นายกฯ ยันไทยยึดหลัก 3Cs เสริมสร้างประชาคมลุ่มน้ำโขง แชร์ผลสำเร็จ 30 บาทรักษาทุกที่

นายกฯ ยันไทยยึดหลัก 3Cs เสริมสร้างประชาคมลุ่มน้ำโขง แชร์ผลสำเร็จ 30 บาทรักษาทุกที่
นายกฯ ยืนยันไทยยึดหลัก 3Cs “สร้างความเชื่อมโยง เสริมขีดความสามารถ สร้างประชาคมที่ดีขึ้น” เพื่อประชาคมลุ่มน้ำโขงเข้มแข็งและรุ่งเรือง พร้อมแชร์ผลสำเร็จนโยบายที่ทำให้คนไทยสุขภาพดี 30 บาทรักษาทุกที่

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมเต็มคณะ (Plenary Session) ของการประชุมระดับสุดยอดผู้นำ ครั้งที่ 8 แผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) โดยมีนายกรัฐมนตรีจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม รวมถึงประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) โดยประเทศไทย มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย

โดย นายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณประเทศจีนในการเป็นเจ้าภาพการประชุมในครั้งนี้ และประเทศไทยยินดีที่ได้เข้าร่วมการประชุมที่สำคัญนี้ ร่วมกับผู้นำประเทศสมาชิก GMS และพันธมิตรเพื่อการพัฒนาในภูมิภาค ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ทั้ง 6 ประเทศ ซึ่งได้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นที่จะสานต่อความร่วมมือและแสดงถึงความพร้อมในการเผชิญกับความท้าทายต่างๆ ในโลกร่วมกัน
 
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าเราจะมุ่งสู่การเป็นประชาคมที่ดีกว่าเดิมด้วยการพัฒนาที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมที่เหมาะสมกับยุคสมัย และส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนา โดยใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อการเติบโตและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน และนำไปสู่การยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของคนทั่วทั้งอนุภูมิภาค ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของประเทศไทยในการเป็นผู้ส่งเสริมสันติภาพและความมั่งคั่งร่วมกัน ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวยืนยันความมุ่งมั่นของไทยที่จะร่วมเสริมสร้างการพัฒนาร่วมกันของประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงให้เป็นประชาคมที่เข้มแข็งและเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น ตามแผนงาน GMS คือ 3Cs ดังนี้
 
(1) ประเทศไทย ได้เร่งสร้างความเชื่อมโยง (Connectivity) ให้เป็นรากฐานของการบูรณาการระดับภูมิภาค ซึ่งไทยมีความก้าวหน้าในการสร้างความเชื่อมโยงอย่างครอบคลุมทั้งภายในและระหว่างภูมิภาค อาทิ การเปิดให้บริการรถไฟระหว่างประเทศ เส้นทางกรุงเทพฯ - เวียงจันทน์ สปป.ลาว การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ที่ศรีราชา จังหวัดชลบุรี รวมทั้งแผนการก่อสร้างสนามบินล้านนา ที่ภาคเหนือ และสนามบินอันดามันในภาคใต้ ที่จังหวัดพังงาใกล้กับ จังหวัดภูเก็ต
 
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยินดีที่ประเทศสมาชิกได้กลับมาดำเนินการตามความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงระยะแรก (GMS Cross-Border Transport Agreement: CBTA) หลังจากหยุดชะงักไปชั่วคราวจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งในระยะต่อไปจะต้องอาศัยความพยายามร่วมกันผ่านการพัฒนากฎระเบียบและความร่วมมือต่าง ๆ ในกลุ่มประเทศสมาชิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกระดับความเชื่อมโยงบริเวณชายแดน เพื่อให้การค้าและการคมนาคมขนส่ง ข้ามพรมแดนเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็ว ราบรื่นและไร้รอยต่อมากยิ่งขึ้น
 
