แก้รธน.สะดุดมติรัฐสภาเสียงข้างมากส่งศาลตีความปมทำประชามติก่อนหรือไม่

แก้รธน.สะดุดมติรัฐสภาเสียงข้างมากส่งศาลตีความปมทำประชามติก่อนหรือไม่
มติรัฐสภา 304ต่อ 150 เสียง​ ส่งศาลตีความแก้รัฐธรรมนูญ ก่อนจบ "สุทิน" สอนมวย แก้รธน.ต้องฉลาด-มีกลยุทธ์ เตือนเป็นไก่หลงตีตัวแพ้หมด ด้าน "วิโรจน์" ซัดกลับไร้ปัญญาแก้รธน.

ที่ประชุมรัฐสภาลงมติเห็นชอบ 304 เสียง ไม่เห็นด้วย 150 เสียง งดออกเสียง 124 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) ในประเด็นต้องทำประชามติก่อนหรือไม่ 

ทั้งนี้ระหว่างการประชุมสมาชิกรัฐสภาได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง โดยช่วงท้าย ก่อนการลงมติตัดสิน นายสุทิน คลังแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายปิดญัตติตอนหนึ่งว่าการยื่นญัตติดังกล่าวคาดว่าจะใช้เวลา 1 เดือนเพื่อรอความชัดเจน ซึ่งไม่ถึงขั้นเตะถ่วง แต่สะดุดเพื่อให้ได้สิ่งที่ดี ส่วนที่กล่าวหาว่ากลัวศาล ไม่กล้าหาญ สยบยอมกับอำนาจที่ไม่ใช่อำนาจของประชาชน ทั้งนี้พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่มีนานใช้ความกล้าหาญและเด็ดเดี่ยว มาทีหลังก็โดนเหมือนกัน คำพระบอกว่า ความกล้าหาญควรเสมอด้วยปัญญา ปัญญาควรเสมอด้วยสติ

"หากไม่มีปัญญาและสติรบร้อยครั้งก็แพ้ ผมเคยทำงานกับทหาร เขาคัดคนไปรบ ไม่เอากล้าหาญแต่โง่เพราะรบแพ้หมด เขาต้องเอาคนที่ฉลาดๆ นอกจากนั้นต้องมีสติ ต้องเย็นพอ ต้องรู้ว่าเวลาที่ควรใช้ประมาณไหน และอดทนให้ได้ แยกแยะมิตร ศัตรูให้ออก คำว่าสติขอฝาก การแก้รัฐธรรมนูญสู้กับใคร คิดให้ดี ว่าควรตำหนิพวกเรา ศาล หรือฝ่ายไหนลองคิดให้ดี หากเลือกมิตร เลือกศัตรู คนร่วมทางถูก ติพองามไม่ทำร้ายกัน ท่านจะมีมิตรร่วมเดินทาง ไม่เช่นนั้นเป็นมวยหลงมุม ไก่หลงตีตัวเองแพ้หมด" นายสุทิน อภิปราย

นายสุทิน อภิปรายอีกว่า ปัญหาของการแก้รัฐธรรมนูญ คือ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ หากเดินหน้าแก้ไขมาตรา 256 ใช้สติปัญญาคิดว่าจะมีคนยื่นตีความหรือไม่ หากมีคนยื่นตีความจะมีปัญหา หากมีปัญญาพอ แก้ปัญหาให้จบ เดินวันนี้ไม่สะดุดอีก ดังนั้นเพื่อป้องกันคนจะเล่นงานหลายๆ ด่าน คือการใช้สติ และปัญญา ส่วนความกล้าหาญต้องต่อสู้ ทั้งนี้ประชาธิปไตยไม่ใช่รถด่วน การต่อสู้ให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยที่ต่อสู้และแพ้ บอกให้รู้ว่ากล้าหาญอย่างเดียวไม่ได้ต้องมีกลยุทธ์ ลมเปลี่ยนทิศต้องเปลี่ยนหัวเรือ เพื่อหลบลม ไม่ให้เรืออับปาง และไปสู่เป้าหมาย ไม่ใช่สู้ลม แบบนี้ไม่ใช้สู้เพื่อประชาธิปไตย

