ยุทธศาสตร์ ‘ไทยเบฟ’ ลงทุนตลาดใหม่รอเติบโต ศึกษาโลจิสติกส์ในจีน เชื่อมภูมิภาคเอเชีย

ยุทธศาสตร์ ‘ไทยเบฟ’ ลงทุนตลาดใหม่รอเติบโต ศึกษาโลจิสติกส์ในจีน เชื่อมภูมิภาคเอเชีย
ไทยเบฟ ปี66/67 ลงทุน 7 พันล.บาท ใช้ 4 พันล.บาทตั้งโรงงานเบียร์ช้างในกัมพูชา ซื้อธุรกิจสุราในฝรั่งเศส-นิวซีแลนด์ เสริมแกร่งพอร์ตครบทุกเซ็กเมนต์ ยอดขายทั้งกลุ่ม 9 เดือนแรก 215,893 ล.บาทโต3.8%

ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ กลุ่มบริษัทไทยเบฟ เปิดเผยวิสัยทัศน์การดำเนินธุรกิจในกลุ่มบริษัทฯ มุ่งสู่การเติบโตอย่างสร้างสรรค์เพื่อความยั่งยืนในระยะยาว ภายใต้แนวคิด ‘อีเอสจี’ (ESG: Enabling Sustainable Growth)

ประกอบด้วย  3 เสาหลักแห่งการเติบโต คือ บริหารสมดุลตลาด (Balance Market) มีความหลากหลาย (Diversification) และ การขยายผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ (Extensive Product) ในพอร์ตโฟลิโอ เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่บริษัทมองว่าเป็นมากกว่าผู้บริโภคในตลาดใหม่ๆ ภายใต้ยุทธศาสตร์ ‘Seed for Growth’ หว่านเมล็ดพันธุ์เพื่อการเติบโตในอนาคต

โดยในช่วงที่ผ่านมา กลุ่มไทยเบฟ ได้เข้าซื้อธุรกิจแอลกอฮอล์ระดับพรีเมียมในตลาดวิสกีโลกใหม่ทั้งในฝรั่งเศส และ นิวซีแลนด์ เพื่อขายพอร์ตธุรกิจสุราให้ครอบคลุมทุกกลุ่มตั้งแต่ระดับแมสไปจนถึงพรีเมียม รวมถึงลงทุนโรงเบียร์ (Brewery) ในประเทศกัมพูชา และ ขยายตลาดในสปป.ลาว นอกเหนือจากการดำเนินธุรกิจในเมียนมา และ เวียดนามก่อนหน้านี้

นอกจากนี้ กลุ่มไทยเบฟฯ ยังมองอนาคตในธุรกิจการขนส่งกระจายสินค้า(โลจิสติกส์) ด้วยการเข้าไปยัง มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน เพื่อศึกษาองค์ความรู้ การทำงานขององค์กร นวัตกรรมเทคโนโลยีด้านต่างๆ เกี่ยวกับระบบโลจิสติกส์  เพื่อนำมาปรับใช้ร่วมกับธุรกิจในอนาคต ด้วยตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในเมืองดังกล่าวเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง

จากแนวทางดังกล่าว เพื่อผลักดันให้กลุ่มบริษัทไทยเบฟ มีการเติบโตในตลาดระดับทวีปที่มีตลาดการค้าติดต่อกันระหว่างอาเซียน (Continental Asean) และยังขยายตลาดจต่อไปในระดับเอเชีย ด้วย

จากปัจจุบัน กลุ่มบริษัทไทยเบฟ ติดอันดับ 9 ใน 10 บริษัทธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม(F&B) ที่มีมูลค่าทางการตลาดใหญ่สุดในเอเชีย ประกอบด้วย

1. Kweichow Moutai (จีน) มูลค่า 318.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

2. Wulianguia  (จีน) มูลค่า 90.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

3. Nongfu Spring (จีน)  มูลค่า 66.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

4. Budweiser APAC (ฮ่องกง)  มูลค่า 29.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

5. Yilli Group (จีน) มูลค่า 24.2 พันล้านดอลาร์สหรัฐฯ

6. China Resources Beer Holding (จีน) มูลค่า 21.4 พันล้านดอลาร์สหรัฐฯ

7. Asahi Group Holding (ญี่ปุ่น) มูลค่า 18.6 พันล้านดอลาร์สหรัฐฯ

8. Tsingtao Brewery (จีน) มูลค่า 16.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

9. กลุ่มบริษัทไทยเบฟ และ F&N (ไทย) มูลค่า 11.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

