พระพุทธวจน ในวันวิสาขบูชา

พระพุทธวจน ในวันวิสาขบูชา
โดย สมาน สุดโต

วันวิสาขบูชา ตรงกับวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 เป็นวัน สำคัญของพระพุทธเจ้า คือ เป็นวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ที่ชาวพุทธทั่วโลก จัดเฉลิมฉลองกัน 

ที่ชาวพุทธ ต้องฉลอง นอกจากเป็นวันสำคัญของพระพุทธเจ้าแล้วยังเป็นวันที่องค์การสหประชาชาติ ประกาศว่า เป็นวันสำคัญสากลของโลกด้วย 

ประเทศไทย  จัดฉลองวันดังกล่าว ใน วันที่ 18 -19 และ 20 พฤษภาคม 2567 โดยมี สภาสากล วันวิสาขบูชาโลก มจร. รัฐบาลไทย ร่วมเป็นเจ้าภาพ และมหาเถรสมาคม สนับสนุน โดยมี สมาชิกองค์การสหประชาชาติและชาวพุทธทั่วโลก 3,500 รูป/คนจาก 73 ประเทศมาร่วมประชุม

โดย ตั้งหัวข้อเรื่องอภิปรายกัน ว่า "พุทธวิถี สู่การสร้างความไว้วางใจและความสามัคคี Budddhist way of building trust and solidarity"

นักวิชาการ พุทธศาสนา นานาชาติ รวมทั้งประเทศไทย ได้ร่วมกัน แสดงความคิดเห็น ตามหัวข้อดังกล่าว

นักวิชาการจากประเทศไทย ที่แสดงความคิดเห็น ได้แก่ ดร พระพรหมบัณฑิต (ประยูร) ประธาน สภาสากล วันวิสาขบูชาโลก ดร. พระธรรม ศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน) ที่ปรึกษา มหาวิทยาลัยพุทธโลก( ม.พ.ล.)และ นาย พัลลภ ไทยอารี ประธาน องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก( พ. ส. ล.)

ส่วนที่ผมตั้งหัวเรื่องว่า พุทธวจน เนื่องในวันวิสาขบูชานั้น เพราะในวันสำคัญทั้ง 3 นั้น มีพุทธวจน ที่ตรัสออกมา ที่มีความสำคัญยิ่งยวด กล่าวคือ 

"วันประสูติ "

เมื่อพระโพธิสัตว์ ประสูติ ณ ลุมพินีวันสถาน ในขณะนั้น ทรงก้าวพระบาทไป 7 ก้าว และเปล่งอาสภิวาจา คือวาจาที่ องอาจ กล้าหาญ ว่า อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส  เชฏโฐหมสฺมิ โลกสฺส เสฏโฐหมสฺมิ โลกสฺาส อยมนฺติมา ชาติ นตฺถิทานิ ปุนพฺภโวติ แปลว่าเราผู้เป็นเลิศของโลก เราเป็นผู้ใหญ่ของโลกเราเป็นผู้ประเสริฐสุดของโลก ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย การเกิดใหม่ไม่มีอีกแล้ว

"วันตรัสรู้"

ต่อมาอีก 35 ปี พระองค์ก็ได้ทรงเป็นทุกอย่าง ตามที่ เปล่งวาจาไว้ นั่นคือพระองค์ได้ตรัสรู้

เหตุการณ์ในวันตรัสรู้นั้น กล่าวว่า ในช่วงปฐมยาม พระองค์ทรงบรรลุ บุพเพนิวาสานุสสติญาณ ที่สามารถระลึกชาติในอดีตได้ ในช่วงมัชฌิมยาม ทรงบรรลุ จุตูปปาตญาณ ที่รู้ถึงการตายและการเกิดของสัตว์โลกทั้งหลาย

ในช่วง ปัจฉิมยาม ทรงบรรลุอาสวขยญาณ ที่ทำอาสวะกิเลส ให้หมดสิ้นไป  ได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้า

เมื่อตรัสรู้แล้ว ทรงเปล่งอุทานว่า

อเนกชาติ สํสารํ สนฺธาวิสสํ อนิพพิสํ

คหการํ คเวสนฺโต ทุกขา ชาติ ปุนปฺปุนํ

คหการกทิฏโฐสิ ปุน เคหํ น กาหสิ

สพฺพ เต ผาสุกา ภคฺคา คหกูฏํ วิสงฺขตํ

วิสงฺขารคตํ จิตตํ ตณฺหานํ ขยมชฺฌคาติ

แปลว่าเราแสวงหานายช่างผู้สร้างเรือนคือตัณหา เมื่อยังไม่พบได้ท่องเที่ยวไปสู่ชาติต่างๆ (เวียนว่ายในวัฏสงสาร)ไม่ใช่น้อยการเกิดบ่อยๆ เป็นทุกข์ 