ด้าน นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน อภิปรายตอบโต้ว่า หากศาลรัฐธรรมนูญตีความออกมาจะเดินหน้าต่อไปหรือไม่ สส.พรรคร่วมรัฐบาลจะเห็นด้วย ตนขอให้คำมั่นที่สะท้อนปัญญาให้สมาชิกรัฐสภา  ทั้งนี้ตนดีใจที่ นายสุทิน ระบุว่าจะตัดหางสุนัขไม่ยัดปากใครบางคน แต่หากหากเขาเอาหางสุนัขมารัดคอ ซึ่งตนช่วยเอาออก แล้วเดินหน้าไปด้วยกันได้ ตนยืนยันในความกล้าหาญมีสติปัญญา แต่ท่านจะไม่มีปัญญาแก้รัฐธรรมนูญ

ขณะที่ นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้เป็นผู้อภิปรายสรุปในส่วนของพรรคประชาชน โดยระบุว่ าวันนี้ ต้องถามสมาชิกถึงเหตุและผลที่ต้องมาเถียงกันในวันนี้ ถามจริงว่าที่เราเห็นต่างในวันนี้เป็นเหตุผลทางการเมืองหรือเหตุผลทางข้อกฎหมายกันแน่ เพราะถ้าเป็นเหตุทางการเมืองแต่ใช้ข้ออ้างทางข้อกฎหมายมาบังหน้า 

อย่างไรเราก็จะไม่ได้คำตอบ วันนี้สมาชิกฝ่ายรัฐบาลจะสื่อสารกันอย่างตรงไปตรงมาได้หรือไม่ ว่าที่ยังเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไม่ได้เพราะเพื่อนสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลบางส่วนไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ปัญหาเรื่องข้อกฎหมาย แต่เป็นปัญหาเรื่องการเมืองที่สมาชิกบางส่วนไม่มีแรงจูงใจทางการเมืองให้แก้ แก้แล้วจะเสียอำนาจลงไปหรือไม่ นี่ต่างหากที่เป็นเหตุขัดข้องให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเดินหน้าต่อไม่ได้

นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ถ้าวันนี้รัฐสภามุ่งมั่นตั้งใจในการแก้ไขรัฐธรมนูญให้ประชาชน ลงมติไม่ส่งไปศาลรัฐธรรมนูญ เดินหน้ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ในวันนี้ให้ทันก่อนปิดสมัยประชุม ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญทันที ต่อให้ในอนาคตศาลรัฐธรรมนูญมีการวินิจฉัยออกมาว่าต้องทำประชามติ 3 ครั้ง ก็แค่รีเซ็ตกระบวนการทำประชามติใหม่ ไม่มีอะไรช้าไปกว่าเดิม ไม่มีอะไรเสีย เว้นแต่ต้นทุนที่ท่านจะยอมแลกไม่ใช่ต้นทุนของประเทศ แต่เป็นต้นทุนของตัวเอง สมาชิกหลายส่วนกลัวว่าถ้ากระบวนการล้มไปจะมีใครไปฟ้องร้องว่าสมาชิกรัฐสภาใช้อำนาจโดยมิชอบ นี่คือการตัดสินใจที่ไม่ได้เอาต้นทุนของประเทศเป็นตัวตั้ง แต่เอาต้นทุนของตัวเองเป็นตัวตั้ง 

วันนี้เป็นสัปดาห์ท้ายของสมัยประชุมนี้ ที่ผ่านมาเมื่อปี 2567 ศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาราว 1 เดือนก่อนที่จะวินิจฉัยว่าไม่รับพิจารณา กรณีที่ดีที่สุดศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเร็วหรือไม่รับวินิจฉัย ก็ต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 1 เดือน ซึ่งไม่ทันปิดสมัยประชุมนี้แน่นอน การพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 อย่างน้อยต้องรออีก 4 เดือน เท่ากับเป็นการปิดโอกาสในการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับให้ทันต่อการเลือกตั้งครั้งหน้า นี่คือต้นทุนของประเทศที่จะเสียไป

“ผมจึงขอตั้งคำถามว่าเหตุผลเบื้องหลังคือเหตุผลการเมืองหรือเหตุผลข้อกฎหมายที่ใช้เอามาบังหน้า และต้นทุนที่ท่านใช้พิจารณาในการลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ท่านพิจารณาบนต้นทุนของประชาชน ประเทศ หรือต้นทุนของตัวเองเป็นตัวตั้ง ท่านอาจบอกว่าต้องการคลี่คลายสถานการณ์ปลดล็อกเงื่อนไขบางอย่าง แต่ท่านคิดจริงหรือว่าถ้าท่านปลดล็อกเงื่อนไขนี้แล้วเขาจะไม่มีเงื่อนไขต่อไปมาอ้างขัดขวางกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีก” นายณัฐพงษ์ กล่าว

TAGS: #รัฐสภา #เพื่อไทย #ศาลรธน. #แก้รธน.