Meeting ครั้งที่ 6 (UNPKM 2025) ซึ่งไทยเข้าร่วมด้วยความมุ่งมั่นในการพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
ในโอกาสนี้ ไทยยังประกาศความพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการฝึกอบรมภายใต้โครงการความร่วมมือไตรภาคี (Triangular Partnership Programme: TPP) ในช่วงปี 2570-2571 พร้อมทั้งแสดงความประสงค์ที่จะขยายความร่วมมือกับเยอรมนีในการฝึกอบรมกำลังพลด้านปฏิบัติการรักษาสันติภาพ
ความร่วมมือทางทหารไทย-เยอรมนีมีพัฒนาการที่ชัดเจน อาทิ การแลกเปลี่ยนการเยือน การสนับสนุนที่นั่งเรียนในหลักสูตรทหาร และการจัดการประชุมหารือในระดับทวิภาคีอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด ไทยและเยอรมนีได้จัดประชุมโครงการความร่วมมือด้านกลาโหมประจำปี 2568 (Bilateral Annual Cooperation Programme Talks) และการหารือด้านความมั่นคงระดับเสนาธิการ (Politico-Military Staff Talks) ครั้งที่ 7 ซึ่งสะท้อนถึงความไว้วางใจและการประสานงานอย่างใกล้ชิดระหว่างกองทัพทั้งสองประเทศ
ทั้งนี้ ไทยขอบคุณเยอรมนีที่ให้การสนับสนุนกำลังพลไทยในการศึกษาวิชาทหารในเยอรมนี ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างศักยภาพและความเป็นมืออาชีพของทหารไทย
นอกจากนี้ ไทยยังได้แสดงความประสงค์ที่จะขยายความร่วมมือกับเยอรมนีในด้านเทคโนโลยีทางทหาร โดยเฉพาะด้านไซเบอร์และปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อนำมาพัฒนาศักยภาพของกองทัพให้ทันสมัยยิ่งขึ้น รวมทั้งขอความร่วมมือในด้านการแพทย์ทหารผ่านความเชื่อมโยงระหว่างศูนย์แพทย์ทหารนานาชาติของเยอรมนีและศูนย์แพทย์ทหารอาเซียนของไทย
กระทรวงกลาโหมของไทยยังได้เน้นย้ำถึงการพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตยุทโธปกรณ์ภายในประเทศ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงและลดการพึ่งพาต่างประเทศ โดยมุ่งเป้าพัฒนาใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ ยานพาหนะเพื่อความมั่นคง อุตสาหกรรมต่อเรือ อากาศยานไร้คนขับ และอาวุธและกระสุน พร้อมทั้งเชิญชวนเยอรมนีร่วมเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และเข้าร่วมงาน Defense & Security 2025 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น
ในด้านความร่วมมือพหุภาคี ไทยยินดีที่เยอรมนีได้รับสถานะประเทศผู้สังเกตการณ์ในคณะทำงานของอาเซียนด้านความมั่นคงไซเบอร์และการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและภัยพิบัติในกรอบ ADMM-Plus ซึ่งถือเป็นอีกก้าวสำคัญในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างภูมิภาคอาเซียนและยุโรปในอนาคต