ปตท. เปิดรับเทคโนโลยี IBERDROLA พัฒนาพลังงานไฮโดรเจนชี้เหมาะใช้ในยานยนต์ขนาดใหญ่มากกว่ารถยนต์เล็ก เผยขั้นตอนเติมก๊าซใช้แรงดันสูง ราคายังแพง การขนส่งต้องปลอดภัย
นายนพดล ปิ่นสุภา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) กล่าวภายหลังนำคณะผู้บริหารกลุ่ม ปตท.เข้าเยี่ยมชมกิจการของบริษัท IBERDROLA ณ กรุงแมดริด ราชอาณาสเปน ผู้นำด้านพลังงานสะอาดระดับโลก และเป็นผู้เชี่ยวชาญพลังงานไฮโดรเจน(Green Hydrogen) ในภารกิจการศึกษาดูงานภายใต้หัวข้อ Future Energy รองรับวิสัยทัศน์ใหม่ ปตท.และการจัดการด้านความยั่งยืน
สำหรับพลังงานไฮโดรเจนซึ่งเราได้ยินคุ้นหูมาตลอดปัจจุบันมีการใช้กันอยู่แล้ว โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมโรงกลั่นปิโตรเคมี เป็นตัวดักจับพวกซัลเฟอร์ รวมถึงโรงกลั่นของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด(มหาชน) ได้นำไปใช้เช่นกัน นอกจากนี้ยังก็ใช้ในอุตสาหกรรมปุ๋ยโดยเปลี่ยนเป็นแอมโมเนีย ด้วยการเอาไนโตรเจนในอากาศซึ่งมีอยู่แล้วมาผสมกับไฮโดรเจนก็จะกลายเป็นแอมโมเนียและเป็นปุ๋ย ขณะเดียวกันไฮโดรเจนยังใช้ในธุรกิจพวกโลหะเนื่องจากใช้พลังงานสูงในการหลอมโลหะ
ทั้งนี้ล่าสุดเริ่มเห็นพัฒนาการสำหรับใช้ในรถยนต์ ซึ่งยังมีคำถามตามมาและทุกคนก็พูดคล้ายๆ กันว่า มันอาจไม่เหมาะกับการใช้ในรถยนต์ขนาดเล็กเพราะที่เติมมันยากและแพง เนื่องจากแรงดันสูงมากแต่เหมาะกับยานยนต์ขนาดใหญ่ที่ใช้งานหนักมีความเป็นไปได้
"ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงที่มีการใช้กันอยู่แล้ว โดยการผลิตไฮโดรเจนมีอยู่ 2 แบบ แบบแรกที่คุ้นเคยกันอยู่แล้วคือการใช้ไอน้ำไปเข้าขบวนการกับตัวก๊าซมีเทน(Steam Reforming Hydrogen) มันก็จะได้ไฮโดรเจนออกมา ซึ่งตัวนี้โรงกลั่นน้ำมันใช้ กลุ่มปิโตเคมีใช้และอุตสาหกรรมขนาดหนักใช้ อีกวิธีหนึ่งคือการเอาไฟฟ้าไปแยกน้ำเพราะในน้ำมีทั้งไฮโดรเจนและออกซิเจนประเด็นคือไฟฟ้าชนิดไหนที่เอาไปแยกน้ำมัน จะเป็นตัวบอกสีของไฮโดรเจน ถ้าเอาไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานสะอาดไปแยกน้ำผ่านกระบวนการที่เรียกว่า อิเล็คโทรไลซิส (water electrolysis) ซึ่งเป็นกระบวนการที่โมเลกุลของน้ำและไฮโดรเจนถูกแยกออกจากกัน ไฮโดรเจนที่ได้มาก็จะเป็น Green Hydrogen"นายนพดล กล่าว
นายนพดล อธิบายต่อว่า แต่ถ้าเป็นไฮโดรเจนที่ผลิตโดยวิธีแรกคือ Steam Reforming Hydrogen ที่โรงกลั่นหรือโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ผลิตกันอยู่เรียกว่า Grey Hydrogen คือการใช้ก๊าซธรรมชาติและไอน้ำไปเข้ากระบวนการ ซึ่งกระบวนการผลิตแบบนี้จะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์(CO2) ออกมาด้วย ซึ่งคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยออกมาจาก Grey Hydrogen ประมาณ 9 กิโลกรัมคาร์บอน ถึงจะได้ไฮโดรเจนออกมา 1 กิโลกรัม
