ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ตึกสตง.ถล่ม ปรับยอดผู้ประสบเหตุ เพิ่มเป็น 109 ราย มีผู้สูญหายต้องติดตาม 14 ราย ยันหาให้ครบภายในสิ้นเดือนนี้
รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยพ.ต.อ.หญิงวันเพ็ญ ด้วงปั้น ผกก. กลุ่มงานพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล กองพิสูจน์หลักฐานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงข่าวแก้ไขตัวเลขผู้ประสบเหตุ จากเหตุอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างในเขตจตุจักร ถล่มจากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา
ตามที่ได้มีญาติผู้ประสบเหตุแจ้งความตามหาเป็นบุคคลสูญหาย ไว้ที่สน.บางซื่อ ผู้ประสบเหตุทั้งหมด 103 ราย ล่าสุด มีญาติของผู้สูญหายมาแจ้งเพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่ง ทำให้ตัวเลขของผู้ประสบเหตุและตัวเลขของผู้สูญหายที่อยู่ระหว่างการติดตามเพิ่มขึ้น ซึ่งพนักงานสอบสวน สน.บางซื่อ และ กองพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ได้สอบสวนยืนยันแล้ว จำนวน 6 ราย
กองอำนวยการร่วมจึงขอทำการปรับเปลี่ยนพร้อมประกาศผ่านสื่อมวลชน เพื่อให้เข้าใจตรงกัน ว่า ณ วันที่ 4 พ.ค. 2568 เวลา 12.00 น. จำนวนผู้ประสบเหตุ 109 ราย ผู้เสียชีวิต 86 ราย ผู้บาดเจ็บ คงที่ 9 ราย อยู่ระหว่างการติดตามอีก 14 ราย
ส่วนการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลขณะนี้ มีการเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอจากญาติสายตรงไว้จำนวน 100 ราย เพื่อเตรียมนำมาเปรียบเทียบกับศพของผู้เสียชีวิตและผู้สูญหายที่อยู่ระหว่างการติดตาม
โดยสถาบันนิติเวชสามารถตรวจพิสูจน์ยืนยัน เป็นผู้เสียชีวิตแล้ว 86 ราย ในจำนวนนี้เป็นร่างผู้เสียชีวิตสมบูรณ์ 78 ราย และเป็นชิ้นส่วนที่มีการตรวจพิสูจน์แล้วตรงกัน 8 ราย และในจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด สามารถพิสูจน์ยืนยันตัวบุคคลว่าเป็นใคร จำนวน 63 ราย แยกเป็นสัญชาติไทย 46 ราย เมียนมา 15 ราย กัมพูชา 1 ราย ลาว 1 ราย
รองผู้ว่าฯกทม. ยืนยันว่า เมื่อมีการปรับยอดทีมค้นหาก็จะดำเนินการเปิดพื้นที่ซากอาคาร สตง.ให้หมด เพื่อค้นหาร่างและชิ้นส่วนอวัยวะที่ยังติดค้างไม่ให้มีตกหล่น เนื่องจากยังมีชิ้นส่วนอวัยวะที่รอตรวจพิสูจน์อีก 280 ชิ้น คาดว่าทุกอย่างจะเสร็จสิ้นภายในเดือนนี้
