สภาองค์กรของผู้บริโภค ตั้งคำถาม 5 ข้อ ปม OPPO – Realme ติดตั้งแอปฯ กู้เงิน ชี้ แถลงการณ์ยังขาดความชัดเจนหลายด้าน มองรัฐบกพร่องปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล จี้รัฐ-เอกชนแสดงความรับผิดชอบ
สภาองค์กรของผู้บริโภค โพสต์ข้อความในโซเชียล ภายหลังจากที่เพจเฟซบุ๊ก OPPO ประเทศไทย และเพจเฟซบุ๊ก realme ประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ขออภัยผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนทั้ง 2 ยี่ห้อ และพร้อมเร่งดำเนินการให้ "ผู้ใช้งาน" ถอดแอปฯออกจากมือถือได้ ภายหลังมีการร้องเรียนกรณีปรากฏแอปพลิเคชันกู้เงิน "สินเชื่อความสุข" หรือ "Fineasy" ถูกติดตั้งมาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ System App บนสมาร์ทโฟนยี่ห้อ OPPO และ realme ระบุว่า แม้ OPPO และ Realme ออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการมาแล้ว แต่ #ผู้บริโภค เห็นว่ายังไม่มีความชัดเจนทั้งในส่วนของบริษัท และ #หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ในประเด็นต่อไปนี้
1)ไม่อธิบายถึงสาเหตุว่า “ทำไมถึงแอบติดตั้งแต่แอปพลิเคชันกู้เงินผิดกฎหมายในมือถือของผู้บริโภคโดยที่เจ้าของเครื่องไม่ยินยอม ?”
2)ผู้บริโภคไม่เห็นแนวทาง ‘การชดเชยเยียวยา’ จากทั้ง 2 บริษัท มีเพียงการแจ้งว่าจะถอนการติดตั้งแอปฯ ชื่อ Fineasy ออก (ยังมีแอปฯ ที่ชื่อ สินเชื่อความสุข ที่ยังไม่ได้ถูกกล่าวถึง) และหากผู้บริโภครายใดไม่สามารถดำเนินการได้ ให้ไปที่ศูนย์บริการ เราต้องการเห็นการชดเชยเยียวยาในรูปแบบที่เป็นธรรม รวมถึงการกำหนดมาตรการเพื่อรับประกันว่าข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งานจะปลอดภัย
3)หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่มีการแถลงข่าวความคืบหน้าในการกำหนดบทลงโทษบริษัทตามกฎหมาย
ผู้บริโภคต้องการเห็น การดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยหน่วยงานรัฐต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และลงโทษบริษัทที่กระทำผิด
4)หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ต้องถูกตรวจสอบร่วมด้วย เพราะมีส่วนในการละเลยการปกป้องสิทธิผู้บริโภค
5)บังคับใช้ ปรับปรุง แก้ไข หรือออกมาตรการใหม่ที่คุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง เช่น มาตรการควบคุมการอัปเดตระบบปฏิบัติการของสมาร์ทโฟน โดยกำหนดให้ผู้ผลิตต้องแจ้งรายละเอียดและขอความยินยอมจากผู้ใช้ก่อนทุกครั้ง การกวาดล้างแอปฯ กู้เงินผิดกฎหมาย ไม่ปล่อยให้อยู่ใน Play store, App store หรือการพัฒนาเครื่องมือที่ช่วยลบแอปพลิเคชันที่ไม่พึงประสงค์ เพื่อป้องกันปัญหาการละเมิดสิทธิในอนาคต เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม สภาผู้บริโภคเห็นว่า ความล้มเหลวในการปกป้องสิทธิผู้บริโภคจากเหตุการณ์ข้างต้นสะท้อนถึงปัญหาการเพิกเฉยและการบกพร่องในหน้าที่ของหน่วยงานรัฐที่ควรเป็นปราการด่านแรกในการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล แต่กลับปล่อยให้ความปลอดภัยของผู้บริโภคถูกคุกคามอย่างร้ายแรงจนเกิดความเสียหาย คำถามถึงความโปร่งใสและประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงยิ่งดังขึ้น เมื่อรัฐยังคงนิ่งเฉย ท่ามกลางความกังวลและความไม่พอใจของผู้บริโภค ทำให้เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นสัญญาณเตือนที่ชัดเจนว่าระบบการคุ้มครองสิทธิในยุคดิจิทัลกำลังล้มเหลว ซึ่งผู้บริโภคต้องการเห็นความรับผิดชอบที่ชัดเจนจากทั้งภาคเอกชนและหน่วยงานรัฐ พร้อมมาตรการที่เป็นรูปธรรมในการป้องกันปัญหา เพื่อยืนยันว่าความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลจะได้รับการปกป้องอย่างจริงจังและจะไม่มีเหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต
แม้ OPPO และ Realme ออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการมาแล้ว แต่ #ผู้บริโภค เห็นว่ายังไม่มีความชัดเจนทั้งในส่วนของบริษัท และ #หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ในประเด็นต่อไปนี้
— สภาองค์กรของผู้บริโภค (@tccthailand) January 12, 2025
.
1) ไม่อธิบายถึงสาเหตุว่า… pic.twitter.com/VcmEp0qo4D