" ศิริกัญญา " นัดติว 3 วันรวด 13 - 15 พ.ค. นี้ จัดทัพ - วางกรอบเนื้อหา อภิปรายงบ 69
น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) เปิดเผยกับ ทีมข่าว The Better ว่า ในช่วงวันที่ 13 พ.ค. - 15 พ.ค. นี้ เป็นช่วงระยะเวลา 3 วันเต็ม ที่พรรคประชาชน จะจัดเตรียมเนื้อหาในการอภิปรายงบประมาณปี 2569 และ วางตัวผู้อภิปราย โดยส่วนตัวยังย้ำคำเดิมว่า อยากให้รัฐบาลดึงเอาร่างพรบ.งบประมาณปี 2569 ไปทบทวนเอง อาจจะทำให้ล่าช้าไปอีก 1-2 อาทิตย์ ก็ไม่เป็นไร เพราะ ฝ่ายค้านต้องการความชัดเจนว่า รัฐบาลอยากตั้งวงเงินที่เท่าไหร่ อยากให้ตัดกี่แสนล้าน และจะเอาไปทำโครงการอะไรบ้างต้องมีรายละเอียดชัดเจน เพื่อให้สภา และ กมธ.จากพรรคร่วมรัฐบาลยินยอมให้ตัดงบ และฝ่ายค้านจะสบายใจมากขึ้นว่า ไม่ได้ตัดงบเพื่อเซ็นเช็คเปล่าให้รัฐบาลจะเอาไปทำอะไรก็ได้ และงบที่ขอมา ขอให้เป็นงบที่นำไปสร้างประโยชน์เศรษฐกิจในระยะยาว
เมื่อถามถึง กรณีการเจรจาภาษีทรัมป์ ที่ถูกเลื่อนออกไป และยังไม่มีการกำหนดวันเจรจาใหม่ที่ชัดเจน จะยิ่งทำให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในไทยน้อยลง เพราะ ไม่เชื่อมั่นในภาวะเศรษฐกิจ หรือไม่ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า เข้าใจว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ ทีมเจรจา กำลังชั่งน้ำหนักว่า จะเลือกรูปแบบเจรจาแบบไหนดี เจรจาแบบร่วมกับสมาชิกอาเซียน หรือ เจรจาแบบตัวต่อตัว หากจะให้แนะนำ ก็อยากให้เลือก การเจรจาแบบเจรจา 1 ต่อ 1
เพราะประเทศอื่นใช้วิธีการแบบ 1 ต่อ 1 ไปเจรจากับสหรัฐทั้งนั้น จะมีมาเลเซียในฐานะประธานอาเซียน พูดคุยในนามประธานอาเซียนบ้าง แต่ที่เหลือใช้วิธี 1 ต่อ 1 เพราะกระบวนการเจรจาใช้เวลานาน เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องน้อง ๆ การเจรจา FTA ทั้งเรื่องภาษี สิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน ทรัพย์สินทางปัญญา ต้องเอามาเจรจาด้วย
มีคนทำสถิติประเทศที่เจรจากับสหรัฐใช้เวลาเร็วที่สุดคือ 4 เดือน นานสุดคือ หลายปีกว่าจะเจรจากันจบ ดังนั้น จึงไม่มีใครใช้กลยุทธการเจรจาเป็นแพ็ก เพราะถ้าใช้กลยุทธ 10 ประเทศ คุยกับ 1 ประเทศ กว่าที่จะตกลงกันได้ในแต่ละหัวข้อ ต้องเจรจากัน 11 ประเทศ จึงจบได้ยากกว่า และ ถ้าเราเริ่มการเจรจาช้า ถ้าคู่แข่งประเทศอื่น เช่น เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรรลุข้อตกลงได้ก่อนไทย เขาจะได้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้ส่งออก
" ถ้าเราบอกเจรจาร่วมกับอาเซียน แต่ประเทศอื่นในอาเซียนไม่ได้มากับเราด้วย โอกาสที่จะสำเร็จก็น้อยลง เพราะถ้าดูแพ็กเกจแต่ละประเทศที่นำไปเจรจาคล้าย ๆ ไทยทั้งหมด คือเปิดการนำเข้าสินค้าเกษตรสหรัฐเพิ่มขึ้น ลดกำแพงภาษี จัดการการสวมสิทธิสินค้าจีน และไปลงทุนสหรัฐ ดังนั้น พาวเวอร์อำนาจต่อรองจากการรวมกลุ่มอาเซียน อาจไม่ได้มากอย่างที่คิด " น.ส.ศิริกัญญา กล่าวทิ้งท้าย