รัฐมนตรีพาณิชย์เผยตัวเลขส่งออกมีนาคมพุ่ง 17.8% ทะลุสถิติสูงสุดในประวัติศาสตร์ เดินหน้าผลักดัน FTA ขยายโอกาสการค้า พร้อมเร่งกวาดล้างธุรกิจผิดกฎหมาย สร้างความเป็นธรรมให้ผู้ประกอบการไทย
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ บรรยายพิเศษในหัวข้อ “ยุทธศาสตร์การค้าต่างประเทศในอนาคต” ต่อผู้บริหารระดับสูงจากทั้งภาครัฐและเอกชนในหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านการค้าและการพาณิชย์ (Top Executive Program in Commerce and Trade: TEPCoT) รุ่นที่ 17 ณ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยเน้นย้ำบทบาทของ “การส่งออก” ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การใช้ประโยชน์จาก FTA และการเร่งจัดระเบียบธุรกิจที่ผิดกฎหมายอย่างเป็นรูปธรรม
นายพิชัยเปิดเผยว่า การส่งออกถือเป็นพระเอกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยในปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 13 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 70.1% ของ GDP แบ่งเป็น การส่งออกสินค้า 56.4% และการส่งออกบริการ 13.7% โดยเฉพาะในช่วง 6 เดือนแรกของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร มูลค่าการส่งออกสินค้าเติบโตถึง 12.9% โดยในเดือนมีนาคม 2568 การส่งออกของไทยขยายตัวสูงถึง 17.8% คิดเป็นมูลค่า 29,548.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ของไทย ถือเป็นสัญญาณบวกที่สะท้อนถึงศักยภาพของสินค้าไทยและความเชื่อมั่นจากตลาดโลก
ในด้านยุทธศาสตร์การค้าระหว่างประเทศ นายพิชัยระบุว่า กระทรวงพาณิชย์กำลังเดินหน้าขยายขอบเขตความตกลงทางการค้าเสรี (FTA) อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันไทยมี FTA ที่ลงนามแล้ว 17 ฉบับกับ 24 ประเทศ และอยู่ระหว่างเจรจาเพิ่มเติมกับสหภาพยุโรป (EU) เกาหลีใต้ และแคนาดา เพื่อเปิดตลาดใหม่ให้แก่ผู้ประกอบการไทย ครอบคลุมทั้งสินค้าเกษตร อุตสาหกรรม และเทคโนโลยี ซึ่ง FTA คือกุญแจสำคัญที่ช่วยให้การค้าของไทยเติบโตแบบก้าวกระโดด สร้างโมเมนตันที่ดีแก่เศรษฐกิจไทย และยังสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการภายในประเทศ โดยเราต้องเจรจาอย่างมียุทธศาสตร์ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยเข้าไปแข่งขันได้ในตลาดสำคัญทั่วโลก ขณะที่ยุทธศาสตร์การค้ากับประเทศภายในภูมิภาคอาเซียน ไทยมุ่งผลักดันการยกระดับไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลผ่านกรอบความร่วมมือ DEFA ของอาเซียน
รัฐมนตรีพาณิชย์ยังกล่าวถึงการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงจากความขัดแย้งทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ทำให้บริษัทข้ามชาติหลายแห่งเริ่มโยกย้ายฐานการผลิตมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประเทศไทยมีความได้เปรียบทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน แรงงาน ความพร้อมของระบบโลจิสติกส์ และความมีเสถียรภาพด้านพลังงานไฟฟ้า ส่งผลให้บริษัทต่างชาติต่างสนใจเข้ามาลงทุนในไทย และส่งเสริมให้กลายเป็น “ฐานการผลิตสินค้าเทคโนโลยี” ที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะแผงวงจรพิมพ์ (PCB) และ เซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductors) ที่กำลังเป็นสินค้าดาวรุ่งในการส่งออก
นอกจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม เทคโนโลยี และดิจิทัลแล้ว ไทยยังเดินหน้ายกระดับสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้า GI และสินค้าพรีเมียม โดยมี Soft Power และแคมเปญ “Think Thailand Next Level” ช่วยสร้างภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์สินค้าไทยสู่ตลาดโลก รวมไปถึงการผลักดัน Thailand brand เพื่อการันตีคุณภาพสินค้าไทย
สำหรับสินค้าเกษตร รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะสินค้าเศรษฐกิจหลัก ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ ผ่าน “7 มาตรการ 25 แผนงาน” ที่ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
และนายพิชัยได้กล่าวถึงบทบาทของกระทรวงพาณิชย์ในการกำกับดูแลการค้าภายในประเทศเพื่อสร้าง “ความเป็นธรรม” ให้กับผู้ประกอบการไทย โดยเน้นย้ำแนวคิดการทำงานแบบ 80:20 คือ 80% เป็นผู้สนับสนุนภาคเอกชน หรือเป็น Supporter ส่วนอีก 20% เป็นผู้กำกับดูแลให้เกิดการแข่งขันที่ยุติธรรม
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งแต่งตั้งนายพิชัย เป็นประธานคณะกรรมการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย เพื่อเร่งจัดระเบียบธุรกิจผิดกฎหมาย เช่น การสวมสิทธิ์สินค้า และการดำเนินกิจการในรูปแบบ “นอมินี” ซึ่งกระทบต่อผู้ประกอบการไทยและความเชื่อมั่นในการค้าระหว่างประเทศ ขณะนี้การทำงานรุดหน้าไปมาก สามารถกวาดล้างธุรกิจนอมินีได้แล้ว 852 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 15,188 ล้านบาท และกำลังอยู่ระหว่างตรวจสอบอีก 4 หมื่นกว่าราย