"อังคณา" ติงนโยบายประหารคดียาเสพติด ไลฟ์สดลดทอนศักดิ์ศรีมนุษย์ มองแนวคิดสุดโต่ง เสี่ยงซ้ำรอยฆ่าตัดตอน ซัด รพ.ตำรวจ หยุดอ้างสิทธิส่วนตัว เปิดข้อมูล "ทักษิณ" ชี้ สังคมสงสัย เข้าเรือนจำแต่ไม่นอนคุก
นางอังคณา นีละไพจิตร สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะประธานคณะกมธ.การพัฒนาการเมือง ฯ เผยกรณี นายอะมัด อายุเคน สว. ได้เสนอนโยบายต่อรัฐบาลในการปราบปรามยาเสพติด ด้วยการประหารชีวิตและถ่ายทอดสดด้วย ว่า เป็นการอภิปรายแสดงความคิดเห็นโดยอิสระ แต่จะต้องมีการทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตที่มีการฆ่าตัดตอนคนจำนวนมาก แต่สุดท้ายยาเสพติดไม่ได้หมดไปซึ่งวันนี้กลับมาเป็นปัญหาอีก
“ที่สำคัญการไลฟ์สดถือเป็นการลดทอนคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเป็นการผลิตซ้ำความรุนแรงที่ไม่ได้ทำให้เกิดความหลาบจำ หรือการปราบปรามพฤติกรรมผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด แต่เป็นการทำให้ผู้ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย เช่น เด็กและเยาวชน จึงเห็นว่าวิธีการเช่นนี้เป็นวิธีการที่สามารถทำได้ โดยในวิธีดังกล่าวนั้นขัดต่อพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทรมานอุ้มหาย ในเรื่องการกระทำใดที่เป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทั้งนี้ ท่าน สว. จะต้องไปศึกษากฎหมายเพิ่มเติม” นางอังคณา กล่าว
เมื่อถามต่อว่ามองว่าอาจจะมีการนำไปใส่ร้ายในคดียาเสพติดเพิ่มมากขึ้นหรือไม่หากความคิดเห็นดังกล่าวผ่าน นางอังคณา กล่าวว่า อย่างกรณีกลุ่มชาติพันธ์ทางภาคเหนือ ที่หลายคนเป็นบุคคลไร้สัญชาติ เมื่อเวลาขายปศุสัตว์ได้ไม่ได้มีบัญชีธนาคาร จึงต้องเก็บเงินไว้ที่บ้าน แต่มีบางครั้งเพื่อนบ้านหรือบุคคลใด ไปให้ข้อมูลกับทางการว่าจะเกี่ยวข้องกับยาเสพติด จึงมีการตรวจค้นยึด
”เรื่องยาเสพติดเป็นเรื่องที่สามารถอาจมาจากการใส่ร้ายป้ายสีก็ได้ วันนี้มีกฎหมายที่ให้ผู้เสพเป็นผู้ป่วย อย่างไรก็ดียังมีปัญหาปัญหาอุปสรรคอีกเยอะมาก ผู้ต้องขังยาเสพติดในเรือนจำลดลง แต่เหล่านี้ไม่ได้หายไปไหน อยู่ข้างนอกในชุมชน ครอบครัวและบ้านไม่ได้มีศักยภาพที่จะดูแลได้ และโรงพยาบาลมีไม่เพียงพอรวมถึงแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แบบนี้เป็นต้น ถ้าจะแก้ปัญหายาเสพติดอย่างเป็นระบบต้องปราบปรามผู้กระทำความผิดรายใหญ่และต้องดำเนินการอย่างจริงจัง“ นางอังคณา กล่าว
นางอังคณา กล่าวว่า อ้างถึง สำนักงานป้องกะนและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ได้แจงว่าสมัยก่อนเป็น “ยาม้า” คนขับรถขนส่งกินเป็นประจำ แต่เมื่อเปลี่ยนชื่อเป็น “ยาบ้า”เหมือนเป็นการเพิ่มมูลค่า เนื่องจากราคาแพงขึ้นและมีผู้ค้าทำให้ มีบุคคลติดยาเสพติดมากขึ้น เมื่อ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประกาศนโยบายการปราบปรามยาเสพติดอย่างเด็ดขาด แต่ทัศนะความเห็นส่วนตัวเห็นว่าต้องมีหลักประกันอย่างเด็ดขาด คือการให้ยาหมดไป ไม่ใช่ใช้วิธีการความรุนแรง ในขณะที่รัฐบาลใช้กฎหมายปราบปรามรัฐบาลจะต้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนด้วย
