พายุใหญ่ แจกเงินดิจิทัลหมื่นบาท กลุ่มเพื่อนผู้ว่าแบงก์ชาติแห่เตือนรัฐบาลหลงทางทำเสียหาย เดือนเดียวบาทอ่อนยวบ หุ้นดิ่งหนัก บริษัทจัดอันดับจ่อลดเครดิตไทย
นโยบายแจกเงินดิจิทัลหมื่นบาท ใช้เงบประมาณ 5.6 แสนล้านบาท เป็นเรื่องร้อนเศรษฐกิจไทยไม่หยุด กลุ่มเพื่อนผู้ว่า ธปท. ได้ออกมารวมตัวแบบไม่ได้นัดหมายวิจารณ์มาตรการดังกล่าวจะสร้างความเสียหายให้กับประเทศ ที่เห็นแล้วคือทำให้เงินบาทอ่อน และหุ้นดิ่งต่อเนื่อง และบริษัทจัดอันดับชั้นนำของโลกทั้ง 3 แห่ง จ่อลดเครดิตประเทศไทย
ก่อนหน้านี้ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองว่ามาตรการกระตุ้นด้วยเงินจำนวนมากไม่มีความจำเป็น เพราะได้ไม่คุ้มเสีย ตอนนี้เศรษฐกิจไทยเหมือนคนไข้ที่ไม่ได้อาการหนักนอนโรงพยาบาลแล้ว หมอให้กลับบ้านได้แล้ว การรักษาก็ต้องเปลี่ยนไปไม่ต้องใช้แรงเหมือนเดิมที่อยู่โรงพยาบาล หากยังรักษาโดนยังให้ยาแรงเหมือนเดิม จะเป็นการรักษาที่ไม่ถูดต้อง
ล่าสุด นายวิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊ก Veerathai Santiprabhob ว่า
การบริหารบ้านเมืองด้วยความรับผิดชอบเป็นหน้าที่ที่สำคัญที่สุดของผู้มีอำนาจรัฐ
อาจารย์ป๋วยเคยกล่าวไว้ทำนองว่า
ถ้าแพทย์รักษาผู้ป่วยผิดพลาด อาจจะสร้างผลกระทบให้กับชีวิตของผู้ป่วยหนึ่งคนและครอบครัว
ถ้าวิศวกรสร้างตึก หรือสะพานผิดพลาด อาจจะหมายถึงชีวิตคนหลายสิบหรือหลายร้อยคนที่ใช้งาน
แต่ถ้านักเศรษฐศาสตร์ทำนโยบายเศรษฐกิจผิดพลาดแล้ว อาจจะกระทบต่อชีวิตของคนหลายสิบล้านคนทั้งประเทศ
วันนี้ ด้วยพลังของตลาดที่รู้ว่าในโลกนี้ไม่มีอะไรฟรี แค่ผู้มีอำนาจรัฐเริ่มคิดจะทำนโยบายเศรษฐกิจที่ไม่รับผิดชอบ ก็ส่งผลเสียต่อชีวิตคนได้ทั้งประเทศแล้ว ผ่านกลไกของตลาดเงินและตลาดทุน
เรามีตัวอย่างนโยบายภาครัฐจากอดีตหลายอันที่เน้นกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงสั้นๆ แต่สร้างความบิดเบือนให้กับกลไกตลาด และโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ สร้างภาระทางการคลังแบบได้ไม่คุ้มเสีย และส่งผลกระทบต่อผลิตภาพยาวนานไปอีกหลายปี ไม่ว่าจะเป็นโครงการรับจำนำข้าวทุกเม็ด หรือโครงการรถคันแรก
ถ้าเริ่มต้นบริหารประเทศด้วยการทำนโยบายที่หวังผลต่อ GDP แค่ช่วงสั้นๆ ผลที่จะเกิดขึ้นกับฐานเสียงในการเลือกตั้งสี่ปีข้างหน้าอาจจะกลับทิศได้อีกด้วย ถึงเวลาใกล้เลือกตั้งรอบหน้าเศรษฐกิจที่โดนกระตุ้นด้วยยาโด๊บเงินดิจิตัลก็คงหมดพลังลงพอดี นอกจากนี้โครงการภาครัฐดีๆ อีกนับสิบนับร้อยโครงการที่จะสร้างประโยชน์ให้แก่ประชาชนในวันนี้และวันหน้าอาจโดนถูกตัดงบประมาณลง
ผลการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาแสดงให้เห็นชัดว่าประชาชนจำนวนมากต้องการการเปลี่ยนแปลง การปฏิรูป มากกว่านโยบายประชานิยม เชื่อว่าในอีกสี่ปีข้างหน้า กระแสเรียกร้องเรื่องการเปลี่ยนแปลงและการปฏิรูปจะยิ่งชัดเจนขึ้นไปอีก ในขณะที่ทรัพยากรด้านการคลังจะยิ่งจำกัดมากขึ้น
นอกจากนี้ ถ้าผู้มีอำนาจรัฐเริ่มต้นบริหารประเทศด้วยนโยบายที่ไม่รับผิดชอบแล้ว ความน่าเชื่อถือจะไหลลงเร็ว ทั้งจากในและต่างประเทศ จะทำอะไรต่อไปก็จะยากไปหมด มีแต่ความไม่เชื่อมั่น ความแคลงใจกัน นโยบายที่จะสนับสนุนการปฏิรูปและการเปลี่ยนแปลงสำหรับอนาคตของประเทศจะยิ่งเกิดได้ยากมาก
