"พิพัฒน์"รมว.แรงงาน กล่าวถ้อยแถลง ประชุมใหญ่ ILC สมัยที่ 112 ยันไทยพร้อมทำงานร่วมประชาคมโลก หุ้นส่วนทางสังคม มุ่งสู่ความยุติธรรม
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถ้อยแถลง ในการประชุมใหญ่ประจำปีองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Conference: ILC) สมัยที่ 112 ว่า ผมขอใช้โอกาสนี้ในการแสดงความยินดีกับท่านผู้อำนวยการใหญ่ ในการจัดตั้งเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศว่าด้วยความยุติธรรมทางสังคม ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะอยู่ระหว่างการพิจารณาเข้าร่วมเครือข่ายความร่วมมือฯ ผมเชื่อมั่นว่าความร่วมมือของพวกเราผ่านหุ้นส่วนพหุภาคี จะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความยุติธรรมทางสังคมตามธรรมนูญของ ILO ผมเห็นด้วยกับท่านว่า สิทธิมนุษยชนสากล โอกาสที่เท่าเทียม การกระจายผลประโยชน์อย่างยุติธรรม และการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม จะเป็นปัจจัยสำคัญสู่ความสำเร็จ
การมีสัญญาประชาคมใหม่เป็นสิ่งสำคัญในการที่จะบรรเทาผลกระทบจากความท้าทายอันใหญ่หลวงในโลกแห่งการทำงาน ซึ่งมาจากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เทคโนโลยีดิจิทัล และการเปลี่ยนผ่านทางสิ่งแวดล้อม รัฐบาลไทยเชื่อมั่นในหลักการของการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ให้ความสำคัญกับการมีสัญญาประชาคมใหม่ เพื่อรับประกันว่าทุกคนจะต้องมีส่วนร่วมในสิทธิ หน้าที่ และความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน ในการที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว
เราจำเป็นต้องมีธรรมาภิบาลที่ดี เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม สร้างสังคมสำหรับทุกคน ยึดมั่นในหลักกฎหมายและสิทธิมนุษยชน
ผมขอยกตัวอย่างการริเริ่มและการดำเนินการในประเทศไทย เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย และส่งเสริมตลาดแรงงาน
อย่างแรก รัฐบาลอยู่ระหว่างการพัฒนาธนาคารข้อมูลเกี่ยวกับทุนมนุษย์ ซึ่งรวมรวมข้อมูลทุกอย่างของคนทำงาน ตั้งแต่การศึกษา การฝึกอบรมทักษะอาชีพ ประกันสังคม และเงินบำเหน็จชราภาพ ข้อมูล Big data ทำให้รัฐบาลสามารถรู้เกี่ยวกับความจำเป็นในการพัฒนาทักษะ และเตรียมความพร้อมให้กับกำลังแรงงานในอนาคตได้อย่างยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น รัฐบาลได้มีความพยายามเป็นทวีคูณ ในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและความสามารถในการมีงานทำของคนงาน ผ่านโครงการพัฒนาทักษะแบบ Upskill และ Reskill
อย่างที่สอง ภายหลังการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในช่วงการระบาดของโควิด – 19 ในปีนี้รัฐบาลได้ตัดสินใจปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของแรงงานให้สอดคล้องกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ โดยการตัดสินใจมีพื้นฐานจากการปรึกษาหารือไตรภาคี
สุดท้ายที่สำคัญที่สุด ในวันนี้ ประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมายสำคัญอีกประการหนึ่ง ในการให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ 144 ว่าด้วยการปรึกษาหารือไตรภาคี โดยการให้สัตยาบันดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทย ในการส่งเสริมการเจรจาทางสังคมและการปรึกษาหารือไตรภาคี ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์อันดี และการหารืออย่างสร้างสรรค์ ระหว่างนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล
ขอยืนยันความพร้อมของประเทศไทยที่จะทำงานร่วมกับประชาคมโลก และหุ้นส่วนทางสังคม เพื่อมุ่งไปสู่ความยุติธรรมทางสังคม และงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคนในประเทศไทย
ด้าน นายประพันธ์ ปุษยไพบูลย์ ผู้แทนนายจ้างจากประเทศไทย กล่าวในที่ประชุม ว่า ขอแสดงความยินดีกับความสำเร็จขององค์แรงงานระหว่างประเทศที่ได้เป็นผู้นำมายาวนานและสามารถที่จะดำเนินการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและกำหนดอนุสัญญาต่างๆมาตลอด จนถึงครั้งนี้เป็นครั้งที่ 112 เพื่อเน้นในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของมนุษย์ในฐานะผู้ใช้แรงงาน พร้อมกับการได้เปิดโอกาสให้นายจ้าง เจ้าของธุรกิจ ซึ่งเป็นอีกภาคส่วนหนึ่งที่ต้องประกอบควบคู่กันเพื่อการพัฒนาการผลิต การบริการ และส่งเสริมคุณภาพชีวิต ร่วมกัน
สถานการณ์โลกปัจจุบันนี้ ภาวะต่างๆได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยี ด้านเศรษฐกิจ ด้านการเมือง การเจริญเติบโตของประชาคมโลก ความขัดแย้งต่างๆในสังคมประชาติ อันส่ง ผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อมต่างๆ ทำให้การต่อสู้ในการแข่งขันทางธุรกิจรุนแรงมากขึ้น อันส่งผลให้คุณภาพชีวิตของประชาคมทั่วโลกเริ่มเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตามความเป็นอยู่การดำรงชีวิต การมีคุณภาพชีวิตที่ดี ยังต้องถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
บทบาทที่ผ่านมาของ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization; ILO) ได้เน้นถึงการแก้ไขการยกระดับและปรับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น โดยเฉพาะในภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิกที่มีความหลากหลายและยุ่งยาก เพราะประเทศต่างๆ มีสภาพเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน รวมทั้งในด้านการพัฒนาอุตสาหกรรม โครงสร้าง ชีวิตความเป็นอยู่ รายได้และสวัสดิการสังคม จึงได้เน้นยุทธศาสตร์การปฏิบัติงานที่สำคัญ คือ การเจรจาร่วมกันโดยยึดมั่นในจิตวิญญาณของหลักการไตรภาคี ที่มีผู้เกี่ยวข้องสามฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้าง เราในฐานะนายจ้างจากประเทศไทยก็ได้สนับสนุน ร่วมกับลูกจ้าง และภาครัฐในการแก้ไขปัญหาและปรับตัวให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ภายใต้กรอบอนุสัญญาต่างๆ ซึ่งได้ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งและยังมีการพัฒนาให้ดีขึ้นต่อเนื่องอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เพื่อสร้างความเป็นอยู่และชีวิตที่ดี มีสังคมที่สมดุลย์ระหว่างฝ่ายต่างๆ แต่มีสิ่งหนึ่งที่น่าห่วงใยใน หลักการของไตรภาคี คือจะต้องไม่ให้มีการแทรกแซงหรือชี้นำจากนโยบายการหาเสียงของพรรคการเมือง และกดดันให้การทำงานของรูปแบบไตรภาคีเสียสมดุลย์ไป เพราะความไม่เข้าใจในระบบไตรภาคี
นอกจากที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว ในช่วง4-5ปีที่ผ่านมา เราได้เผชิญและประสบภัยจาก Covic-19 ซึ่งได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงไปทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของมวลมนุษยชาติ (Humanity) นั่นคือ อันตรายที่เกิดจากภัยทางชีวภาพในสภาพแวดล้อมในการทำงาน ( Biological Hazards in the working enviroment ) ซึ่งอันตรายดังกล่าวอาจไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าของมนุษย์ บางครั้งอาจจะไม่ได้เกิดอันตรายขึ้นทันทีทันใด และบางกรณีก็สามารถแพร่ขยายอันตรายนี้ได้อย่างรวดเร็ว
ดังนั้น ในการประชุมครั้งนี้ นอกเหนือจากการแลกเปลี่ยนกม.หรือข้อควรปฏิบัติต่างๆตามอนุสัญญา( Convention ) เพื่อสิทธิและความเท่าเทียมกันของหมู่มวลผู้ใช้แรงงานแล้ว จึงอยากที่จะขอให้มวลสมาชิกไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐ ภาคนายจ้าง และภาคผู้ใช้แรงงาน ในทุกๆภาคส่วนได้ร่วมกันตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อการกระทำที่อาจส่งผลกระทบ ต่อมวลมนุษยชาตินี้ร่วมกันอย่างจริงจัง
ท้ายนี้ ผมอยากจะขอนำพระราชดำริขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่9 ที่ทรงพระราชทานปรัญญา “ เศรษฐกิจพอเพียง ” (sufficiency economy Philosophy ) มานานกว่า 30ปี ซึ่งสรุปสั้นๆว่า คือ การพัฒนาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลางและความไม่ประมาท โดยคำนึงถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจนใช้ความรู้ความรอบคอบ และคุณธรรม ประกอบการวางแผน การตัดสินใจและการกระทำ เพื่อประโยชน์ สูงสุดร่วมกันของประชาคมโลกอย่างยั่งยืนตลอดไป