นักวิชาการ-ภาคปชช. สรุปบทเรียนรัฐประหาร จากรัฐล้มเหลวสู่รัฐไร้น้ำยา ทำสังคมไทยแย่ลง 

นักวิชาการ-ภาคปชช. สรุปบทเรียนรัฐประหาร จากรัฐล้มเหลวสู่รัฐไร้น้ำยา ทำสังคมไทยแย่ลง 
นักวิชาการ-ภาคประชาชน สรุปบทเรียนรัฐประหาร จากรัฐล้มเหลวสู่รัฐไร้น้ำยา ทำให้สังคมไทยแย่ลง เตรียมจัดงานรำลึก 33 ปีพฤษภา 35 

ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มูลนิธิพฤษภาประชาธรรมและคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’ 35 จัดงานแถลงข่าวการจัดงานรำลึก 33 ปีเหตุการณ์ 17 พฤษภาคม 2535 และอภิปรายวิชาการ นำโดย ผศ.ดร.ปริญญา เทวานมิตรกุล ประธานมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม, รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, รศ.บุญเลิศ วิเศษปรีชา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง มหาวิทยาลัยรังสิต, นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’ 35 และนายเมธา มาสขาว ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาธิปไตยฯ ร่วมแถลง

รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต กล่าวว่า การรัฐประหารคือการยึดอำนาจและเวลาไปจากประชาชน กาลเวลาของรัฐเผด็จการเป็นวงกลม ไม่ใช่เวลาที่เดินไปสู่อนาคต การรัฐประหารจึงไม่ใช่การล้มรัฐบาลอย่างเดียว แต่เป็นการยึดเวลาและควันพิษต่อสังคมไทย เป็นการปิดกั้นโอกาสของประเทศไทย การวิพากษ์การรัฐประหาร จึงไม่ใช่แค่การต่อต้าน แต่เป็นการยับยั้งวาทะกรรมทางการเมืองแบบเก่าด้วย

“บทเรียนการรัฐประหารได้ล้มล้างจินตนาการของประชาชนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสังคมด้วย เนื่องจากการรัฐประหารคือการเลือกข้างอำนาจแบบอนุรักษ์นิยม คืนอำนาจให้อภิสิทธิ์ชน และทำลายการพัฒนาประชาธิปไตย  การเรียกร้องรัฐประหารคือการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงอำนาจเดิม เพราะท่านต้องการชาติที่สงบเงียบ ไม่สร้างความรำคาญต่อท่านผู้มีอำนาจ”

รศ.ดร.พิชาย กล่าวว่า  อยากสรุปบทเรียนการรัฐประหาร ดังนี้  1.ในฐานะการวนซ้ำแห่งอำนาจ โครงสร้างการผลิตซ้ำอำนาจเพื่อยุติความแตกแยกและนักการเมือง เป็นช่องทางลัดในการจัดอำนาจใหม่ ไม่ผ่านกลไกประชาธิปไตย ซึ่งแท้จริงแล้วการรัฐประหารไม่เคยทำให้ยุติการแตกแยกได้ จึงเป็นการสร้างเสถียรภาพจอมปลอม

2. ประชาธิปไตยไม่สามารถหยั่งรากทางรัฐธรรมนูญได้ ชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ ทหาร มักเป็นพันธมิตรกันรัฐประหารทำให้จินตนาการของสังคมเกิดบาดแผลประชาธิปไตย 

3. การรัฐประหารได้สร้างวัฒนธรรมแบบลอยตัวขึ้นมา และมีการออกกฎหมายใหม่ เช่น มาตรา 44 เพื่อไม่ต้องรับผิดชอบการกระทำตามกฎหมาย ทำให้เกิดการลอยตัวเหนือกฎหมาย ทำให้ประชาชนผิดหวังกับกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม

4. การรัฐประหารทำลายเศรษฐกิจในระยะยาว เกิดแต่ความมั่งคั่งของกลุ่มทุนผูกขาด แต่การลงทุนต่างประเทศลดลง ถูกบอยคอตจากสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา ซึ่งตั้งแต่การรัฐประหาร 2557 นั้น ทุนสีเทาได้เข้ามาใช้นายพลจำนวนมากเป็นเกราะกำบัง ดำเนินธุรกิจการก่อสร้างและทำลายโครงสร้างธุรกิจการก่อสร้างเดิมของไทย 

