โฆษกกลาโหมเผย "ภูมิธรรม" แจ้งยอดเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์เข้าไทย เพิ่มอีก 208 คน รวม 261 คน เดินทางเข้าบ้านช่องแคบพบพระ จ.ตาก "บัวแก้ว" ประสานสถานทูตเตรียมแผนส่งตัวประเทศต้นทาง
พล.ต. ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ระบุว่า ประเทศไทยเตรียมรับตัวเหยื่อค้ามนุษย์ และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในชเวก๊กโกและ เคเคปาร์ค จำนวน 53 คน และล่าสุด ได้รับการประสานจากเมียนมา จะนำตัวมาเพิ่มอีก 208 คน รวมเป็น 261 คน โดยกลุ่มเหยื่อดังกล่าวจะถูกส่งตัวผ่านทาง ด่านบ้านช่องแคบ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก ในช่วงเวลาประมาณ 15.00 น. สำหรับกลุ่มบุคคลที่ได้รับการช่วยเหลือและแยกสัญชาติได้แล้ว 53 คน เป็นพลเมืองจาก 8 ประเทศ ได้แก่
- ฟิลิปปินส์ 12 คน
- เคนยา 4 คน
- แทนซาเนีย 1 คน
- บราซิล 2 คน
- เอธิโอเปีย 21 คน
- ปากีสถาน 5 คน
- บังกลาเทศ 2 คน
- เนปาล 6 คน
และอีก 208 คน ต้องมาทำการแยกสัญชาตือีกครั้ง เมื่อถึงประเทศไทย
#เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
*
โดยหลังจากประเทศไทยรับตัวเหยื่อค้ามนุษย์กลุ่มนี้แล้ว จะนำตัวไปที่จุดคัดกรอง ณ จุดกองร้อย ตชด.346 เพื่อคัดกรองอย่างเข้มงวด โดยใช้กระบวนการ National Referral Mechanism (NRM) ซึ่งเป็นมาตรการที่ใช้ดูแลและช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์
จากนั้น กระทรวงการต่างประเทศ จะประสานงานกับสถานทูตของแต่ละประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกด้านเอกสาร และจัดเตรียมแผนการส่งตัวกลับประเทศต้นทางให้เร็วที่สุด
ทั้งนี้ นายภูมิธรรม ยืนยันว่า ประเทศไทยไม่มีนโยบายจัดตั้งศูนย์พักพิง หรือศูนย์อพยพ สำหรับบุคคลเหล่านี้ เนื่องจากอาจก่อให้เกิดปัญหาด้านความมั่นคง และเพิ่มความเสี่ยงต่อการกลับเข้าสู่วงจรค้ามนุษย์อีกครั้ง ซึ่งรัฐบาลไทยมีมาตรการเข้มงวดในการปราบปรามและป้องกันขบวนการค้ามนุษย์ โดยจะตรวจสอบข้อมูลของเหยื่อแต่ละรายอย่างละเอียด ก่อนส่งตัวกลับเพื่อให้มั่นใจว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเครือข่ายค้ามนุษย์
ปัจจุบัน เมืองเมียวดี เป็นหนึ่งในจุดยุทธศาสตร์ของขบวนการค้ามนุษย์ ที่ล่อลวงแรงงานจากหลายประเทศไปทำงานผิดกฎหมาย เช่น แก๊งคอลเซ็นเตอร์ การพนันออนไลน์ และแรงงานหนักในโรงงานเถื่อน
สำหรับการรับตัวเหยื่อค้ามนุษย์ครั้งนี้ เป็นผลจากความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและเมียนมา ซึ่งมีเป้าหมายในการกวาดล้างขบวนการค้ามนุษย์ และช่วยเหลือผู้เสียหาย ให้ได้รับความคุ้มครองและกลับประเทศต้นทางอย่างปลอดภัย อีกทั้งรัฐบาลไทยยังคงเดินหน้าทำงานร่วมกับนานาชาติและประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง และป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ซ้ำอีกในอนาคต