ก่อนหน้านี้ นายสุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) เผยความคืบหน้าประจำวันภารกิจค้นหาผู้ติดค้างในอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ว่า วันนี้ (4 พ.ค.) ในโซน D สามารถเปิดพื้นที่ได้ทั้งหมด จึงเหลือแค่ โซน C2 และ C3 ที่เชื่อมกับอาคารจอดรถ ซึ่งคาดว่าคนที่ลงจากบันไดหนีไฟต้องวิ่งผ่านเพื่อไปลานจอดรถ และเนื่องจากตัวอาคารอาจยุบลงไปจนถึงชั้นใต้ดิน เราจึงเร่งเปิดพื้นที่บริเวณนั้นที่เหลืออีกประมาณ 2 เมตร โดยวันนี้จะเน้นเนื้องานในบริเวณดังกล่าวเพื่อเปิดพื้นที่ให้ลึกถึงบริเวณพื้นชั้นใต้ดินให้ได้ ซึ่งหากผู้ที่จะหนีไปบริเวณลานจอดรถก็คาดว่าจะติดค้างอยู่ในบริเวณนี้ และในส่วนช่องว่างของโถงบันไดลิฟต์ด้านหน้าและลิฟต์ด้านหลัง ก็จะเป็นอีกบริเวณที่จะเน้นทำงานเปิดพื้นที่ให้ถึงบริเวณพื้นชั้นใต้ดินให้ได้ ซึ่งจะทำงานควบคู่ไปกับทางเชื่อมไปลานจอดรถ
ในส่วนของโซน A4 ซึ่งทำงานมาตลอดทั้งคืน เนื่องจากโซนนี้ทีม USAR มีฐานข้อมูลว่าเป็นช่องทางตั้งแต่วันทำงาน 1-2 วันแรก ๆ ที่ว่าหากมุดไปบริเวณโพรงนี้จะเป็นทางเข้าตั้งแต่โซน D4 และเป็นโพรงระนาบกับแนวผนังอาคาร ความกว้างประมาณ 10x15 เมตร และยังสามารถมุดขึ้นจากชั้นใต้ดินสู่ด้านบนได้ด้วย จึงเป็นอีกจุดที่คาดว่าจะพบผู้สูญหาย เนื่องจากพบสัญญาณคราบน้ำเหลืองและแมลงวัน ซึ่งตรงกับข้อมูลที่ว่าผู้สูญหายเดินอยู่บริเวณพื้นชั้นใต้ดิน โซนนี้ ดังนั้นจึงเป็นอีกบริเวณที่วันนี้จะเน้นการทำงานเพื่อให้เข้าถึงผู้สูญหาย คาดว่าวันนี้หากไม่มีอุปสรรคจะสามารถเข้าถึงพื้นชั้นใต้ดินของโซน C ได้ทั้งหมด
สำหรับปัญหาใหญ่คือการตัดผ่าเศษเหล็กและเสาโครงสร้างที่ยังมีความสมบูรณ์ ซึ่งต้องใช้เวลาในการตัดด้วยระบบแก๊สและการเจาะดึงด้วยแรงรถเครื่องจักรขนาดใหญ่ ซึ่งหากสามารถเปิดพื้นที่โซน C2 และ C3 ได้ภายในวันนี้ก็จะถือว่าเปิดพื้นที่ชั้นใต้ดินได้แล้วกว่าครึ่งหนึ่งของอาคารที่พังถล่ม
ทั้งนี้เนื่องจากเราได้ปฏิบัติงานร่วมกับหลายองค์กรเป็นระยะเวลานาน ทีมผู้ร่วมงานบางส่วนจึงอาจจะมีภารกิจอื่นที่ต้องกลับไปทำงาน จึงเริ่มถอนกำลังและเครื่องจักรออกจากพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเอกชนที่ปฏิบัติงานมาตั้งแต่อาคารถล่มจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคมตามแผนที่กำหนดไว้ อาทิ รถเครื่องจักรใหญ่หมายเลข 10 จากบริษัทแสนสิริ ที่เป็นกำลังหลักมาตั้งแต่ต้นก็ได้ถอนกำลังไปแล้ววานนี้ ซึ่งทาง กทม. ก็ต้องขอขอบคุณในความร่วมมือกันมาตั้งแต่ต้นมา ณ โอกาสนี้ด้วย ซึ่งการถอนกำลังรถเครื่องจักรบางส่วนของภาคเอกชนไปนั้น ก็ยังไม่มีผลกระทบกับหน้างาน เนื่องจากขณะนี้เรายังมีรถเครื่องจักรขนาดใหญ่อีก 6 คัน ที่ปฏิบัติงานได้ตามแผนที่กำหนด และหากเสียหายก็ยังมีรถทดแทนอยู่อย่างต่อเนื่อง