ผู้เสียหาย STARK เตรียมตัว!! ยื่นรับชำระหนี้ตามความเสียหาย ภายในวันที่ 11 เม.ย.68 นี้
สมาคมผู้ลงทุนไทย (TIA) เปิดเผยว่า กรณีเกิดเหตุการณ์ ว่า ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ (หนึ่งในจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ พ.1061/2567 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ซึ่งกลุ่มผู้ถือหุ้นได้ยื่นฟ้อง บริษัท สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กับพวก และขอดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ซึ่งสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย ทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือ ผู้เสียหายกลุ่มผู้ลงทุนในหุ้นสามัญตามกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้ได้รับการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2567 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้โปรดมีคำสั่งอนุญาตให้เป็นการดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action))
ผลของคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดทำให้กลุ่มผู้ลงทุนในหุ้นสามัญในฐานะเจ้าหนี้ที่ประสงค์จะได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของนายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ จะต้องยื่นขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กรมบังคับคดี ภายในกำหนดเวลา 2 เดือน นับแต่วันที่มีการประกาศคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในราชกิจจานุเบกษาเท่านั้น
ดังนั้น เพื่อเป็นการรักษาสิทธิของผู้เสียหายกลุ่มผู้ถือหุ้นสามัญ STARK ทุกคน สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยจึงแนะนำให้ผู้เสียหายกลุ่มผู้ถือหุ้นสามัญ STARK ทุกท่าน ยื่นขอรับชำระหนี้ตามความเสียหายที่ตนได้รับต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดี ภายในวันที่ 11 เมษายน 2568 (ประกาศคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2568)
สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย ขอแนะนำให้ผู้เสียหายกลุ่มผู้ถือหุ้นสามัญ STARK ที่ประสงค์จะยื่นคำขอรับชำระหนี้ ดำเนินการและจัดเตรียมเอกสารประกอบ ดังนี้
1) ดาวน์โหลดคำขอรับชำระหนี้ แบบฟอร์ม ล.29 ของกรมบังคับคดี และบัญชีรายละเอียดแห่งทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นหลักประกัน (ตาม QR Code) และกรอกข้อมูลให้ครบถ้วน
2) แนบเอกสารหลักฐานประกอบคำขอรับชำระหนี้ ดังนี้
2.1 หลักฐานแสดงการเป็นผู้ถือหุ้น STARK เช่น ใบยืนยันการซื้อขาย หรือ รายการเคลื่อนไหวหลักทรัพย์จากโบรกเกอร์ทุกธุรกรรมที่ได้รับความเสียหายจากการที่ STARK เปิดเผยงบการเงินอันเป็นเท็จ
2.2 ตารางคำนวณมูลค่าความเสียหายหุ้นสามัญ (เป็นแบบฟอร์มคำนวนที่สามารถกรอกรายละเอียดได้ ตาม QR Code)
ตารางคำนวณความเสียหายนี้จะใช้หลักคำนวณหาส่วนต่างระหว่างราคาซื้อขายและราคาที่แท้จริง (true price) ในช่วงระหว่างวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 (วันที่ STARK เปิดเผยข้อมูลงบการเงินปี 2564 ไตรมาสที่ 1) ถึงวันที่ 16 มิถุนายน 2566 (วันที่มีการเปิดเผยข้อเท็จจริงว่างบการเงินมีข้อมูลอันเป็นเท็จ) ตามหลักการคำนวณค่าเสียหายคดีหมายเลขดำที่ พ.1061/2567