เมื่อถามอีกว่าการอภิปรายแสดงความคิดเห็นดังกล่าวจะสะท้อนเป็นความเห็นของสมาชิกวุฒิสภาภาพรวมหรือไม่ นางอังคณา กล่าวว่า เป็นความเห็นของบุคคลคนเดียว แต่ภาพที่ออกมาที่ปรากฏ สว. หลายหลายคนไปยืนด้านหลัง สังคมอาจจะมองว่าเป็นการสนับสนุน แต่ส่วนตัวมองว่าเคารพเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของทุกคน แต่เรียนว่าการเสนอความเห็นเช่นนี้ในพื้นที่สาธารณะอาจจะสุ่มเสี่ยงการทำให้เกิดคำ วิพากษ์วิจารณ์ หรือเป็นแนวทางทำให้มีการใช้วิธีการฆ่าตัดตอนเกิดขึ้นอีกหรือไม่ เพราะการประหารชีวิตไม่ได้ทำได้โดยง่าย ต้องเป็นไปด้วยคำพิพากษาของศาลมีพยานหลักฐาน และการกระทำต้องโทษรุนแรง
“การพูดเช่นนี้อาจเป็นการส่งสัญญาณว่าเรารับได้โดยเฉพาะที่พูดถึงนั้นขาดกับมาตราหกของพ.ร.บ.การทรมานอุ้มหาย เรื่องการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หากมีการให้ไลฟ์สด แต่คิดว่าอาจจะเป็นการพูดแบบปากพาไปก็ไม่ทราบ” นางอังคณา กล่าว
ส่วนกรณีที่ นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ที่ได้มีการยื่นหนังสือเพื่อขอหลักฐานจาก รพ.ตำรวจ ชั้น 14 มองเรื่องนี้อย่างไรบ้างในการดำเนินในเรื่องนี้ นางอังคณา กล่าวว่า เรื่องของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่ควรจะเป็นเรื่องส่วนตัว ซึ่งในความเห็นของตนตนมองว่า นายทักษิณเป็นผู้ใหญ่ และการเจ็บป่วยของบุคคลสาธารณะ ไม่ควรต้องมีการปิดบัง ถ้าไม่ได้เป็นโรคติดต่อที่สังคมจะมีการวิพากษ์วิจารณ์
นางอังคณา กล่าวอีก ซึ่งสิ่งที่อยากพูดถึงมาโดยตลอดคือ ที่ผ่านมาทั้ง รมว.ยุติธรรม และ ผู้อำนวยการ รพ.ตำรวจ ที่มีการออกมาพูดว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคล ขณะที่สิทธิส่วนบุคคลต้องมีการชั่งน้ำหนักกับประโยชน์สาธารณะ ซึ่งบุคคลสาธารณะอาจจะต้องยอมละสิทธิส่วนบุคคลบางประการ เพื่อที่จะให้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ในตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นโรคร้ายแรงอะไรก็ไม่มีอะไรที่ควรปิดบัง ด้านนายทักษิณเองในฐานะที่เป็นอดีตนายก ฯ ก็เป็นบุคคลสาธารณะคนหนึ่ง ควรจะมีในเรื่องของการเสียสละและเรื่องของสิทธิส่วนบุคคลบางประการเพื่อให้มีความโปร่งใสและไม่มีข้อกังขาต่อสังคม
เมื่อถามต่อว่าหลังจากนี้ทางคณะกรรมาธิการจะมีความเคลื่อนไหวในเรื่องของนายทักษิณหรือไม่ เพราะนายทักษิณก็เป็นคนที่เกี่ยวข้องกับการเมืองของประเทศเช่นกัน นางอังคณา กล่าวว่า ทางกรรมาธิการของ ส.ส. มีการตรวจสอบเรื่องนี้อยู่ และโดยส่วนตัวมองว่าหากให้มีการตรวจสอบจะเป็นเรื่องที่เสียเวลามาก แต่ตนอยากจะเรียนให้นายทักษิณทราบว่า ในเมื่อกระแสสังคมมีการพูดถึงเรื่องนี้มาโดยตลอด นายทักษิณในฐานะที่เป็นอดีตผู้นำและเป็นบุคคลสาธารณะ หากมีการออกมาเปิดเผยข้อมูลก็จะเป็นประโยชน์ต่อสังคม และเป็นเรื่องที่สง่างามต่อตนเอง
“สิ่งที่ประชาชนสงสัยก็คือนายทักษิณ เข้าเรือนจำ แต่ไม่ได้นอนในเรือนจำแม้แต่คืนเดียว ซึ่งหากเป็นบุคคลทั่วไปต้องมีการตรวจสอบหลายอย่าง แต่นายทักษิณคงจะมีการตรวจสอบไม่เหมือนคนอื่น ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ สิ่งที่สำคัญเมื่อพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลก็ไม่มีใครทราบ แต่พอครบกำหนดการพักโทษ ก็มีการออกจากโรงพยาบาลและทำตัวเหมือนคนธรรมดาซึ่งดูไม่เหมือนคนที่เคยเจ็บป่วยร้ายแรง” นางอังคณา กล่าว
นางอังคณา กล่าวย้ำว่า ทั้งนี้ในเรื่องของประโยชน์สาธารณะเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากกรมการแพทย์หรือรพ.ตำรวจก็ควรที่จะมีการเปิดเผยข้อมูลของนายทักษิณโดยหยุดอ้างสิทธิความเป็นส่วนตัวเพราะสิทธิความเป็นส่วนตัวเมื่อเทียบกับการปกป้องประโยชน์สาธารณะ ประโยชน์สาธารณะต้องมาก่อน เพราะประโยชน์สาธารณะ เกี่ยวข้องกับการไม่เลือกปฏิบัติ