ซีพีเอ็น เปิดเซ็นทรัล พาร์ค 2 หมื่นล้านบาท 1 ใน 5 เมกะโปรเจกต์มิกซ์ยูสตามแผน 5 ปี รับกำลังซื้อไลฟ์สไตล์ลักซูรีระดับโลกหมุนเวียน 25 ล้านคนต่อปี พร้อมแผนเจรจารฟท.ต่อสัญญา เซ็นทรัล ลาดพร้าว
ความร่วมมือระหว่างเซ็นทรัลพัฒนา หรือ ‘ซีพีเอ็น’ ผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ และ ‘กลุ่มดุสิตธานี’ ผู้นำธุรกิจ ฮอสพิทาลิตีระดับโลก พัฒนาโครงการมิกซ์ ยูส (Mixed Use) ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค (Dusit Central Park) ระดับลักซูรีด้วยมูลค่าลงทุนไม่ต่ำกว่า 4.6 หมื่นล้านบาท หวังปักหมุดให้เป็นแลนด์มาร์คของเมืองหลวงกรุงเทพฯ บนย่านสีลม ที่เป็นใจกลางของใจกลางย่านธุรกิจ ที่เรียกว่า ‘Super Core CBD’ บาท พร้อมยกระดับกรุงเทพฯ สู่การเป็นหนึ่งในมหานคร ระดับโลก
วัลยา จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอ็น กล่าวว่า สำหรับโครงการภายใต้แบรนด์เซ็นทรัล พาร์ค (Central Park) มีมูลค่าลงทุนกว่า 20,000 ล้านบาท แบ่งเป็นศูนย์การค้า Central Park บนพื้นที่ 130,000 ตร.ม. จะเปิดให้บริการช่วงไตรมาส3 ปี 2568
และ อาคารสำนักงาน Central Park Offices บนพื้นที่ 130,000 ตารางเมตร เตรียมเปิดไตรมาส 2 ปี 2568 เช่นกัน พร้อมวางตำแหน่งเป็นสำนักงาน Prestigious Class A ที่ดีที่สุดและสะดวกที่สุดในกรุงเทพฯ โดยจะเป็นโกลบอล โปรเฟสชันแนล ฮับ(Global Professional Hub) ของบริษัทชั้นนำระดับโลก ทั้งนี้ ยังเพื่อรองรับเทรนด์ Social & Flexible Workplace อีกทั้ง มุ่งมั่นเป็น LEED Gold และ WELL Certified คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและ Well-being
“จุดเด่นสำคัญโครงการฯ ยังมอบพื้นที่ความเป็นส่วนตัว ไพรเวท เทอเรซ สามารถมองเห็นวิวสวนลุมพินีและรูฟท็อป บาร์ สามารถชมวิวกรุงเทพฯได้แบบ 360 องศาได้อีกด้วย ความคืบหน้าขณะนี้ดำเนินการไปแล้วกว่า 30%” วัลยา กล่าว
ชนวัฒน์ เอื้อวัฒนะสกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจและโครงการ ซีพีเอ็น กล่าวว่าจุดเด่นในภาพรวมโครงการฯ ตั้งอยู่บนทำเลศักยภาพ Super Core CBD ด้วยเชื่อมต่อไปยังย่านธุรกิจสำคัญโดยรอบใจกลางเมืองหลวงกรุงเทพฯ ได้ทั้งย่านราชประสงค์ สุขุวิท สาทร และ เยาวราช รวมถึงยังเป็นจุดเชื่อมสถานีรถไฟฟ้าสองสายหลัก BTS ศาลาแดง และ MRT สีลม
“ในรัศมีระยะ 3 กิโลเมตรโดยรอบโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ยังประกอบไปด้วยโครงการระดับลักซูรีต่างๆ ทั้งที่อยู่อาศัยราว 17,000 ยูนิต โรงแรมกว่า6,000 ห้อง และพื้นที่อาคารสำนักงานกว่า 1.5 ล้านตารางเมตร” ชนวัฒน์ กล่าว