ดูก่อนนายช่างผู้สร้างเรือน คือตัณหา เราพบท่านแล้ว ท่านจะสร้างเรือน(คืออัตภาพร่างกาย)ไม่ได้อีกแล้ว

ซี่โครง คือกิเลสทั้งมวลเราหักเสียแล้ว ยอดยอดเรือนคืออวิชชา เราก็รื้อเสียแล้ว 

จิตของเราถึงวิสังขารคือนิพพาน อันปราศจากปัจจัยปรุงแต่งแล้ว

ได้ถึงความสิ้นไปแห่งตัณหาแล้ว

พระพุทธดำรัสนี้เป็นการแสดงถึงชัยชนะและความสำเร็จที่พระองค์ทรงได้รับหลังจากเสด็จออกบรรพชาหรือมหาวิเนษกรมณ์ ในระหว่างนั้นต้องบำเพ็ญเพียรด้วยพระขันติอยู่นานถึง 6 ปี จึงบรรลุสัมโพธิญ่ณ

"วันปรินิพพาน" 

ก่อนที่พระองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า โย โว อานนฺท มยา ธมฺโม จ วินโย เทสิโต ปญฺญตฺโต โส มจฺจเยน สตฺถาติ 

แปลว่า ดูก่อนอานนท์ ธรรมะก็ดี วินัยก็ดีที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้ว แก่พวกเธอธรรมะและวินัยนั้น จะเป็นศาสดาของพวกเธอ เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว

และได้ตรัสเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนนอพพานเพื่อเตือนภิกษุทั้งหลายว่า หนฺททานิ ภิกขเว อมนฺตยามิ โว ขยธมฺมา สงฺขารา อปฺมาเทน สมฺปาเทถาติ

แปลว่าดูก่อนภิกษุทั้งหลายเราขอเตือนเธอทั้งหลายว่าสังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดาเธอทั้งหลายจงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด

นี่คือพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ แม้ในวาระสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพของพระองค์ ก็ทรงตรัสเตือนไว้

พระวาจาทั้ง 3 ครั้งนี้ พระองค์ทรงเปล่งในวันเพ็ญวิสาขบูรณมี (วันเพ็ญ 15 ค่ำเดือนวิสาขะ) ทั้งสิ้น ต่างกันแต่เวลาเท่านั้น 

คือ พระวาจาครั้งแรก ตรัสในวันวิสาขบูรณมี ก่อนพุทธศักราช 80 ปี

ครั้งที่ 2 ตรัส เมื่อวันวิสาขบูรณมี เมื่อพระชนมายุได้ 35 พรรษา (ตอนตรัสรู้ ซึ่งก่อนพุทธศักราช 45 ปี)

พระวาจาครั้งที่ 3 ตรัสเมื่อวันวิสาขบูรณมีเมื่อพระชนมายุได้ 80 พรรษา หรือก่อน พ.ศ. 1 ปี 

พุทธศักราช หรือ พ.ศ.นั้น ท่านเริ่มนับ 1 เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วได้ 1 ปี

เมื่อทราบความสำคัญของพุทธวจน ในวันวิสาข บูชาแล้ว ขอชาวพุทธจงน้อมนำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวันของเรา

เช่นวันประสูติ ที่ทรงเปล่งวาจาด้วยความองอาจกล้าหาญนั้น คือการตั้งปณิธานว่าจะ ต้องทำอย่างไรในอนาคต

เมื่อตรัสรู้  ทรงเปล่งอุทานออกมาเพื่อประกาศชัยชนะมารหรือการเอาชนะกิเลสคือการเอาชนะใจตนเอง ไม่ตกเป็นเหยื่อหรือเบี้ยล่างของมาร ทั้งหลาย

ส่วนพระราชดำรัสที่ตรัสครั้งสุดท้ายก่อนที่จะนิพพานนั้น เป็นพระราชดำรัสที่ยิ่งใหญ่  ที่ทรงเตือนไม่ใช่เฉพาะภิกษุ หรือชาวพุทธเท่านั้น แต่เตือนชาวโลก ให้เห็นความสำคัญของการมีสติ ความไม่ประมาท 

หากชาวโลกปฏิบัติได้ดังนี้ โลกจะมีสันติภาพ ความปลอดภัยในชีวิต และภราดรภาพ ที่หลายฝ่ายเรียกหา ในปัจจุบัน
 

TAGS: #วันวิสาขบูชา #ประสูติ #ตรัสรู้ #ปรินิพพาน