กำชับเจ้าหน้าที่ตรวจสอบโรงงาน สถานที่จำหน่าย สถานที่จัดเก็บดอกไม้เพลิงในพื้นที่อย่างเข้มงวดพร้อมเตรียมร่างกฎหมายเข้าควบคุม เพื่อความปลอดภัย
นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าร่วมการประชุมแนวทางการบริหารจัดการการอนุญาตให้ทำและค้าดอกไม้เพลิง การเยียวยาและแนวทางการแก้ไขในอนาคต โดยมี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม และนายสมชัย เลิศประสิทธิพันธ์ รองอธิบดีกรมการปกครอง พร้อมด้วยหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าได้ร่วมประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางที่นายกรัฐมนตรีเป็นห่วงเรื่องของการแก้ไขปัญหาไม่ให้เกิดเหตุซ้ำขึ้นมาอีกในเรื่องของพลุหรือสถานที่เก็บวัตถุอันตราย และประเด็นการบูรณาการเรื่องของกฎหมาย ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมนั้น ได้มอบหมายให้ดูในส่วนของการทำร่างกฎหมายเพื่อพิจารณาอีกครั้งว่าโรงงานประเภทที่มีกำลังน้อยกว่า 50 แรงม้าหรือมีคนงานน้อยกว่า 50 คน ซึ่งไม่เข้าข่ายกฎหมายของกระทรวงอุตสาหกรรมที่จะเข้าควบคุมการผลิตและในเรื่องของวัตถุระเบิดต่าง ๆ ที่จะทำพลุ หรือทำดอกไม้ไฟ ไม่มีเครื่องจักรที่ใช้แรงม้าหรือกำลังคนต้องถึง 50 คน จะควบคุมตรวจสอบได้อย่างไร ให้สอดคล้องกับความปลอดภัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อที่จะต้องส่งผ่านรองนายกรัฐมนตรีและส่งให้นายกรัฐมนตรี รับทราบเพื่อพิจารณาในส่วนของเนื้อหาในประกาศต่อไป
ด้านปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่าแนวทางปฏิบัติในปัจจุบันเป็นไปตามประกาศของ 5 กระทรวง (กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม) ซึ่งในประกาศนี้จะมีรายละเอียดโรงงาน สถานประกอบการ สถานที่จำหน่าย สถานที่เก็บต่าง ๆ จะต้องมีลักษณะอย่างไร ต้องมีระยะห่างอย่างไร และสามารถเก็บวัตถุดอกไม้เพลิงได้ขนาดเท่าไหร่ และในกรณีที่เป็นดอกไม้เพลิงแบบไหน รวมถึงการกำกับดูแลต้องมีการตรวจอย่างไร โดยประกาศตั้งแต่ปี 2547 ได้มีมติให้มีการปรับปรุงและมีความเหมาะสมหรือไม่อย่างไรกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งความเป็นจริงและความเหมาะสมในการดูแลหรือไม่ โดยทาง 5 กระทรวงได้มีการรีบดำเนินการ ในส่วนเรื่องการปรับ พ.ร.บ.ของโรงงานอุตสาหกรรมในปี พ.ศ. 2535 ณ ปัจจุบัน พ.ร.บ. ได้มีการปรับตั้งแต่ พ.ศ. 2512 ควบคุมเฉพาะสถานประกอบการที่มีคนจำนวนกว่า 50 คน หรือมีแรงม้าเกิน 50 แรงม้าเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นกิจการแบบใดจึงทำให้ปัจจุบันมีโรงงานที่ผลิตอยู่ในประเทศไทยเพียง 8 โรงงานเท่านั้นที่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ. ดังกล่าว ส่วนอีก 42 โรงงานที่เคยอยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม แต่ได้มีการจำหน่ายออกไปเมื่อมีการปรับ พ.ร.บ. ส่วนอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้ พ.ร.บ. ดังกล่าว เช่น เหตุการณ์โรงงานดอกไม้เพลิงที่เกิดขึ้นในจังหวัดสุพรรณบุรีเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งไม่ได้อยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม ทั้งนี้เป็นไปตามข้อสั่งการของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จะต้องมีการเยียวยาให้เหมาะสม โดยใช้ความรู้ความสามารถของทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้นำนโยบายของนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมที่จะไปปรับปรุง พ.ร.บ. โรงงาน โดยให้ครอบคลุมโรงงานที่มีความเป็นอันตรายสูงในลักษณะเช่นนี้และมีความเสี่ยงสูงสามารถเข้าไปกำกับดูแลได้ตาม พ.ร.บ. ส่วนกระทรวงอุตสาหกรรมได้รับมอบหมายจากรองนายกรัฐมนตรีที่จะเข้าไปตรวจสอบกับกระทรวงมหาดไทย ในการที่จะเข้าไปตรวจเยี่ยมตามโรงงานต่าง ๆ ในปัจจุบัน ที่ พ.ร.บ. ครอบคลุมไม่ถึง และจะได้ร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทยที่มีสั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรมเข้าไปช่วยดูแล ในเรื่องที่เป็นการกำกับอย่างอื่นได้มีกลไกและแนวปฏิบัติในการประกอบกิจการที่เกี่ยวกับดอกไม้เพลิงจะเป็นข้อปฏิบัติที่สามารถดาวน์โหลดได้ในเว็บไซต์ของกระทรวงอุตสาหกรรมอีกด้วย