ธปท.ห่วง หนี้ครัวเรือนภาคอีสาน ภาระหนี้จ่ายต่อเดือนมากที่สุด หนี้ภาคเกษตรโตเร็วสุดรอบ 6 ปี
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาวิชาการ ประจำปี 2566 “ขับเคลื่อนภาคเกษตรอีสานให้ “เปลี่ยนผ่าน” สู่ความยั่งยืน” ที่จังหวัดขอนแก่น เรื่อง “ทิศทางเศรษฐกิจการเงินไทย” ว่า หนี้ครัวเรือนภาคอีสานมีภาระหนี้เฉลี่ยที่ต้องจ่ายต่อเดือนมากที่สุด โดยเฉพาะหนี้ภาคเกษตรที่โตเร็วมากที่สุดในรอบ 6 ปี เมื่อเทียบกับภาคอื่น และมีโอกาสจะกลายเป็นหนี้เรื้อรัง ที่ไม่สามารถปิดจบได้ รวมทั้งภาพรวมหนี้อีสานที่มีสัดส่วนหนี้ครัวเรือน (P-loan) สูงกว่าภาคอื่น
ซึ่ง ธปท. ไม่ได้นิ่งนอนใจ และให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง โดยได้ออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ให้ตรงจุดและยั่งยืน อาทิ หลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) เพื่อปรับพฤติกรรมเจ้าหนี้และลูกหนี้ ผ่านการยกระดับมาตรฐานกระบวนการให้สินเชื่อตลอดวงจรหนี้ นอกจากนี้ จะมีการกำหนดแนวทางให้เจ้าหนี้ช่วยเหลือลูกหนี้เรื้อรัง (persistent debt) เพื่อให้ลูกหนี้กลุ่มนี้สามารถปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้น และมีเงินเหลือพอดำรงชีพ
ด้านภาพเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวต่อเนื่องตามภาคการท่องเที่ยว แม้ว่า GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 66 ออกมาต่ำกว่าคาด
อย่างไรก็ดี แนวโน้มในปีนี้ยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว จากการท่องเที่ยวและการบริโภคที่ขยายตัว ทั้งนี้ ธปท. จะเผยแพร่ประมาณการเศรษฐกิจชุดใหม่ในเดือน ก.ย. 66 โดยคาดว่าจะปรับลดลงจากภาคการผลิตและการส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวช้ากว่าคาด จากการชะลอของเศรษฐกิจจีนและ Global Electronic Cycle ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยว ภาพรวมยังเพิ่มขึ้นได้ตามคาด แม้นักท่องเที่ยวจีนจะฟื้นตัวช้า
อย่างไรก็ดี คาดว่าอุปสงค์ในประเทศยังฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชน รายได้ และการจ้างงานนอกภาคเกษตรล่าสุดเดือน ก.ค. 66 ยังอยู่ในทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
สำหรับเศรษฐกิจอีสานฟื้นตัวช้ากว่าประเทศและทุกภาค เนื่องจากประเทศและภาคอื่นมีภาคการท่องเที่ยวมาสนับสนุน ขณะที่อีสานยึดโยงกับภาคเกษตรซึ่งมีปัจจัยกดดันจากภัยแล้ง สำหรับทิศทางนโยบายการเงินมาถึงจุดเปลี่ยนจากดูแลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวไม่สะดุด (Smooth take off) มาเป็นมุ่งเน้นดูแลเศรษฐกิจโดยรวมให้สอดคล้องกับเป้าหมายเงินเฟ้อ (1-3%) และศักยภาพเศรษฐกิจในระยะยาว (3-4%) ซึ่งมองว่ามีแนวโน้มเข้าใกล้จุดสมดุล (neutral) แล้ว
สำหรับแนวทางการยกระดับภาคอีสาน ควรผลักดันนโยบายจากพื้นที่ (Bottom-up) ทั้งจากภาคธุรกิจ ภาควิชาการ และประชาชนในพื้นที่ ในระยะยาวเห็นโอกาสของภาคอีสานที่มีศักยภาพจาก (1) การเติบโตของเมืองที่มากกว่าภาคอื่น ๆ เช่น จากข้อมูลดาวเทียมพบว่ามีการขยายตัวของพื้นที่ก่อสร้าง โดยเฉพาะในเมืองรอง (2) การค้าชายแดน ที่ระยะยาวคาดว่าจะดีขึ้น และ (3) ความได้เปรียบด้านประชากรที่มากกว่าภาคอื่น ๆ ซึ่งเป็นทรัพยากรผลักดันการเติบโตในอนาคต