5. การรัฐประหารลดทอนพลังของประชาชน สังคมหมดหวังและบ่อนทำลายในระยะยาว เพราะคิดว่าตนเองไม่มีช่องทาง อนาคต และปิดกั้นการเติบโตของประชาชน แต่ต่อมายังดีที่มีการตอบโต้การรัฐประหารด้วย จากบทเรียนเหตุการณ์พฤษภา 35 จนถึงปัจจุบันและขบวนการประชาชนจะเติบโตขึ้น

6. การรัฐประหารคือเสื้อคลุมปิดบังการคอร์รัปชั่น ปิดบังการเน่าเปื่อยของการทุจริต โดยข้ออ้างเข้ามาแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น แต่ประจักษ์ว่าการรัฐประหารไม่ได้ลดการทุจริตแต่เปิดพื้นที่ให้เกิดการคอร์รัปชั่นที่ซับซ้อนมากขึ้น 

“ที่ผ่านมา การแต่งตั้งบุคคลสำคัญไม่ผ่านประชาชน จึงเกิดการคอร์รัปชันอย่างกว้างขวางและสร้างเครือข่ายอุปถัมภ์ การใช้งบประมาณซื้ออาวุธ และอนุมัติโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่โดยไม่ผ่านการตรวจสอบ ข้าราชการก็ภักดีต่อผู้รัฐประหาร ทำให้เกิดการคอร์รัปชันเชิงระบบขึ้นมา ดังนั้น รัฐประหารคือเครื่องมือที่เปลี่ยนปัญหาคอร์รัปชันให้ซับซ้อนขึ้นภายใต้เปลือกด้านความมั่นคง  11 ปี เหตุการณ์รัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 นั้น ต้องมีการสถาปนาระเบียบใหม่ของประชาชน ปัจจุบัน การกระทำของรัฐบาล เป็นเส้นทางไปสู่รัฐล้มเหลวได้ เป็นเส้นทางของระบบอภิสิทธิ์ ซึ่งทำให้ความไว้วางใจของประชาชนลดลง” ดร.พิชาย กล่าว 

ด้าน ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า ตัวอย่างการสร้างตึก สตง. ในยุครัฐบาลทหาร เป็นตัวอย่างที่องค์กรตรวจสอบงบประมาณกลับพบว่ามีการทุจริตคอร์รัปชันการก่อสร้างอาคารสำนักงานของตนเองภายหลังตึกถล่ม โดยการตั้งงบประมาณเองในโครงการของตนเอง แต่ไม่มีใครสามารถตรวจสอบได้

“สถิติการรับรู้การทุจริตของประชาชนในช่วงรัฐบาล คสช. แทบไม่มีการรับรู้ แต่กลับมาเปิดเผยมากมายจากสภาที่มาจากการเลือกตั้งภายหลังจากการมีกลไกการตรวจสอบ ซึ่งผลพวงของ คสช. ได้ทำลายหลักนิติรัฐ นิติธรรม กลายเป็นระบบพรรคพวกขึ้นมา รวมถึงที่มาขององค์กรอิสระทั้งหลาย ซึ่งต้องปฏิรูปองค์กรและที่มาจาก คสช. องค์กรอิสระจะเป็นคนของใครไม่ได้ จากการสรรหาแบบเดิมจากรัฐบาลทหาร รวมถึงการได้มาซึ่ง สว. ตั้งแต่ยุคก่อน มาถึงยุคนี้จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบว่าด้วยวิธีการเลือกกันเองของการได้มาซึ่ง สว. ซึ่งทำให้เกิดการฮั้ว สว.