10. Kirin Holdings (ญี่ปุ่น) มูลค่า 11.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ฐาปน กล่าวว่า “กลุ่มไทยเบฟโตในระดับเอเชียแล้ว และจากการเข้าไปลงทุนในนิวซีแลนด์ กัมพูชา สปป.ลาว จะยังเป็นไปตามแนวทาง Seed For Growth พร้อมสร้างการเชื่อมโยงสิ่งใหม่ๆในตลาด อย่างด้านโลจิสติกส์ที่มีความอัจฉริยะ ทั้งด้านดิจิทัล แพลตฟอร์ม การวิเคราะห์ข้อมูล ฯลฯ เพื่อขยายการตลาดอาเซียนและเอเชียแบบเชื่อมต่อทั้งหมด ยังสอดคล้องกับการเติบโตธุรกิจยั่งยืน ในภารกิจหลักการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามแผน 2025 ด้วย”

โดยในปีงบประมาณ 2566/2567 กลุ่มไทยเบฟฯ ยังใช้งบลงทุนต่อเนื่องเพื่อจัดซื้อสินทรัพย์เพื่อดำเนินงาน (CAPEX) อยู่ที่ 7,000  ล้านบาท แบ่งเป็นการงทุนโรงงานเบียร์ในประเทศกัมพูชา ราว 4,000 ล้านบาท และส่วนที่เหลือ 3,000 ล้านบาท กระจายการลงทุนด้านอื่นๆในประเทศไทย

9 เดือนแรกยอดขายกว่า 2.15 แสนล.

สำหรับผลดำเนินการกลุ่มไทยเบฟ ใน 9 เดือนแรกปี 2566 มีรายได้จากการขาย 215,893 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.8% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากทุกกลุ่มธุรกิจมีรายได้การขายเพิ่มขึ้น

ขณะที่กำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) อยู่ที่ 37,765 ล้านบาท ลดลง 3.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากปัจจัยโดยรวม ทั้งรายได้การขายที่เพิ่มขึ้น การลงทุนในตราสินค้าและกิจกรรมทางการตลาด รวมถึงต้นทุนการผลิตสูงขึ้น

สุรายอดขายยังโต

ประภากร ทองเทพไพโรจน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด การเงินและบัญชีกลุ่ม และผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจสุรา กล่าวว่าในช่วง 9 เดือนแรกปี 2566 กลุ่มธุรกิจสุรามีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้น 3.3% เป็น 93,673 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีก่อน แม้ปริมาณขายรวมจะลดลงที่ 3.5% จากปีก่อนก็ตาม โดยมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคาและค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) เพิ่มขึ้นเป็น 23,763 ล้านบาท และมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคาและค่าใช้จ่ายตัดบัญชีต่อรายได้ (EBITDA margin) สูงขึ้นจาก 24.7% เป็น 25.4%

โดยการขยายตัวของอัตรากำไรมาจากการขึ้นราคาสินค้าและการเปลี่ยนแปลงส่วนประสมของผลิตภัณฑ์จากการบริโภคสุราสีที่เพิ่มขึ้นในประเทศไทย

สำหรับธุรกิจสุราในต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงธุรกิจในเมียนมามีการเติบโตทั้งรายได้และกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคาและค่าใช้จ่ายตัดบัญชี

“ธุรกิจสุรายังคงมีผลประกอบการที่แข็งแกร่งและผลกำไรที่มั่นคง ในประเทศไทย เราได้วางแผนการดำเนินงานที่ครอบคลุมไว้ล่วงหน้าเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับธุรกิจตั้งแต่ก่อนที่ตลาดจะกลับมาเปิดอีกครั้ง ซึ่งรวมถึงการเดินหน้าเสริมสร้างตราสินค้าหลักของเราอย่างรวงข้าว หงส์ทอง แสงโสม และเบลนด์ 285 ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยยังเป็นผู้นำในตลาดสุราขาวและสุราสี"

ขณะที่ตลาดในเมียนมา ผลิตภัณฑ์แบรนด์ แกรนด์ รอยัล วิสกี้ ยังรักษาตำแหน่งวิสกี้อันดับหนึ่ง ท่ามกลางความท้าทายในตลาด โดยคาดว่าอุปสงค์ต่อสินค้าและการเติบโตของธุรกิจจะยังคงดีอย่างต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปีนี้

สำหรับตลาดต่างประเทศกลุ่มไทยเบฟได้เข้าซื้อธุรกิจลาร์เซน คอนญัก (Larsen Cognac) ประเทศฝรั่งเศส และคาร์โดรนา ดิสทิลเลอรี่ (Cardrona Distillery) โดยการเข้าซื้อธุรกิจในครั้งนี้ นับเป็นก้าวแรกของกลุ่มในการเข้าสู่ตลาดคอนญักและตลาดสุราโลกใหม่ (New World Spirits) ซึ่งจะเข้ามาเติมเต็มกลุ่มตราสินค้าสุราที่เป็นที่ยอมรับและประสบความสำเร็จของกลุ่มไทยเบฟ

ส่งช้างเจาะตลาดเบียร์พรีเมียมกัมพูชา

ไมเคิล ไชน์ ฮิน ฟา ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจเบียร์ กล่าวว่าช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 ธุรกิจเบียร์มีรายได้จากการขายรวมเพิ่มขึ้น 0.7% เป็น 93,262 ล้านบาท แม้ว่าปริมาณขายรวมจะลดลง 5.2%

