แอร์เอเชีย ไม่ห่วงอุตฯการบินโค้งท้ายปี66 ผู้โดยสารเข้าเป้าแน่ 20 ล้านคน ชง3 เรื่องด่วนถึงรัฐบาลใหม่ ผ่านสมาคมธุรกิจสายการบิน เสนอราคากลาง 2 บาทภาษีฯน้ำมัน เว้นธรรมเนียมวีซ่า 6 เดือน ดึงจีนกลับไทย
สันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมการบินในช่วงไตรมาส3 และ ไตรมาส4 ปี2566 คาดมีแนวโน้มเติบโดตีต่อเนื่องจากครึ่งแรกของปีที่ผ่านมา ตามทิศทางอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยที่ฟื้นตัวและผลักดันให้สิ้นปีมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาไทย ตามเป้าหมายของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) วางไว้ที่ 25-30 ล้านคน
เพิ่มเส้นทางบินจีน-อินเดีย ปลายปี
ขณะที่ กลุ่มนักท่องเที่ยวจีนในไทยปี2566 ในครึ่งแรกปีนี้ เข้ามาแล้วเกือบ2 ล้านราย และใน 5-6 เดือนสุดท้ายของปี จะมีการเดินทางเร่งตัวต่อเนื่อง เพิ่มขึ้นเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 1.5 หมื่นรายต่อวัน และผลักดันให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ 4-5 ล้านราย ปีนี้
สำหรับปัจจัยกระทบตลาดนักท่องเที่ยวจีน มีทั้งจากปัญหาทางเศรษฐกิจภายใน ที่ขณะนี้เริ่มมาตรการกระตุ้นให้คนจีนเดินทางท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น และปัจจัยความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของคนจีนในไทย จากกระแสข่าวที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งติดตามพร้อมแก้ไข อาทิ แคมเปญเที่ยวไทยปลอดภัย เป็นต้น
ทั้งนี้ แอร์เอเชีย เตรียมแผนเพิ่มเป็น 138 เที่ยวบินซึ่งเป็นจำนวนเท่ากับช่วงก่อนโควิด (2562) จากปัจจุบันอยู่ที่ 108 เที่ยวบิน และมีเส้นทางบินตรงจากกรุงเทพฯ (ดอนเมือง) สู่ 11 เมือง จำนวน 18 เส้นทางบิน อาทิ กวางโจว ฉงชิ่ง เซินเจิน คุนหมิง หางโจว นานจิง ฉางซา มาเก๊า ซีอาน ฯลฯ และเตรียมเปิดเส้นทางบินไปยัง ปักกิ่ง ในเดือนตุลาคม ปีนี้
“แอร์เอเชีย มีแผนเพิ่มเครื่องบินสำรองอีก 5-7 ลำในครึ่งหลังของปีนี้ พร้อมเพิ่มความถี่เที่ยวบินต่อสัปดาห์ในเส้นทางประเทศจีน จากปัจจุบันอยู่ที่ 70 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เพื่อรองรับความต้องการผู้โดยสารชาวจีนที่คาดว่าจะมีจำนวนสูงขึ้นในครึ่งหลังของปีนี้” สันติสุข กล่าว
นอกจากนี้ ยังจะเปิดเส้นทางบินใหม่ในอินเดีย ไปยังเมือง 'อาห์เมดาบัด' ในปลายปีนี้ ด้วยเช่นกัน ส่วนในประเทศ จะเปิดเส้นทางบินเพิ่มในจังหวัดเลย และ ชุมพร ในไตรมาส3 ของปีนี้
ปี2567 ขยายฝูงบินครบ 60 ลำ
สันติสุข กล่าวว่า จากแนวโน้มการเติบโตในอุตสาหกรรมการบินดังกล่าว แอร์เอเชีย ยังวางแผนเพิ่มฝูงบินอย่างน้อย 5 ลำต่อปีโดยหมุนเวียนกลับ (Relocate) เครื่องบินมาใช้จากบริษัทแม่ ประเทศมาเลเซีย และคาดว่าในปี2567 จะมีจำนวนเฉลี่ยๆราว 60 ลำ เท่ากับในช่วงก่อนโควิด โดยในปี 2563 ไทยแอร์เอเชียได้ส่งคืนเครื่องบินไป 9 ลำ ทำให้มีจำนวนเหลืออยู่ที่ 54 ลำในปัจจุบันเพื่อให้บริการ
