เปิดประวัติพระพรหมดิลก และพระธรรมวชิรปัญญาภรณ์

เปิดประวัติพระพรหมดิลก และพระธรรมวชิรปัญญาภรณ์
โดย...สมาน สุดโต 

ที่ประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 21/  2567 มีมติรับทราบ ตามที่ราชเลขานุการในพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีหนังสือแจ้งว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดให้แต่งตั้งพระพรหมดิลก(เอื้อน หาสธมฺโม) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสามพระยา และ ทรงให้แต่งตั้งพระธรรมวชิรปัญญาภรณ์ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเฉลิมพระเกียรติจังหวัดนนทบุรี
 
ตามประวัตินั้น พระพรหมดิลก มีชื่อเดิมว่า พระมหาเอื้อน นามสกุลกลิ่นสาลี เกิดวันที่ 13 กรกฎาคม 2488 ที่บ้านเลขที่ 116 หมู่ 6 ตำบลนครหลวง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 

อุปสมบทเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2510 ณ วัดมหาพล ตำบลนครหลวง อำเภอนครหลวงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

เมื่อมาอยู่วัดสามพระยา เรียนจบสูงสุดทางบาลีคือ ปธ.9 ใน พศ. 2522 จากนั้นไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยพาราณสี สอบได้ปริญญาโท และปริญญาเอก สาขาบาลี และการศึกษาทางพระพุทธศาสนาในปี 2526 และพ.ศ. 2529 

ส่วนหน้าที่การงานนั้น ตั้งแต่พ.ศ 2516 จนกระทั่ง 2561 ได้รับผิดชอบ ด้านการ ศึกษา ภาษาบาลี เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ประโยค 7-8 ในสำนักเรียนวัดสามพระยา

เป็นผู้บริหาร เช่น เป็นรองเจ้าคณะภาค 1 เป็นเจ้าคณะภาค 14 และเจ้าคณะกทม ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดสามพระยา เมื่อพ.ศ 2539 และเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม.

ในฐานะเจ้าสำนักเรียนวัดสามพระยา นับแต่ พ.ศ.2542 - 2561 ท่าน สนับสนุนและส่งเสริมให้พระภิกษุสามเณรเรียนบาลี สามารถสอบได้ชั้นสูงสุด หรือ ป.ธ.9 มากถึง 44 รูป ซึ่งเป็นยุครุ่งเรือง อีกครั้งหนึ่ง ของสำนักเรียน วัดสามพระยา และสำนักนักเรียนส่วนกลางของคณะสงฆ์ ฝ่ายมหานิกาย

มารผจญ

ในวันที่29 พฤษภาคม ปีพุทธศักราช 2561 ท่านถูกมารผจญ โดยถูกดำเนินคดี จากข้อกล่าวหา เช่น เรื่องเงินทอนวัด และการฟอกเงิและอีกหลายๆ ข้อหา ถูกบังคับให้ถอดสบงจีวร หรือให้ลาสิกขา แต่ท่านไม่ได้กล่าวคำลาสิกขาตามพระวินัย จึงมีความเป็นภิกษุอยู่ ถึงกระนั้นก็ถูกจองจำอยู่ในเรือนจำหลายปี  ต่อมาศาลพิพากษาคดีถึงที่สุด ท่านไม่มีความผิด 
 
วันที่ 18 มีนาคม 2567 ราชกิจจานุเบกษา ประกาศ สถาปนาสมณศักดิ์ให้พระมหาเอื้อน เป็นพระพรหมดิลก ชั้นรองสมเด็จ

วันที่ 20 สิงหาคม 2567 ได้รับโปรดเกล้า ให้มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสามพระยาวรวิหาร ตามเดิม จึงนับว่าเป็นพระสังฆาธิการสมบูรณ์แบบตามกฎหมาย

ก้าวต่อไปคาดว่าจะได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) 

ประวัติ พระธรรมวชิรปัญญาภรณ์ (โดยย่อ)

พระธรรมวชิรปัญญาภรณ์ (ละเอียด กิตติสุขุโม ปธ. 9 )ลาออกจากตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดสามพระยา เพื่อเปิดทางให้ พระพรหมดิลก( เอื้อน ปธ 9) กลับมาดำรงตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดสามพระยา เหมือนเดิม 

ส่วนพระธรรมวชิรปัญญาภรณ์ นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดให้ ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดเฉลิมพระเกียรติ พระอารามหลวง จังหวัดนนทบุรี ทั้งนี้มหาเถรสมาคม ได้รับทราบ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมา 2567 

พระธรรมวชิรปัญญาภรณ์ หรือพระมหาละเอียด กิตติสุขุโม นามสกุลภู่นคร เกิดเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ 2486  ที่ตำบลราษฎร์พัฒนา อำเภอสามโก้ จังหวัดอ่างทอง
 
บรรพชาเป็นสามเณร  ณวัดเกษทอง ตำบลราษฎร์พัฒนา อำเภอสามโก้จังหวัดอ่างทอง อุปสมบทเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2507 ณวัดเกษทอง อำเภอสามโก้ จังหวัดอ่างทอง
 
วุฒิการศึกษา ปี 2503 สอบนักธรรมชั้นเอกได้

ปี 2524  สอบป.ธ 9 ได้ ขณะที่พำนัก ณ วัดโบสถ์วรดิษฐ์ จังหวัดอ่างทอง 
 
จากนั้นย้ายมาอยู่วัดสามพระยา ช่วยงานการศึกษาในวัด และเป็นเจ้าอาวาส วัดสามพระยา เมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ 2562 แทนพระพรหมดิลกที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาต่างๆ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2561

ในวงการพระสงฆ์ และพุทธศาสนิกชนทั่วไป ต่างทราบกันว่า เจ้าคุณละเอียด มีชื่อเสียงในการเทศน์ทำนองเสนาะ หรือเทศน์แหล่นั่นเอง

ส่วน วัดเฉลิมพระเกียรติ เป็นวัด ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 โปรดให้สร้างในพื้นที่ซึ่งเคยเป็นนิวาสถานเดิม ของพระอัยกา(ตา)พระอัยกี (ยาย)และพระราชมารดาของพระองค์คือเจ้าจอมมารดาเรียม ซึ่งภายหลังได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระศรีสุลาลัย และเมิีอสร้างวัดนี้โปรดพระราชทานนามว่าวัดเฉลิมพระเกียรติเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ แก่บุคคลทั้ง 3 ที่กล่าวมาแล้ว

ปัจจุบัน (ก่อนวันที่ 20 สิงหาคม 2567) ว่างเจ้าอาวาส เนื่องจาก พระพรหมวัชระจริยาจารย์ (สาย ฐานะมังคโล) เจ้าอาวาสมรณภาพ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2566 สิริอายุ 89 ปี

ผมเคย เข้าไปชมวัดนี้หลายปีมาแล้วยอมรับ ว่าเป็นวัดที่สวยงาม ร่มรื่น ริมฝั่งเจ้าพระยา เป็นพระอารามที่มีพระภิกษุจำพรรษาจำนวนมาก เป็นสถานที่ให้พุทธศาสนิกชนบำเพ็ญกุศล ในวันสำคัญต่างๆ และ นอกเหนือจากนั้น ด้วยความงามเป็นที่ประจักษ์ จึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของจังหวัดนี้

TAGS: #พระพรหมดิลก #พระธรรมวชิรปัญญาภรณ์ #มหาเถรสมาคม