โจทย์ในวันนี้น่าจะเป็นว่าจะช่วยกันหาทางลงให้กับนโยบายที่หาเสียงไว้แล้วแต่ไม่ควรทำได้อย่างไร มากกว่าที่จะเดินหน้าต่อทั้งที่รู้ว่าจะสร้างปัญหาตามมาอีกมากมาย
ขอบคุณ Nat Luengnaruemitchai ที่นำข้อมูลมาแสดงครับ
โดย นายณัฐ เหลืองนฤมิตชัย ที่นายวิรไท ขอบคุณทิ้งท้ายพร้อมแชร์โพสต์ข้อความของ นายณัฐ เหลืองนฤมิตชัย ที่โพสต์ผ่านเฟสบุ๊ก Nat Luengnaruemitchai ว่า
เพียงเดือนเศษๆ กับนโยบายเงินดิจิทัล
ความมุ่งมั่นดื้อดึงที่จะทำโครงการนี้ทั้งๆ ที่นักเศรษฐศาสตร์ และนักวิเคราะห์ค่อนประเทศไม่เห็นด้วย นอกจากทำให้นักลงทุนกังวลถึงภาระหนี้ที่จะเกิดขึ้น ที่ไม่คุ้มกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่จะได้รับ ยังทำให้เห็นได้อีกว่า การตัดสินใจโดยไม่ฟังเสียงรอบข้าง โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญ แถมยังมีการส่งสัญญาณว่าอาจจะมีการโยกย้ายหากข้าราชการไม่เห็นด้วย ยังเป็นเรื่องที่น่ากลัวในการบริหารรัฐนาวาในยามนี้อีกด้วย บริษัทผู้ประเมิน credit rating รายใหญ่ ทั้งสามเจ้าอย่าง S&P, Moody และ Fitch จึงออกมาพร้อมหน้าพร้อมตาเตือน และพร้อมที่จะลด credit rating หากใช้นโยบายทางการคลังที่ไม่เหมาะสม
ดังนั้น นักลงทุนจึงเทขายพันธบัตรรัฐบาลไทยอย่างหนักจน yield ขึ้นมากว่า 70 basis point (รวมผลกระทบจากการปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้น จึงอาจจะแยกยากสักหน่อยว่ามีผลกระทบมากน้อยแค่ไหน) แล้ว เพียงระยะเวลาเพียงเดือนเศษ จนมาอยู่ในระดับเดียวกันกับเมื่อเดือนพฤษภาคม ปีที่แล้ว ส่วนค่าเงินบาทอ่อนค่าไปถึง 37 บาทแล้ว ในขณะที่ราคาหุ้นไทยตกไปแล้วกว่า 13%
นี่กำลังจะทำให้หนี้สินรัฐบาล 7.6 ล้านล้านบาท ที่มีค่าดอกเบี้ยจ่ายกว่าปีละ 2 แสนล้านบาท กำลังจะมีต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น หากต้อง rollover
นอกจากนี้ นายณัฐ ยังได้แชร์โพสต์เฟสบุ๊กของ Nattavudh Powdthavee - ณัฐวุฒิ เผ่าทวี ที่โพสต์ข้อตวามว่า
พอได้มีโอกาสฟังและอ่านเพื่อนๆที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์การเงินที่ผมนับถือพูดถึงนโยบายเงินดิจิตอล ซึ่งทุกคนที่พูดถึงนโยบายนี้ต่างก็ไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ทั้งนั้น มันทำให้ผมนึกถึงตอนก่อนที่จะมีการโหวต Brexit ในสหราชอณาจักรในปี 2016 ที่นักเศรษฐศาสตร์เกือบทุกคนที่ออกมาพูดถึงผลกระทบที่จะตามมาของการที่ UK จะออกจาก EU ต่างก็พูดกันเป็นเสียงเดียวว่า มันจะแย่กันทั้งประเทศนะ
"We are shooting ourselves in the foot!" นักเศรษฐศาสตร์หลายคนบอก
แต่รัฐบาลก็ไม่ฟังเสียงจากนักเศรษฐศาสตร์เลย โดยพวกเขาใช้เหตุผลว่า ก็คนส่วนใหญ่โหวตให้ Brexit เกิดขึ้น เราก็ต้องทำให้ Brexit เกิดขึ้นตามเจตจำนงของประชาชน
สรุปก็คือ Brexit เกิดขึ้นจริงๆ และก็ทำให้มีผลกระทบที่เลวร้ายต่อเศรษฐกิจของ UK ที่ตอนนี้ก็ยังไม่ recover กลับมาเหมือนเดิมตามที่นักเศรษฐศาสตร์ได้คาดการณ์เอาไว้จริงๆ
และนี่ก็คือที่มาของ Bregret หรือ Brexit regret ของคนเกือบทั้งประเทศ
รัฐบาลที่ดีจึงควรจะรับฟังข้อมูลรอบด้านนะครับ เราสามารถเปลี่ยนใจตามข้อมูลใหม่ๆที่เข้ามาได้ (นักเศรษฐศาสตร์เราเรียกพฤติกรรมของการเปลี่ยนใจตามข้อมูลใหม่ๆที่เข้ามาว่า Bayesian Updating) ซึ่งรัฐบาลสามารถทำได้นะครับ ผมว่าถ้าอธิบายกับคนที่โหวตให้ดีๆถึงข้อมูลใหม่ๆที่เข้ามาว่ามันจะมีผลกระทบระยะยาวที่แย่ เขาน่าจะเข้าใจครับ