ผลสำรวจสมรสเท่าเทียม เจนฯใหม่ยกให้ผลงาน ‘ก้าวไกล’ ยังมี 1.9% มองว่าเป็นผลงาน ‘เพื่อไทย’

ผลสำรวจสมรสเท่าเทียม  เจนฯใหม่ยกให้ผลงาน ‘ก้าวไกล’  ยังมี 1.9% มองว่าเป็นผลงาน ‘เพื่อไทย’
The Attraction  เปิดสำรวจ ‘คนไทย’ อยากให้มีสมรสเท่าเทียมไทยที่แรกใน SEA  ‘ซอฟต์ เพาเวอร์’ ไทย เปิดกว้างระดับโลก โดย 45% คิดว่ากฎหมายฯเป็นผลงานของ ‘พรรคก้าวไกล’  สังคมยอมรับ LGBTQIAN+ ปานกลาง

ดิ แอทแทรคชั่น (The Attraction) ผู้ผลิตคอนเทนต์ เพื่อนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ในแง่มุมที่น่าสนใจผ่านการเล่าถึงมุมมองสำคัญทางด้านอาหาร วัฒนธรรม ความบันเทิง เศรษฐกิจ การเมือง และอื่นๆ จัดทำแบบสำรวจออนไลน์ เนื่องในเดือนแห่งความภาคภูมิใจ หรือ Pride Month ภายใต้หัวข้อ "เสียงสะท้อนสมรสเท่าเทียม ประเทศไทยจะเท่าเทียมกี่โมง!"  โดยผลสำรวจจากผู้ติดตามเพจ The Attraction และประชาชนทั่วไปผู้ร่วมตอบแบบสอบถาม

โดยในคำถามที่ว่า คิดว่าปัจจุบันสังคมไทยเปิดกว้างให้การยอมรับกลุ่ม LGBTQIAN+ ในระดับใด พบว่า

  • 48.8% มองว่ายังเปิดกว้างในระดับ "ปานกลาง" 
  • 36.2% มองว่า "เปิดกว้างมาก"
  • 6.8% ที่คิดว่า "เสรีที่สุด"

และเมื่อถามว่าตัวผู้ตอบแบบสอบถามเองให้การยอมรับความหลากหลายทางเพศมากน้อยแค่ไหน มีผู้ตอบว่า "ยอมรับมากที่สุด" มากถึงร้อยละ 60.8%

ในด้านความคิดเห็นต่อ พ.ร.บ. "สมรสเท่าเทียม" มีผู้เห็นด้วยมากกว่า 99.3% โดยเหตุผลหลักที่อยากสนับสนุน พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม

  • อันดับที่ 1 คือ สิทธิประโยชน์ "คู่สมรส"  77.6% 
  • อันดับที่ 2 คือ สิทธิจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส 67.7% 
  • อันดับที่ 3 คือ สิทธิการลงนามยินยอมให้รักษาพยาบาลอีกฝ่าย 60.8% 

และจากผลสำรวจส่วนใหญ่ยกให้กฎหมายสมรสเท่าเทียมเป็นผลงานของ "พรรคก้าวไกล" ถึง 47.4% รองลงมาคือภาคประชน 26.3% และทุกภาคส่วนร่วมมือกัน 23.3%  มีเพียง 1.9% ที่มองว่าเป็นผลงานของพรรคเพื่อไทย

นอกจากนี้ ยังมีการสอบถามถึงการที่ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม จะเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่จะช่วยส่งเสริมประเทศไทยในด้านใด

  • ความคิดเห็นส่วนใหญ่คิดว่าจะช่วย ยกระดับประเทศไทยในสายตาทั่วโลก ด้านความเปิดกว้างเกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางเพศ ถึง 77.5%
  • อันดับที่ 2 คือ ผลักดันให้ไทยเป็นหมุดหมายสำคัญของกลุ่มคนเพศทางเลือกจากทั่วโลก ที่จะเข้ามาเพื่อปักหลักใช้ชีวิต 60.7%
  • อันดับที่ 3 คือ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับกับความหลากหลายทางเพศมีการเติบโต เช่น ภาพยนต์-ซีรี่ส์วาย ธุรกิจด้านการท่องเที่ยว แต่งงาน ประกันชีวิต ฯลฯ 51.7%

และเมื่อสอบถามว่า "ถ้าคุณบอกรัฐบาลเรื่องสมรสเท่าเทียมได้ คุณอยากบอกอะไร" โดยเป็นคำถามปลายเปิดให้ผู้ตอบแบบสอบถามได้แสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ พบว่าข้อความส่วนใหญ่อยากให้รัฐบาลช่วยผลักดันกฎหมายนี้ให้สำเร็จ เช่น