สำหรับการเพิ่มฝูงบิน เพื่อรองรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางกลับมายังกรุงเทพมหานคร ที่ปักหมุดให้เป็นจุดหมายปลายทางอันดับ1 ของโลก จะมีจำนวนมากขึ้น
และหากเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ในปี2567 แอร์เอเชียยังมีแผนขยายเส้นทางการบินระหว่างประเทศ (FD) ไปยังเมืองอื่นๆในประเทศญี่ปุ่น อาทิ ฮิโรชิมา โอกินาวา นอกเหนือจากฟูกุโอกะ ในปัจจุบัน
“ต้องรอความพร้อมของของ แอร์บัส321 ที่จะเข้ามาเพิ่มในฝูงบินใหม่สายการบินแอร์เอเชีย จากปัจจุบันมีรุ่นดังกล่าวจำนวน 2 ลำ ด้วยเป็นอีกหนึ่งตลาดเส้นทางบินในญี่ปุ่นที่มีความต้องการสูงโดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน มีนักเดินทางจากญี่ปุ่นบินมายังกรุงเทพสัดส่วนกว่า 30-40% ส่วนแอร์บัส 320 มีเส้นทางบินเมืองไทเป ประเทศใต้หวัน” สันติสุข กล่าว
ปัจจุบัน แอร์เอเชีย มีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Load Factor)เที่ยวบินระหว่างประเทศ เฉลี่ย 83% และ Load Factor ผู้โดยสารเที่ยวบินในประเทศอยู่ที่ 94% โดยเฉลี่ยอัตราการบรรทุกผู้โดยสารในภาพรวมแอร์เอเชีย ปัจจุบันอยู่ที่ 89% ซึ่งเป็นจำนวนผู้โดยสารที่กลับมามากกว่าช่วงโควิด
จากความพร้อมของฝูงบินและแผนธุรกิจที่วางไว้ตามเป้าหมายขนส่งผู้โดยสารปี 2566 ได้ 20 ล้านคน จากในครึ่งปีเเรก ขนส่งไปแล้วกว่า 9.22 ล้านคน และคาดว่ามีรายได้ไม่ต่ำกว่า 4.2 หมื่นล้านบาท
เสนอโมเดลภาษีน้ำมัน 2 บาทต่อลิตร
สันติสุข กล่าวต่อว่า หลังจากรัฐบาลชุดใหม่เข้ามา เชื่อว่าหากนโยบายที่ถูกต้อง โปรโมชันที่ถูกใจ ก็จะช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่เป็นรายได้หลักสำคัญของประเทศไทย ขับเคลื่อนไปต่อได้”
นอกจากนี้หากมองในภาพของสายการบินบินแอร์เอเชียในภาพรวม ยังพบว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวอินเดีย เริ่มกลับมาด้วยเช่นกัน รวมถึงกลุ่มประเทศเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ซึ่งกลุ่มหลังประเทศสิงคโปร์ เดินทางเข้ามาไทยเป็นอันดับหนึ่ง
เช่นเดียวกับแนวโน้มตลาดในประเทศ ที่ผู้โดยสารคนไทยยังเดินทางตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา และต่อเนื่องถึงไตรมาส4 ที่เป็นช่วงวันหยุดยาว
สันติสุข กล่าวต่อถึงแนวโน้มอัตราค่าบัตรโดยสารเครื่องบินแอร์เอเชีย ในขณะนี้ยังคงราคาเฉลี่ยในระดับที่แข่งขันได้ในภาพรวมของตลาด โดยราคาบัตรโดยสารจะขึ้นอยู่กับตลาดความต้องการ(ดีมานด์) และการจัดหา(ซัพพลาย) เป็นหลัก