ด้าน ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด ซีพีเอ็น กล่าวว่าศูนย์การค้า เซ็นทรัล พาร์ค วางตำแหน่งเป็น High-end Lifestyle Hub แห่งแรกในย่านนี้ เพื่อมอบประสบการณ์ The New Luxury Lifestyle ที่นิยามความหรูหราแบบเฉพาะตัว แตกต่างกันออกไปทั้งสินค้าบริการร้านอาหารและเครื่องดื่ม
รองรับกลุ่มเป้าหมายหลัก ทั้งกลุ่มมั่งคั่ง (Affluent) ผู้คนในกรุงเทพฯ (People of Bangkok) และ ผู้คนทั่วโลก (Global Citizen) แห่งแรกในย่านนี้ ที่มองว่ามีความต้องการประสบการณ์ด้านไลฟ์สไตล์เพื่อการใช้บริการและจับจ่ายสินค้าระดับลักซูรี ที่แตกต่างกันออกไป รวมถึงยังวางแผนการตลาดแบบเข้มข้น (Intensive Marketing) ด้วยการนำกิจกรรมระดับประเทศและระดับโลกจากต่างประเทศ กว่า 1,000 อีเวนต์เข้ามาจัดแสดงด้วย
เจาะกลุ่มอีลีท 7.5 แสนราย
ด้าน อิศเรศ จิราธิวัฒน์ Head of Fashion and Luxury Partner Management ซีพีเอ็น กล่าวว่าโครงการเซ็นทรัล พาร์ค จะผสมผสานการคัดสรรประสบการณ์เฉพาะ (Curated Experience) เข้ากับการใช้ชีวิตร่วมกับพื้นที่สีเขียว (Park Life) โดยร่วมกับแบรนด์ชั้นนำในไทยและแบรนด์ระดับโลก มาให้บริการ ด้วยคิดเป็นสัดส่วนราว 20-30% ที่จะเป็นร้านค้าแบรนด์ใหม่ที่ไม่เคยเปิดให้บริการในประเทศไทย มาก่อน
นอกจากนี้ ซีพีเอ็น ยังนำลอยัลตี โปรแกรม บัตรเดอะวัน (The1) ของกลุ่มเซ็นทรัล ที่ปัจจุบันมีฐานสมาชิกบัตรราว 20 ล้านคน มีการใช้จ่ายต่อเนื่องกว่า 9 ล้านรายต่อปีและมีสัดส่วนกว่า 7.5 แสนราย ที่เป็นกลุ่มกำลังซื้อสูง (Wealth Segment) มาพัฒนาการเลือกสินค้าบริการ ต่างๆภายในแต่ละพื้นที่โครงการฯ ด้วย
“เซ็นทรัลพาร์ค ร่วมกับที่ปรึกษาทั้งในและต่างประเทศ อย่าง A49 ด้านการออกแบบโครงการฯ และ OMA พาร์ทเนอร์ระดับโลก ด้วยเนวคิดการนำไลฟ์สไตล์มาร่วมออกแบบภายในพื้นที่ที่สอดรับกับทั้งร้านค้า ร้านอาหาร หรือ บริการอื่นๆ บริการร้านอาหาร เครื่องดื่ม ฯลฯ ที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละชั้น” อิศเรศ กล่าว
โดยเซ็นทรัล พาร์ค ในส่วนของศูนย์การค้าคาดแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในไตรมาส3 ปี2568 และอาคารสำนักงาน ในไตรมาส2 ปี 2568 เช่นกัน โดยวางเป้าหมายรองรับปริมาณลูกค้าหมุนเวียน(ทราฟฟิก) ราว 25 ล้านคนต่อปี รวมถึงการเป็นแลนด์มาร์คระดับโลก ที่ดึงดูดนักท่องเทื่ยวกว่า 10 ล้านคนต่อปี
สำหรับโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค มีพื้นที่รวม 440,000 ตร.ม. มีขนาดที่ดิน 23 ไร่ ตั้งอยู่หัวมุมถนนสีลม-พระราม 4 ประกอบไปด้วย โรงแรม Dusit Thani Bangkok จำนวน 39 ชั้น 257 ห้อง เตรียมเปิดกลางปี 2567, อาคารสำนักงาน Central Park Offices พื้นที่ เตรียมเปิดไตรมาส2 ปี2568, ศูนย์การค้า Central Park เตรียมเปิดไตรมาส3 ปี2568 และที่พักอาศัย พื้นที่ขนาด 50,500 ตร.ม. แบ่งเป็น Dusit Residences ราคา 40-300 ล้านบาท และ Dusit Parkside ราคา 12-90 ล้านบาท เตรียมเริ่มทยอยส่งมอบห้องให้ลูกค้าในปลายปี 2568 เช่นกัน
