“รังสิมันต์” ในฐานะประธานกมธ.มั่นคงสภาฯเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหรือเตรียมการรองรับผู้หนีภัยการสู้รบในเมียนมา แนะไทยเป็นกลางเจรจาสันติภาพเมียนมาตามกรอบอาเซียน แนะแบ่งการแก้ปัญหาเป็น 3 ระยะ
นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุม กมธ. เพื่อพิจารณาผลกระทบจากการสู้รบในเมียนมา ว่า ประการแรกต้องติดตามความคืบหน้า เนื่องจากหน่วยงานที่เชิญมาหารือ เป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการหามาตรการรองรับกรณีมีผู้หนีภัยสู้รบข้ามมายังประเทศไทย การเตรียมรับมือกับความขัดแย้งที่อาจเกิดการบานปลาย และไปดูว่าประเทศไทยมีบทบาทอย่างไรทั้งทางตรง และทางอ้อม กับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเมียนมาหรือไม่ และอาจมีการพูดคุยว่าในอนาคตจะมีหนทางอย่างไรที่ประเทศไทยจะเป็นตัวกลางสำคัญนำมาซึ่งสันติภาพของประเทศเมียนมาได้ ซึ่งคงอีกยาวไกล
นายรังสิมันต์ กล่าวว่า เรื่องเมียนมาเราประชุมกันมานาน เชิญกลุ่มชาติพันธุ์ต่างไปมาพูดคุย เพื่อมีมุมมองที่มากกกว่ากระทรวงการต่างประเทศในด้านการฑูตกับรัฐบาลทหารเมียนมาเท่านั้น ดังนั้น ตนจะรับฟังปัญหาอย่างรอบด้านและจะมีความเห็นต่อไปว่าประเทศไทยควรวางตัวอย่างไร ที่ผ่านมาเราใช้นโยบายทางการทูตไผ่ลู่ลม แต่วันนี้มีผู้หนีภัยการสู้รบ และการหลบหนีเข้ามาทำงาน ซึ่งตนคาดว่าตัวเลขผู้หนีภัยจากการสู้รบจะมีเป็นล้านประเทศไทยจะรองรับอย่างไร ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นในเมียนมาเราต้องยอมรับว่าเป็นปัญหาของประเทศไทยด้วย และยิ่งมีการผสมโรงของแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ ทุนจีนสีเทา และสเกมเมอร์ทั้งหลาย จึงเป็นสิ่งที่เราต้องเร่งจัดการ
นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ตนคิดว่าการแก้ปัญหาต้องแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ 1.การสนับสนุนด้านสิทธิมนุษยชนต่างๆ โดยจำเป็นต้องเก็บข้อมูลบุคคลต่างๆ ที่เข้ามา เพื่อแยกข้อมูลว่าใครคือจีนเทา และใครคือเหยื่อการสู้รบจริงๆ รวมถึงการทำให้ชายแดนไทยมั่นคง ปลอดภัย เพราะการข้ามไปมาอาจมีการแอบแฝงในประเด็นต่างๆ
2.ประเทศไทยต้องดำเนินการพูดคุยกับทุกฝ่าย เพื่อประชาธิปไตยหรือสันติภาพในประเทศเมียนมา และปราบปรามสิ่งผิดกฎหมายที่เกิดเหตุตามแนวชายแดนอย่างเป็นรูปธรรม เช่นกรณีเมืองเล่าก์ก่าย ที่จีนพูดคุยกับรัฐบาลทหารและกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ
3. การหารือเพื่อให้เกิดสันติภาพในประเทศเมียนมาร์ให้มีความมั่นคง รวมทั้งมีประชาธิปไตยและสันติสุขที่จะเกิดขึ้นในประเทศ
เมื่อถามว่าทางการไทยจะวางตัวอย่างไรไม่ให้เข้าไปแทรกแซงกิจการภายใน นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ที่ตนพูดมาดังกล่าวข้างต้นไม่ได้ผิดหลักอะไร และอยู่ในกรอบที่อาเซียนเคยมีมติไป ตนเชื่อว่าเป็นบทบาทที่ประเทศไทยต้องทำ ถ้าต้องการให้วิกฤตในเมียนมายุติลง ตนเชื่อว่าประเทศไทยน่าจะได้รับไว้วางใจมากกว่าประเทศอื่นๆในการเป็นตัวกลางการเจรจา และทำได้โดยไม่ได้ละเมิดกติกาสากลใดๆ ไม่ได้ส่งกองกำลังเข้าไป
นายรังสิมันต์ กล่าวว่า กมธ.ต้องให้ความสำคัญว่าธุรกิจของประเทศไทยที่เกี่ยวพันกับประเทศเมียนมา ซึ่งต้องจับตามองด้วยการ 2 ประเด็นคือ มีธุรกิจใดของประเทศไทยที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการสนับสนุนละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมา อาทิ ซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ทางการทหาร ทำให้เกิดการโจมตี และมีผู้หนีภัยข้ามมายังฝั่งประเทศไทย และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสแกรมเมอร์ และคอลเซ็นเตอร์ เช่นไฟฟ้า อินเตอร์เน็ต น้ำมันจากประเทศไทย ที่ไปเกื้อหนุน ซึ่งเรื่องใหญ่ที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ ยกเป็นวาระแห่งชาติเพื่อทำลายโครงสร้างเหล่านี้
นายรังสิมันต์ กล่าวด้วยว่า ตนสนับสนุนบทบาทของกระทรวงการต่างประเทศและประเทศไทย เพื่อหาทางแก้ปัญหาที่เกิดในเมียนมา และขอเรียกร้องให้รัฐบาลใช้กลไกระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้น และสื่อสารเป็นระยะว่าประเทศไทยได้ดำเนินการอย่างไรไปแล้วบ้าง เพื่อให้สังคมได้เห็นว่าประเทศไทยมีวิธีการดำเนินการกับสถานการณ์ปัจจุบัน