"ณพ" โพสต์เฟซบุ๊ก เผยสาเหตุร้อง 2 ผู้บริหารระดับสูงของศาล เพราะไม่ได้รับความเป็นธรรม ทำให้ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
นาย ณพ ณรงค์เดช นักธุรกิจชื่อดัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า หลังจากผมใช้พื้นที่ facebook ส่วนตัวโพสต์ “ยอมรับ” ว่าเคยได้ร้องเรียน ผู้พิพากษาระดับสูงสองรายจริง ตั้งแต่ปี 2565 โดยสืบเนื่องจากที่มีประกาศ กต. กรณีสั่งสอบวินัยร้ายแรงผู้บริหารศาลระดับสูง 2 ราย ว่ามีมูลความผิดจริง... แล้วมีคนสอบถามเข้ามามากเกี่ยวกับเรื่องการร้องเรียนของผม ผมจึงขออนุญาตใช้พื้นที่ตรงนี้เล่าข้อเท็จจริงเพิ่มดังนี้
“มูลเหตุมาจากคดีที่ผมร้องขอถอดถอนพี่ชายออกจากการเป็นผู้จัดการมรดก เนื่องจากไม่จัดทำรายการบัญชีทรัพย์มรดก ไม่ทำการแบ่งทรัพย์มรดกตลอดเวลาการเป็นผู้จัดการมรดกมาถึง 6 ปี และยังทำการจัดการทรัพย์มรดกเพื่อประโยชน์ของตัวเอง แต่ท่านรองอธิบดีผู้พิพากษาฯท่านนี้ ก็ได้สั่งยกคำร้องของผมและให้พี่ชายผมยังคงเป็นผู้จัดการมรดกต่อไป ทั้งๆ ที่เขากระทำผิดหน้าที่ตามกฏหมายในเรื่องสำคัญ อย่างไรก็ตาม ผมได้นำเอาหลักฐานเกี่ยวกับการยักยอกเดียวกันนี้ ไปฟ้องคดีอีกศาลหนึ่งเป็นคดีอาญา ว่าข้อเท็จจริงที่ผมกล่าวอ้างนั้น ถือว่าพี่ชายผม “ยักยอก” ซึ่งต่อมาศาลในคดีอาญาได้พิพากษาลงโทษจำคุกพี่ชายผมถึง 12 เดือนโดยไม่รอลงอาญาปัจจุบันคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการอุทธรณ์คำพิพากษา นอกจากนี้ผมยังได้ยื่นฟ้องคดียักยอกทรัพย์ของพี่ชายผมอีกหลายคดีจากข้อเท็จจริงที่ต่อเนื่องกันซึ่งผมคาดว่าน่าจะมีคำพิพากษาออกมาในเร็วๆนี้
นอกจากนี้ ยังมีคดีที่พี่ชายและน้องชายผมมาฟ้องคดีที่ศาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ โดยกล่าวอ้างว่าเขาทั้งสองเป็นเจ้าของหุ้นวินด์จำนวนถึง 49% และได้ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวเพื่อให้ศาลสั่งห้ามไม่ให้บริษัทวินด์ฯจ่ายเงินปันผลให้แก่ฝ่ายผมจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา โดยท่านรองอธิบดีผู้พิพากษาฯท่านที่ผมได้ร้องเรียนนี้ ได้เห็นชอบกับคำสั่งอายัดเงินปันผลนี้ภายในวันเดียวกันกับที่พี่ชายกับน้องชายผมได้ยื่นฟ้องและยื่นคำร้องฯ ทั้งๆ ที่เขาไม่มีพยานหลักฐานใดๆ ที่จะนำมายืนยันได้ว่าเขาหรือครอบครัวมีส่วนได้ร่วมลงทุนจริง มากกว่านั้น ท่านรองอธิบดีฯ ยังได้เห็นชอบกับการสั่งอายัดการจ่ายเงินปันผลในหุ้นนี้ทั้ง 100% ทั้งๆที่ข้อพิพาทที่พี่และน้องชายผมเรียกร้องเกี่ยวกับหุ้นเพียง 49% เท่านั้น โดยเป็นที่ทราบกันดีว่าการที่ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาเป็นเรื่องที่ส่งผลให้เกิดความเสียหายแก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเสมือนแพ้คดีชั่วคราวซึ่งศาลจะสั่งได้ก็ต่อเมื่อเชื่อว่าคดีมีมูล และการที่ศาลมีคำสั่งให้คุ้มครองเกินกว่าจำนวนหุ้นที่โจทก์ขอจึงเป็นคำสั่งที่ขัดแย้งกับหลักทางกฎหมายที่ว่า “ศาลย่อมสั่งได้ไม่เกินความจำเป็นและจะต้องไม่เกินกว่าสิทธิที่โจทก์อ้างว่าตนเองมีสิทธิ์อยู่ตามกฏหมาย” การออกคำสั่งนี้ผมจึงเห็นว่าเป็นการจงใจใช้อำนาจออกคำสั่งโดยผิดกฎหมายอย่างชัดแจ้ง ซึ่งทำให้ฝ่ายผมได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
หลังจากมีการร้องเรียนผู้พิพากษาทั้งสองรายนี้จนไม่ได้เข้ามามีบทบาทเกี่ยวข้องกับคดี ซึ่งต่อมาผมได้รับคำพิพากษาให้ชนะคดี แต่อย่างไรก็ตามฝ่ายผมยังคงไม่ได้รับเงินปันผลเพราะคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวนี้ ทำให้ฝ่ายผมยังคงต้องได้รับความเสียหายอย่างมหาศาลต่อไป
โดยเรื่องที่ผมร้องเรียนทั้งสองคดีนี้เป็นคดีในศาลเดียวกันแห่งหนึ่งของกรุงเทพ และมีผู้พิพากษาเพียงสองรายที่ผมร้องเรียน คืออธิบดีผู้พิพากษาของศาลซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพแห่งนี้ในขณะนั้น และรองอธิบดีผู้พิพากษาของศาลเดียวกันในช่วงเวลาเดียวกัน ผมได้นำหลักฐานเสนอต่อคณะกรรมการตุลาการว่า ในระหว่างที่มีคดีความระหว่างกันนั้น อธิบดีผู้พิพากษาได้เดินทางเข้า-ออกบ้านที่พี่ชายกับน้องชายของผมพักอาศัยอยู่หลายครั้ง และอธิบดีผู้พิพากษาได้จัดให้รองอธิบดีผู้พิพากษาเข้ามาเป็นผู้ดูแลคดีทั้งสองเรื่องโดยการมอบหมายให้เป็นเจ้าของสำนวนแทนผู้พิพากษาคนเดิม หรือเข้าเป็นองค์คณะร่วมด้วย หรือเป็นผู้ออกคำสั่งแทนอธิบดีพิพากษาในกรณีที่ต้องให้ความเห็น
ด้วยเหตุทั้งหมดดังกล่าวมานี้ ผมจึงมีความจำเป็นต้องนำความขึ้นร้องขอความเป็นธรรมต่อคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมอันเป็นที่พึ่งของสุจริตชน”