(2)  จะส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) โดยมุ่งเน้นการพัฒนาที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม สอดคล้องกับแนวทางของไทยที่ขับเคลื่อนไปสู่ยุคดิจิทัล ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม อย่างยั่งยืน โดยปัจจุบันประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมไร้เงินสด โดยมีการใช้เงินในระบบดิจิทัล ระบบพร้อมเพย์ สำหรับการรับและโอนเงิน และการชำระผ่าน QR Code ข้ามพรมแดนอย่างแพร่หลายแล้ว โดยเชื่อว่าเทคโนโลยีทางการเงินนี้ควบคู่ไปกับการพัฒนาอุตสาหกรรมให้ทันสมัย จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่อำนวยต่อการสร้างนวัตกรรมใหม่ขึ้น
 
(3) เสริมสร้างประชาคม (Community) ถือเป็นหัวใจสำคัญของ GMS ด้วยการสร้างความร่วมมืออย่างบูรณาการกับทุกภาคส่วน และขยายโครงข่ายการคุ้มครองทางสังคมให้ครอบคลุมประชาชนทุกคน ซึ่งประเทศไทยสนับสนุนยุทธศาสตร์ความเท่าเทียมทางเพศของกลุ่มประเทศ GMS ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาแบบครอบคลุมของไทย และให้ความสำคัญต่อเยาวชนผ่านการส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและเท่าเทียม รวมทั้งการรักษาเสถียรภาพทางสังคม เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในอนุภูมิภาคนี้
 
นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า ประเทศไทยยังเสริมสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ นโยบายสาธารณสุขของไทย ที่ทำให้คนไทยมีสุขภาพดีขึ้น แต่รัฐบาลไทยก็ไม่หยุดนิ่งที่จะยกระดับและพัฒนานโยบายสาธารณสุขจาก “30 บาท รักษาทุกโรค” มาเป็น “30 บาท รักษาทุกที่” พร้อมขยายบริการสุขภาพมาตรฐานโดยใช้ระบบการแพทย์ทางไกล รวมถึงปรับปรุงการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพให้เป็นดิจิทัล ซึ่งไทยพร้อมแบ่งปันประสบการณ์และแนวทางปฏิบัติที่ดีกับประเทศสมาชิก GMS
 
ทั้งนี้ ประเทศไทยยืนยันความมุ่งมั่นต่อการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ ค.ศ. 2030 ซึ่งได้ถูกบูรณาการในแผนการพัฒนาระดับต่าง ๆ ของประเทศไทยด้วยแล้ว เพื่อให้มั่นใจว่าความเจริญรุ่งเรืองของประชาคม GMS จะเกิดขึ้นอย่างยั่งยืน
 
ตอนท้าย นายกรัฐมนตรีขอบคุณธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ เอดีบี สำหรับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง และขอบคุณคณะทำงานเฉพาะกิจต่าง ๆ พันธมิตรเพื่อการพัฒนา สภาธุรกิจ GMS รัฐบาลท้องถิ่น และประเทศสมาชิก GMS ที่ช่วยกันทุ่มเทในการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ของ GMS โดยเชื่อมั่นว่าการประชุมในวันนี้จะส่งเสริมให้ความพยายามร่วมกันเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาและการบูรณาการระดับภูมิภาค พร้อมทั้งจะร่วมขับเคลื่อน GMS สู่การเป็นอนุภูมิภาคที่มีการบูรณาการมากขึ้น มีความเจริญรุ่งเรือง ยั่งยืน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
 
อนึ่ง ที่ประชุมได้ร่วมรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุม 2 ฉบับ ได้แก่ (1) ร่างแถลงการณ์ร่วมระดับผู้นำ 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 8 (Joint Summit Declaration) และ (2) ร่างยุทธศาสตร์นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง พ.ศ. 2573 แผนงาน GMS (Greater Mekong Subregion Innovation Strategy for Development 2030) 

TAGS: #แพทองธาร #อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง #30บาทรักษาทุกที่