หากเอาตัวคาร์บอนที่ปล่อยออกมาจากกระบวนการผลิตนี้ไปกักเก็บแบบที่บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ในกลุ่ม ปตท.กำลังจะทำที่เรียกว่า Carbon Capture Storage โดยนำคาร์บอนไปกักเก็บในหลุม ก็าซไฮโดรเจนที่ได้สามารถไปเคลมเป็น Blue Hydrogen ได้เลย จากเดิมที่เป็น Grey Hydrogen ซึ่งวิธีนี้จะทำให้การปล่อยคาร์บอนออกมาเหลือแค่ประมาณ 3-6 กิโลกรัมต่อการผลิตไฮโดรเจน 1 กิโลกรัม และจะน้อยลงไปเรื่อยๆ
ดังนั้นหากโลกต้องการจะไปสู่สังคมปลอดคาร์บอน(Carbon Zero) เชื่อว่า Green Hydrogen จะเป็นตัวช่วยที่สำคัญตัวหนึ่งเลย แค่นำไปแทน Grey Hydrogen ที่ใช้อยู่ในกระบวนการใน ซึ่งปัจจุบันสามารถช่วยได้เยอะแล้ว แต่การขนส่งไฮโดรเจนตามที่ทาง Iberdrola บอกว่ายังมีความท้าทาย แต่ถ้าผลิตแล้วนำมาใช้เลยจะเกิดขึ้นได้ง่ายไม่ต้องมีการขนส่งมาก แต่ในบางประเทศก็ไม่มีสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรที่จะผลิต Green Hydrogen ได้ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ซึ่งไม่มีพลังงานทดแทนเพียงพอ ก็จะต้องมีการขนส่งโดยซื้อจากออสเตรเลียหรือตะวันออกกลางอย่างซาอุดิอาระเบีย หรืออเมริกาใต้ เช่น ชิลี เพราะเป็นประเทศที่มีพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จำนวนมาก ทำให้สามารถผลิตพลังงานทดแทนในราคาที่ต้นทุนต่ำได้
การผลิตไฮโดรเจนด้วยการแยกน้ำ 70% ของต้นทุนคือค่าไฟฟ้า ที่เหลือ 20-30% เป็นค่าอุปกรณ์ เพราะฉะนั้นค่าไฟฟ้าถูกจะช่วยได้เยอะ แล้วประเทศที่มีค่าไฟฟ้าถูกก็จะต้องเป็นประเทศที่มีทรัพยากรเยอะ อย่างประเทศออสเตรเลียมีทะเลทราย ซาอุดิอารเบียเป็นทะเลทรายและชิลีมีพื้นที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อยู่มาก และเมื่อผลิตเป็น Green Hydrogen มาแล้ว แต่คนที่จะใช้อยู่อีกที่หนึ่งต้องมีการขนส่ง ซึ่งทางที่ดีที่สุดคือต้องไม่มีการขนส่งอย่างที่ Iberdrola บอก เพราะการขนส่งไฮโดรเจนมีความท้าทาย
ส่วนวิธีการขนส่งมีอยู่ 3 แบบ แบบที่ 1 ทำให้เป็นความเย็นเหมือน LNG ด้วยการลดอุณหภูมิลงซึ่ง LNG ต้องลดอุณหภูมิเหลือ -162 องศาเซลเซียส แต่ไฮโดรเจนต้อง -190 องศาเซลเซียส ซึ่งค่าใช้จ่ายจะแพงและต้องขนส่งเป็นของเหลวซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง
ขณะที่วิธีที่ 2 คือ เปลี่ยนรูปเป็นแอมโมเนียแล้วขนส่งไป ซึ่งมีการขนส่งกันมานานแล้ว แต่ละปีมีการขนส่งหลายร้อยล้านตันทั่วโลกเนื่องจากมีเรือที่มีศักยภาพในการขนส่งอยู่แล้ว ซึ่งจะใช้เป็นแอมโมเนียโดยตรงหรือแยกเป็นไฮโดรเจนออกมา เป็นรูปแบบที่มีความเหมาะสม โดยไม่ต้องแปลงกลับเป็นไฮโดรเจนแต่เอาแอมโมเนียไปใช้ประโยชน์เลยไปเผาเป็นเชื้อเพลิงเลย เช่น โรงไฟฟ้าที่ญี่ปุ่นที่เคยเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ฟูกูชิมะ เริ่มที่จะเอาแอมโมเนียไปผสมกับถ่านหินเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าโดยไม่ต้องเปลี่ยนกลับไปเป็นไฮโดรเจนเพราะเปลี่ยนกลับไปกลับมาอาจจะไม่คุ้ม อีกวิธีคือใช้กระบวนการทางเคมีโดยการให้ไฮโดรเจนเกาะตัวไปแต่ยังไม่เป็นที่นิยม