ปตท.วางแผนนำเข้าก๊าซฯจังหวะราคาถูก มีส่วนช่วยลดค่าไฟฟ้า ปีนี้มีโอกาสนำเข้า 6 ล้านตัน เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปีก่อน
นายนพดล ปิ่นสุภา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมา สถานการณ์วิกฤตราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นอันเป็นผลจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท. ได้ร่วมลดผลกระทบแก่ประชาชน และบริหารจัดการเพื่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ประกอบด้วย การจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) หรือ LNG แบบตลาดจร (SPOT) ในช่วงเวลาเร่งด่วน การจัดหาและสำรองน้ำมันดิบในภาวะการขาดแคลนทั่วโลก
ตลอดจนการบริหารต้นทุนพลังงาน ปรับการผลิตไฟฟ้าด้วยน้ำมันดีเซลในช่วงเวลาที่ราคาก๊าซสูง โดยแผนการจัดหา LNG จะประสานกับกระทรวงพลังงานโดยคำนึงถึงสัญญาซื้อขายที่มีราคาต่ำเพื่อทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าถูกที่สุด
ด้านนายพงษ์พันธุ์ อมรวิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ปตท. กล่าวว่า แผนการนำเข้า LNG ปีนี้ เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มราคาที่ลดลงมาก ซึ่งราคา SPOT เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 9 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู จากที่ปีที่แล้วที่เคยสูงสุด 80 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู โดยประเมินว่าราคาเฉลี่ยจนถึงปลายปีอยู่ที่ 15-20 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาLNG ลดต่ำลง เนื่องจากปริมาณสต๊อกของสหภาพยุโรปสูง ส่งผลให้มีปริมาณที่เกินความต้องการ ซึ่งการนำเข้าLNG แต่ละครั้งจะต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) โดยขณะนี้ได้นำเข้ามาแล้ว 60 ลำเรือ หรือประมาณ 4 ล้านตัน จากที่ปีที่แล้วนำเข้าประมาณ 53 ลำเรือ หรือ 3.3 ล้านตัน
“เชื่อว่าปีนี้ทั้งปี เมื่อมองจากสภาพเศรษฐกิจ ปริมาณนักท่องเที่ยว อากาศที่ร้อน ประกอบกับราคาLNG ที่ต่ำ มีโอกาสที่สามารถนำเข้าได้มากขึ้นหรือใกล้ 100 ลำเรือ ประมาณ 6 ล้านตัน”
อย่างไรก็ตามสำหรับหน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ มีสำนักงานการค้าอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ของทุกภูมิภาคทั่วโลก โดยในปี 2565 ที่ผ่านมา มีปริมาณการค้ารวมมากกว่า 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ครอบคลุมมากกว่า 70 ประเทศทั่วโลก และมีการจัดหาพลังงานทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเหลวจากหลากหลายภูมิภาคทั่วโลก เพื่อรองรับความต้องการพลังงานของประเทศ นอกจากนี้ ยังแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ อาทิ การเข้าสู่ตลาด Carbon Credit Trading และการค้าเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) เป็นต้น ซึ่งจะเป็นหนึ่งในกลไกที่ช่วยขับเคลื่อนกลุ่ม ปตท. และประเทศไทยเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emissions ตามที่กำหนดไว้
นายประสงค์ อินทรหนองไผ่ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย กล่าวว่า ปตท. ได้ดำเนินกลยุทธ์การดำเนินงานผ่านความร่วมมือภายในกลุ่ม ปตท. เพื่อคงความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจเดิม (Hydrocarbon based) และเป็นฐานต่อยอดธุรกิจใหม่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง (Advance Materials & Specialty Chemicals) ที่สอดคล้องกับการเติบโตตามกระแสโลก โดยสามารถเชื่อมโยงและเติมเต็มห่วงโซ่อุปทาน (Value Chain) ธุรกิจใหม่ ของกลุ่ม ปตท.
รวมถึงเพิ่มสัดส่วนธุรกิจคาร์บอนต่ำและธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน นอกจากนั้น ยังมีการนำเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือช่วยเสริมการบริหารจัดการเพื่อช่วยประกอบการตัดสินใจให้แก่ภาครัฐ อาทิ การใช้ระบบดิจิทัลมาวางแผนการผลิตน้ำมันในประเทศด้วยระบบดิจิทัล ผ่าน Hydrocarbon Value Chain Collaboration Center รวมถึงเครื่องมือในการบริหารจัดการทางเลือกใช้เชื้อเพลิงของประเทศในภาวะราคาพลังงาน ผันผวน เป็นต้น