1ใน5 เมกะโปรเจกต์มิกซ์ยูส กลุ่มเซ็นทรัล
วัลยา กล่าวอีกว่าเซ็นทรัล พาร์ค มูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาทดังกล่าว เป็น 1 ใน5 โครงการอสังหาริมทรัพย์ผสมผสานขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์ มิกซ์ ยูส) ของซีพีเอ็น ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาต่อเนื่องใน5 ปีนับจากนี้ โดยแต่ละโครงการฯ ว่งตำแหน่งให้มีความเป็นเอกลักษณ์ฉพาะในแต่ละทำเลที่เปิดให้บริการ
และขณะนี้อยู่ระหว่างพัฒนาอีกหนึ่งโครงการบนทำเลถนนพหลโยธิน 24 ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมเพื่อเปิดแผนให้รายละเอียดโครงการฯ ในอนาคต
โดยเป็นไปตามแผนลงทุน 5 ปี (2566-2570) กว่า 200 โครงการครอบคลุม 30 เมืองในไทยและอาเซียน มูลค่ากว่า 135,000 ล้านบาท หรือลงทุนปีละ 25,000-35,000 ล้านบาท ประกอบด้วย ศูนย์การค้า 50 แห่ง, คอมมูนิตี มอลล์ 17 แห่ง, ที่อยู่อาศัย 90 แห่ง, โรงแรม 37 แห่ง, อาคารสำนักงาน 13 แห่ง และพื้นที่ใหม่ๆ อีก 4 แห่ง ตั้งเป้าจะมีรายได้กว่า 70,000 ล้านบาทภายใน 5 ปีหรือเติบโตไม่น้อยกว่า 10% ต่อปี
สำหรับสิ้นปี 2566 ซีพีเอ็นเตรียมเปิด 2 โครงการใหม่มิกซ์ยูส ศูนย์การค้าและโรงแรมเซ็นทารา จังหวัดอยุธยา และโครงการที่อยู่อาศัย (Residence Hotel) จังหวัดระยอง
วัลยา กล่าวอีกว่า วัลยา กล่าวว่าสำหรับความคืบหน้าต่อสัญญาโครงการศูนย์การค้าเซ็นทรัล ลาดพร้าว ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งจะสิ้นสุดสัญญาเช่าพื้นที่ทำเลบริเวณห้าแยกลาดพร้าว ในวันที่ 18 ธันวาคม 2571 หรือในอีก 5 ปีข้างหน้านี้ ด้วยมีแผนหารือร่วมกับ รฟท. แต่ในขณะนี้ยังไม่สามารถกล่าวใดๆออกมาได้
“เรามุ่งมั่นอยากต่อสัญญา ด้วยมั่นใจศักยภาพทำเลลาดพร้าวเป็นหนึ่งในซีบีดีสำคัญ ซึ่งขณะนี้ยังมีแบรนด์สินค้านำเข้าอีกหลากหลายแบรนด์ที่ยังไม่ได้นำเข้ามา ที่ต่อคิวเพื่อรอเข้ามาเปิดอีกจำนวนมาก เราปรบมือข้างเดียวไม่ได้ ต้องตบด้วยกันทั้งสองฝ่าย” วัลยา กล่าว
นอกจากนี้ เซ็นทรัล ลาดพร้าว ยังเป็นหนึ่งในโครงการศูนย์การค้าที่ตั้งบนทำเลยุทธศาสตร์ของกรุงเทพ บริเวณสี่แยกลาดพร้าว หนึ่งใน 5 จุดตัดบนสี่แยกถนนธุรกิจสำคัญในการเชื่อมต่อการเดินทางของเมืองหลวงกรุงเทพฯ
โดยอีก 4 แห่ง คือ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ บริเวณแยกราชประสงค์ , ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเอ็มบาสซี บริเวณสี่แยกเพลินจิต, เซ็นทรัล พาร์ค บริเวณสี่แยกถนนสีลม และอีกหนึ่งโครงการอยู่ระหว่างรอพัฒนาแนวคิดการออกแบบเพื่อก่อสร้าง ตั้งอยู่บริเวณหัวมุมถนนสี่แยกปทุมวัน