ขณะที่ราคาบัตรโดยสารเที่ยวบินต่างประเทศนั้น ยังขึ้นอยู่กับดีมานด์ในตลาดเช่นกัน ซึ่งแอร์เอชัยจะใช้กลยุทธ์การทำตลาดโปรโมชันออกมาเฉลี่ยกับราคาบัตรโดยสารเพื่อกระตุ้นการเดินทางในแต่ละช่วง ออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีราคาสูงกว่าช่วงโควิดราว 10-20% ซึ่งหากนำกลยุทธ์ค่าบัตรโดยสารราคาต่ำกว่าทุนมาใช้ มองว่าไม่เป็นประโยชน์แต่อย่างใดในภาพรวม
ทั้งนี้ยังพร้อมร่วมหารือสมาคมธุรกิจสายการบินให้เป็นตัวแทนเสนอมาตรการเร่งด่วน เรื่อง ภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ที่ปัจจุบันกลับมาใช้ในอัตรา 4.726 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2566 เป็นต้นมา จากก่อนหน้ากระทรวงการคลัง มีมาตรการช่วยเหลือธุรกิจสายการบิน โดยเรียกเก็บในอัตรา 0.20 บาทต่อลิตร เพื่อบรรเทาและลดผลกระทบโดยตรงจากต้นทุนการดำเนินการของสายการบินที่สูงขึ้น และมีผลต่อการกำหนดอัตราค่าโดยสารของแต่ละสายการบิน
“จากการหารือร่วมกันผ่านสมาคมธุรกิจสายการบินในสัปดาห์ที่ผ่านมา จะเสนอโมเดลเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันในอัตราเฉลี่ยให้มาเจอกันในจุดตรงกลางอยู่ที่ราวๆกว่า 2 บาท ซึ่งหากทำได้ จะส่งผลดีต่อการกำหนดราคาบัตรโดยสารที่สามารถลดค่าเซอร์พาสส์ ลงได้ครึ่งหนึ่ง” สันติสุข กล่าว
เว้นค่าธรรมเนียมวีซ่าฯ จีน 6 เดือน
สันติสุข กล่าวว่า ในฐานะภาคเอกชนธุรกิจบริการสายการบิน มีความยินดีต่อการเข้ามาบริหารประเทศของรัฐบาลชุดใหม่ ที่ควรจะต้องเร่งสนับสนุนการเติบโตอุตสาหกรรมท่องเที่ยวด้วยเป็นภาคส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในเวลานี้
อย่างไรก็ตาม สายการบินมีข้อเสนอเเนะถึงรัฐบาลใหม่ ในการผลักดันนโยบาย เพื่อฟื้นธุรกิจการท่องเที่ยวเเละการบินได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อเศรษฐกิจในภาพรวม คือ
- การสนับสนุนนโยบายและเเคมเปญกระตุ้นการท่องเที่ยวไทยต่อเนื่อง เช่น การออกเแคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ ลดต้นทุนการท่องเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยวภายในประเทศ หรือโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง เพื่อกระจายเศรษฐกิจให้เติบโตทั่วภูมิภาค
- การพิจารณายกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมวีซ่า ณ ด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa on Arrival) เป็นการชั่วคราว (ระยะเวลา 6 เดือน) ให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีน เพื่อกระตุ้นให้มีการเดินทางมายังประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น โดยปัจจุบันมีค่าธรรมเนียม 2,000 บาทต่อคน
- การขยายสิทธิการบิน การขนส่งอากาศไทย – อินเดีย ให้สามารถเพิ่มความถี่ในการขนส่งทางอากาศในตลาดเอเชียใต้ และ 6 เมืองหลักของอินเดีย ประกอบด้วย นิวเดลี มุมไบ บังกาลอร์ โกลกาตา เชนไน ไฮเดอราบาด ซึ่งนักท่องเที่ยวชาวอินเดียเป็นหนึ่งในตลาดสำคัญของการท่องเที่ยวไทย