ขณะที่การลงทุนในตราสินค้า กิจกรรมทางการตลาด และแรงกดดันด้านการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับต้นทุนวัตถุดิบหลักและบรรจุภัณฑ์ที่สูงขึ้น ส่งผลให้กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคาและค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) ลดลงร้อยละ 19.8 เป็น 10,783 ล้านบาท”

สำหรับตลาดในกัมพูชา อยู่ระหว่างศึกษาแบบเพื่อก่อสร้างโรงงานผลิตเบียร์ช้างในกัมพูชา คาดใช้ลงทุน 4,000 ล้านบาท คาดเห็นความชัดเจนใน ภายใน2 ปี โรงงานจะมีกำลังผลิต 50 ล้านเฮกโตลิตรต่อปี   

โดยแผนดังกล่าว เพื่อรองรับโอกาสในตลาดปัจจุบันซึ่งมีผลิตภัณฑ์เบียร์ตราอังกอร์ (Angkor Beer) อยู่ในตลาดหลักเท่านั้น และมีมูลค่าตลาดเบียร์ราว 2,300 ล้านลิตร โดยกลุ่มไทยเบฟจะวางตำแหน่งสินค้าในกลุ่มพรีเมียม พร้อมวางเป้าหมายระยะยาวมีส่วนแบ่งตลาดราว 10%

จากก่อนหน้าเป็นการทำตลาดส่งออกเบียร์ในกัมพูชา ผ่านตัวแทนกระจายสินค้า IQPS Distributor ล่าสุดได้เข้าซื้อกิจการพร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น BevFood Trading ซึ่งเป็นธุรกิจในเครือไทยเบฟ ทำหน้าที่กระจายสินค้าต่างในพอร์ตฯ กลุ่มบริษัทในตลาด

สร้างผูกพันธ์ตลาดเบียร์ในไทย

ทรงวิทย์ ศรีธรรม ผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจเบียร์ ประเทศไทย กล่าวว่า แนวทางธุรกิจกลุ่มผลิตภัณฑ์ช้าง จะใช้กลยุทธ์ “Commercial Leadership” มุ่งสร้างการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคผ่านแคมเปญต่าง ๆ ที่ต่อยอดมาจากความรักที่ผู้บริโภคมีต่อตราสินค้า การถ่ายทอดเรื่องราวผ่าน “มิตรภาพ ฟุตบอล และดนตรี” ช่วยเสริมสร้างความใกล้ชิดและการมีส่วนร่วมไปจนถึงจุดขาย

พร้อมเพิ่มศักยภาพในการผลิตและบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยกลยุทธ์ “Cost Competitiveness” เน้นพัฒนา 4 ด้าน คือ การลดต้นทุนในการผลิตเบียร์ การจัดสรรทรัพยากรในห่วงโซ่อุปทาน การลดค่าใช้จ่ายในการโฆษณาและส่งเสริมการขาย และการพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิตซึ่งส่งผลให้มีอัตรายอดขายต่อจำนวนพนักงาน (Net Sales to Headcount ratio) ที่ดีขึ้น

นัน-แอลกอฮอล์ โต 15.6%

โฆษิต สุขสิงห์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงานดิจิทัลและเทคโนโลยี กล่าวว่า ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ มีรายได้จากการขายในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 เพิ่มขึ้น 15.6% เป็น 14,822 ล้านบาท มาจากปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น 8.7% ตามการบริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น

โดยการดำเนินแผนงานเพื่อบริหารต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ช่วยชดเชยต้นทุนที่สูงขึ้นได้บางส่วนจากการลงทุนในตราสินค้า กิจกรรมทางการตลาด และต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น ส่งผลให้กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคาและค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็น 1,773 ล้านบาท

ธุรกิจอาหาร ฟื้นตามเศรษฐกิจ

นงนุช บูรณะเศรษฐกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจอาหาร ประเทศไทย  กล่าวจากการเพิ่มขึ้นของการบริโภคภายในร้านอาหาร ประกอบกับการขับเคลื่อนการดำเนินกลยุทธ์ของกลุ่มอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มความสามารถในการเจาะตลาดและเข้าถึงลูกค้า ส่งผลให้ธุรกิจอาหารมีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้น 19.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็น 14,296 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566

อย่างไรก็ตาม กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคาและค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) ลดลง 8.4% เป็น 1,446 ล้านบาท จากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบ ค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค และต้นทุนค่าแรงงาน ประกอบกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นก่อนการเปิดร้านใหม่

ปัจจุบันไทยเบฟมีร้านอาหารทั้งหมด 771 ร้านในประเทศไทย โดยเปิดเพิ่มทั้งสิ้น 43 ร้านในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566