ทั้งนี้ หากเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นสามัญประสงค์จะใช้วิธีการคำนวณค่าเสียหายประการอื่นก็สามารถแนบตารางคำนวณค่าเสียหายในรูปแบบอื่นประกอบคำขอรับชำระหนี้ได้เช่นกัน
2.3 ตารางคำนวณดอกเบี้ย กรณีประสงค์จะเรียกดอกเบี้ยร้อยละ 5 (ตามอัตราที่กฎหมายกำหนด) เจ้าหนี้สามารถคำนวณได้จนถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด (เป็นแบบฟอร์มคำนวนที่สามารถกรอกรายละเอียดได้ ตาม QR Code)
2.4 คำฟ้องคดีแพ่งหมายเลขคดีดำที่ พ.1061/2567 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้และเอกสารประกอบรายการอื่นๆ
ในการนี้ เนื่องจากเจ้าหนี้รายที่ 1674 ได้ยื่นคำร้องขอตั้งเอกสารสำนวนกลางให้แก่ เจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นสามัญได้ใช้อ้างอิงแล้ว หากเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นสามัญรายใดประสงค์จะใช้เอกสารที่ปรากฏในสำนวนกลาง สามารถยื่นคำร้องขอใช้เอกสารร่วมและระบุชื่อเอกสารได้โดยไม่ต้องแนบเอกสารรายการดังกล่าวอีก (โดยกรอกรายละเอียดคำร้องขอใช้เอกสารร่วมได้ ตาม QR Code)
เจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นสามัญสามารถดาวน์โหลดดูตัวอย่างคำขอรับชำระหนี้ได้ (ตาม QR Code)
3) การยื่นคำขอรับชำระหนี้ สามารถดำเนินการได้ 2 วิธี ดังนี้
3.1 ยื่นคำขอรับชำระหนี้และเอกสารหลักฐานประกอบ ด้วยตนเองต่อกรมบังคับคดี ณ 189/1 ถนนบางขุนนนท์ แขวงบางขุนนนท์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร 10700 หรือ สำนักงานบังคับคดีจังหวัด
3.2 ยื่นขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านทาง https://reqonline.led.go.th/online/pages/login.jsp โดยกรณียื่นคำขอรับชำระหนี้ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ หลังจากยื่นแล้วต้องสั่งพิมพ์ (Print) คำขอรับชำระหนี้และเอกสารหลักฐานประกอบคำขอรับชำระหนี้ผ่านระบบ แล้วส่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามที่อยู่ของกรมบังคับคดีทางไปรษณีย์
ทั้งนี้สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (TIA) ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายกลุ่มผู้ถือหุ้นสามัญ STARK ในการดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ตามกระบวนการยุติธรรม ให้บังเกิดผลและช่วยกระจายข่าวสารไปยังกลุ่มผู้เสียหายตามคำร้องขอของโจทก์ตัวแทนผู้เสียหายเมื่อมีความคืบหน้าของคดี เป็น “คำประกาศ” ไปแล้ว เป็นจำนวน 4 ฉบับ คือ ฉบับที่ 1/2567 ลว. 19 กันยายน 2567 ฉบับที่ 2/2567 ลว. 12 พฤศจิกายน 2567 ฉบับที่ 3/2567 ลว. 18 ธันวาคม 2567 และ ฉบับที่ 1/2568 ลว. 28 กุมภาพันธ์ 2568
นอกจากนี้ สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย ยังมีการแจ้งข้อมูล ผ่านช่องทางการสื่อสาร คือ 1) ระบบออนไลน์ ตามอีเมล์ของผู้เสียหายแต่ละบุคคล ที่ลงทะเบียนไว้กับสมาคมฯ 2) ระบบออนไลน์ ในหน้าเว็บไซต์ของสมาคมฯ คือ www.thaiinvestors.com (ชื่อเมนู Class Action) ตลอดจนได้รับความอนุเคราะห์ จากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในตลาดทุน และสื่อมวลชนทุกแขนง เพื่อให้ผู้เสียหายได้รับทราบข้อมูล ตระหนักแห่งสิทธิของตนอย่างทั่วถึง
หากมีความคืบหน้าเพิ่มเติมอย่างไร สมาคมฯ จะแจ้งให้ทุกท่านทราบต่อไป