  • ให้กฎหมายข้อนี้ผ่านเถอะมันจะทำให้ประเทศดีขึ้น
  • ให้ผ่านเถอะค่ะ ตอนนี้ประเทศไทยมี LGBTQIAN+ เป็น soft power ได้นะคะ
  • ถ้ารัฐบาลเห็นชอบในเรื่องสมรสเท่าเทียมและอนุมัติอย่างเป็นทางการโดยไม่ต้องรอจะขอบพระคุณอย่างยิ่งและคุณจะเป็นรัฐบาลที่อยู่ในใจชาว LGBTQIAN+ ค่ะ
  • สิทธิของเรื่องสมรสเท่าเทียมเป็นสิทธิที่ประชาชนทุกคนควรได้ตั้งแต่แรก
  • ประเทศไทยจะเท่าเทียมกี่โมง!

เมื่อสอบถามถึงบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดัน ( call-out ) เรื่องสมรสเท่าเทียม

  • อันดับที่ 1 คือ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ 58%
  • อันดับที่ 2 คือ เขื่อน-ภัทรดนัย เสตสุวรรณ 55%
  • อันดับที่ 3 คือ วู้ดดี้ - วุฒิธร มิลินทจินดา 28.5%

ส่วนคำถาม LGBTQIAN+ในดวงใจ ส่วนใหญ่โหวตให้

  • เขื่อน-ภัทรดนัย เสตสุวรรณ ถึง 67.3%
  • รองลงมาได้แก่ แก๊งเทยเที่ยวไทย  (ป๋อมแป๋ม - นิติ ชัยชิตาทร, ก๊อตจิ - ทัชชกร บุญลัภยานันท์, กอล์ฟ – กิติพัทธ์ ชลารักษ์ และเจนนี่ ปาหนัน - วัชระ สุขชุม) 41.2%
  • ครูลูกกอล์ฟ - คณาธิป สุนทรรักษ์ 36.6%
  • นักร้องชาวไทยขวัญใจชาว LGBTQIAN+ โหวตให้ แคทรียา อิงลิช ถึง 43.1% 
  • รองลงมาอ๊อฟ ปองศักดิ์ 40.7%
  • มิกซ์ เฉลิมศรี 39.6%
  • คริสติน่า อากีล่าร์  37.5%

ส่วนเพลงไหนใช่เลย พี่กะเทยชอบแดนซ์  อันดับที่ 1 คือ เพลงพูดอีกที – คริสติน่า อากีล่าร์ 61%  อันดับที่ 2 คือ เพลง MUSIC LOVER – มาช่า วัฒนพานิช 56.9% อันดับที่ 3 คือ เพลง O.K. นะคะ - แคทรียา อิงลิช 48.3%

ทั้งนี้ เทศกาล Pride Month  ถูกจัดขึ้นตลอดเดือนมิถุนายน ซึ่งปีนี้มีการจัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลนี้หลายแห่งทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน ส่วนที่กรุงเทพฯ ก็มีการจัดงาน Bangkok Pride Festival 2024 หรือ บางกอกไพรด์ เฟสติวัล 2567 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2567 ภายใต้แนวคิด Celebration of Love เพื่อนับถอยหลังสู่การใช้ กฎหมายสมรสเท่าเทียมที่จะเกิดขึ้นก่อนสิ้นปี 2567 นี้ 

อีกทั้งมีการจัดงานในจังหวัดอื่นๆ อาทิ เชียงใหม่ ลำปาง ชลบุรี ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี นครราชสีมา เป็นต้น  เทศกาล Pride Month ถ้าได้รับการสนับสนุนการจัดงานจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ก็สามารถเป็น soft power ที่ดึงดูนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเข้ามาในประเทศไทยอีกทางหนึ่งได้เช่นกัน

The Attraction หวังว่าผลการสำรวจนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อน Soft Power ของประเทศไทยให้ไปสู่ผลสัมฤทธิ์ตามแนวคิดของรัฐบาลที่ตั้งไว้ เพราะเชื่อว่าประเทศไทยมีต้นทุนที่ดี สามารถต่อยอดได้มากมาย สามารถเข้าไปดูข้อมูลผลสำรวจและติดตามคอนเทนต์เกี่ยวกับ Soft Power ที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ theattraction.co หรือ ทาง Facebook : The Attraction https://theattraction.co/pride-month-poll

 

 

TAGS: #สมรสเท่าเทียม #PrideMonth #"The #Attraction #ดิ #แอทแทรคชั่น