ผศ.ดร.ปริญญา  กล่าวว่า  บทเรียนการยึดอำนาจ กระบวนการกลับสู่ประชาธิปไตยด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์พฤษภา 2535 จนมีรัฐธรรมนูญ 2540 เกิดขึ้น เป็นตัวอย่างที่ต้องทำและแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นเพื่อสืบทอดอำนาจ ปัญหาคือ คนที่เขียนรัฐธรรมนูญให้ รสช. เมื่อปี 2534 ได้กลับมาเขียนรัฐธรรมนูญให้ คสช. และใช้ประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปได้ยากขึ้นในปัจจุบัน

“การกลับมาของการรัฐประหารในปี 2549 และ 2557 นั้น ทำให้สถานการณ์แย่ลงและแก้ไขปัญหาบ้านเมืองไม่ได้ ฝ่ายการเมืองจะต้องช่วยกันรักษาประชาธิปไตยไม่ให้ล้มเหลวอีก และความรุนแรงไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้และประชาชนไย ช่วยกันฟื้นฟูการปกครองโดยกฎหมาย “ ผศ.ดร.ปริญญา  กล่าว

ผศ.ดร.วันวิชิต บุญโปร่ง กล่าวว่า หลังเหตุการณ์พฤษภา 35 ตนเชื่อมั่นว่าจะไม่เกิดการรัฐประหารขึ้นอีก แต่หลังการเกิดรัฐประหาร 49 และ 57 นั้น สะท้อนว่าประชาชนไม่ได้มีส่วนในสมการอำนาจเลย และร่องรอยการทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ดมากมายในปัจจุบันนี้  การจะหยุดยั้งการรัฐประหารนั้น ผบ.ทบ. จะต้องไม่ออกมาให้สัมภาษณ์ในประเด็นการเมือง เหมือนเช่นในอดีต เพราะเป็นการสะสมต้นทุนกับสังคมว่าทหารก็อยากมีส่วนทางเมือง เพราะกองทัพเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลในการพัฒนาประเทศ ตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ การทำรัฐประหารแบบดั้งเดิมจึงไม่สามารถทำได้แล้ว

“ปัจจุบันมีการการตั้งกรรมการตรวจสอบประเด็นการทุจริตมากมายแต่มักเข้ามากลบข่าวเก่าๆ ที่ล้มเหลว แต่สังเกตว่าข้อกล่าวหาเก่าๆ ไม่มีการกลับมารายงานใหม่” ผศ.ดร.วันวิชิต กล่าว 

รศ.ดร. บุญเลิศ วิเศษปรีชา กล่าวว่า จะทำอย่างไรที่จะไม่ให้ประชาชนไม่เรียกหาการรัฐประหารในสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงสำคัญมาก ในสถานการณ์ที่คนอาจเรียกหาอัศวินม้าขาวมาแทนนักการเมืองเลว หลังเหตุการณ์พฤษภา 35 ประชาชนก็เชื่อว่าจะไม่เกิดรัฐประหารขึ้นอีก แต่ก็เกิดขึ้นจนได้ ดังนั้น จึงต้องสรุปบทเรียน เช่น บทเรียนวันที่ 25 เมษายนที่อิตาลี เป็นวันต่อต้านและโค่นล้มเผด็จการฟาสซิสต์มุสโสลินี และคนจดจำบทเรียนนี้ได้ จึงไม่มีการรัฐประหารขึ้นอีก 

“พัฒนาการการรัฐประหาร 22 พฤษภา 2557 น่าสนใจว่ายังมีคนที่สนับสนุนด้วยความเห็นว่าการรัฐประหาร 2549 เสียของ เป็นการรัฐประหารหน่อมแน้ม และได้รับไฟเขียวจากชนชั้นกลาง จนมีการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อสืบทอดอำนาจ แสดงว่า สังคมบางส่วนยังส่งเสริมอยู่ ดังนั้น จึงต้องมีกระแสการต่อต้านการรัฐประหารให้มากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากผลพวงการรัฐประหารหลังสุด ทำให้สังคมแย่ลง และยังมีองค์กรอิสระที่กลายเป็นเครื่องมือประหัตประหารคนที่เห็นต่างทางการเมือง จึงไม่ควรมีองค์กรอิสระแบบเดิมอีกแล้ว สมัยก่อนคุณจตุพร พรหมพันธุ์ เคยปราศรัยที่สนามหลวงต่อ พล.อ.สุจินดา ว่าเป็นลูกเสือยังเป็นไม่ได้เพราะอ้างว่าเสียสัตย์เพื่อชาติ แต่วันนี้บรรทัดฐานไทยกลับตกต่ำลงอย่างมาก ดูจากคำตอบและการสัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน “

รศ.ดร. บุญเลิศ  กล่าวว่า  กระแสการย้ายประเทศเกิดขึ้นในประเทศไทย และฟิลิปปินส์ เพราะคนรุ่นใหม่คิดว่าความหวังของประเทศน้อยลง คุณภาพนักการเมืองจะต้องมี คุณภาพสื่อจะต้องมี โดยเฉพาะรายการของคนเห็นต่างมาถกเถียงกัน การปล่อยให้คนไปดูสื่อช่องใครช่องมันอันตรายมากกว่า นักวิชาการหลายคนถูกระบบมหาวิทยาลัยดูด ถูกพัวพันไปทางบริหารจนไม่มีเวลาสนใจสังคมการเมือง บ่อนทำลายพื้นฐานประชาธิปไตย เป็นจุดเริ่มต้นให้มีการเรียกหาอำนาจนอกระบบ จึงต้องมีการสรุปบทเรียนปัจจุบันยังไม่เป็นรัฐล้มเหลว แต่เป็นรัฐไร้น้ำยา

หลังจากนั้นมีการแถลงข่าวการจัดงานรำลึก 33 ปีพฤษภา 35 นำโดย ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล นายเมธา มาสขาว และนายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ 

กำหนดการรำลึก 33 ปี เหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม วันเสาร์ที่ 17 พฤษภาคม 2568 ณ สวนสันติพร อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม ถ.ราชดำเนิน กรุงเทพฯ

ภาคเช้า ณ สวนสันติพร อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม ถ.ราชดำเนิน กรุงเทพฯ

09.09 น.พิธีวางมาลา และรัฐพิธี สดุดีวีรชนพฤษภาประชาธรรม 

ประธานมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม (ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล) กล่าวรายงาน

ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร  วางมาลา และกล่าวต้อนรับ

นายกรัฐมนตรี วางมาลา และกล่าวสดุดีวีรชน

ประธานรัฐสภา วางมาลา และกล่าวสดุดีวีรชน

ผู้นำฝ่ายค้าน วางมาลา และกล่าวสดุดีวีรชน

ผู้แทนองค์กรภาคประชาชน  วางมาลา และกล่าวสดุดีวีรชน

พรรคการเมือง ญาติวีรชนและองค์กรประชาธิปไตย ร่วมวางมาลา และถ่ายรูปร่วมกัน

ดนตรีบรรเลงเพลงพฤษภาประชาธรรม จากสำนักวัฒนธรรมฯ กรุงเทพมหานคร

10.29 น.ประธานจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย

พิธีกรรมทางศาสนา พระสงฆ์สวดอุทิศส่วนกุศล และถวายไทยทานวีรชนเดือนพฤษภาคม 2535

กล่าวเทศนาธรรม
  
11.29 น.ร่วมรับประทานอาหารร่วมกัน  

ภาคบ่าย กิจกรรมพิเศษ Democracy Talk 33 ปีพฤษภา บัตร 535 บาท/คน พร้อมรับเหรียญที่ระลึกพฤษภา 35

13.00-16.30 น. ณ ห้องราชา โรงแรมรัตนโกสินทร์  Talk with May35  "93 ปีประชาธิปไตย 33 ปีพฤษภา 35 : ประชาธิปไตยต้องไปต่อ" จัดโดย มูลนิธิพฤษภาประชาธรรม พบกับ  

สรกล อดุลยานนท์ (หนุ่มเมืองจันท์)

สมภพ รัตนวลี (ติ่งข่าว)

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล 

จอมขวัญ หลาวเพช็ร์

แขกรับเชิญพิเศษ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวลักษณ์

บัตร 535 บาท (เดือน 5 ปี 35) รับ ‘เหรียญประชาธิปไตย’ 

บัตร VIP 1,735 บาท (วันที่ 17 ปี 35) รับ ’นาฬิกาเวลาประชาธิปไตย’ กับ ‘เหรียญประชาธิปไตย’

สอบถามรายละเอียด 0816522649, 0651211688, 0925465949
 

TAGS: #พฤษภา35 #พฤษภาทมิฬ #รัฐประหาร