คลัง-ธปท.รับมือภาษีทรัมป์ เบื้องต้น เตรียมแก้ปัญหาสภาพคล่องผู้ส่งออก 

คลัง-ธปท.รับมือภาษีทรัมป์ เบื้องต้น เตรียมแก้ปัญหาสภาพคล่องผู้ส่งออก 
“พิชัย” ถก “ผู้ว่าฯธปท.” ปมสหรัฐฯขึ้นภาษี เห็นตรงกันยังมีความไม่แน่นอนในการหาข้อยุติ ต้องเก็บข้อมูลให้ชัด ยันมีมาตรการรองรับผลกระทบของแต่ละธุรกิจ ประเมินเบื้องต้นต้องเตรียมแก้ปัญหาสภาพคล่องไว้ก่อน

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประชุมร่วมกับ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน และน.ส.พิมพ์พันธ์ เจริญขวัญ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธปท. โดยมี นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกฯ นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาด้านนโยบายของนายกฯ ในฐานะประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมหารือและรับฟังข้อมูลการเจรจากับสหรัฐอเมริกา เกี่ยวกับการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศไทย ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 16 เม.ย. 2568

นายพิชัย แถลงว่า ได้หารือกับผู้ว่าการ ธปท. กรณีที่รัฐบาลสหรัฐฯออกมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าตอบโต้ไทย 36% โดยตั้งสมมุติฐานที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเห็นตรงกันว่า มีความไม่แน่นอนในการหาข้อยุติ บางเรื่องก็ขัดกันเอง วันนี้จึงยังหาใครหรือไม่มีใครกล้าที่จะบอกได้ว่าจะจบอย่างไร เรื่องยังเปลี่ยนแปลงไปได้ทุกวันเรื่อยๆ อีกทั้งปัญหาที่เกิดขึ้นครั้งนี้ผลกระทบไม่ได้ตรงไปตรงมาที่มีปัญหาระหว่างไทยกับอเมริกา แต่ยังมีผลกระทบถึงประเทศอื่นด้วย โดยกติกาที่เปลี่ยนแปลงไปได้ส่งผลกระทบต่อตลาดเงิน ตลาดทุน เปลี่ยนไปเยอะ ไม่ว่าตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตร ผลตอบแทนจากการลงทุนและค่าเงินเปลี่ยนไปเยอะไปในทิศทางที่คาดเดาได้ลำบาก

“ได้มานั่งคุยกันสำหรับประเทศไทยก็มาคาดเดาว่ามีกรณีใดจะเกิดขึ้นได้บ้าง และกรณีที่เกิดอย่างนั้นแต่ละกลุ่มที่เกิดปัญหาก็ไม่เหมือนกัน มีทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก ทั้งธุรกิจของคนไทยและไม่ใช่ของคนไทย ส่วนมาตรการที่จะหยิบแก้ปัญหา ในอดีตมีมาตรการเยอะแต่วันนี้ไม่มีใครบอกได้ว่ามาตรการไหนดี สิ่งที่ทำคือต้องทำงานกันใกล้ชิดมากขึ้น เพื่อจะแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน เจอกันบ่อยขึ้น เพื่อดูว่ามีสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปมีอะไรส่งผลกระทบบ้าง และดูว่าเกิดอะไรขึ้นเพื่อหามาตรการชัดเจนและมาร่วมกันกำหนดมาตรการแก้ไข หากคิดช้าไม่ได้ และต้องคิดในหลายกรณีและเผื่อในกรณีร้ายแรงไว้ด้วย ถ้าเกิดขึ้นจะขนาดไหน” นายพิชัย กล่าว 

นายพิชัย กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม จากการที่ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออก  เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะมีผลต่อผู้ส่งออก วันนี้การส่งออกชะลอลง ไม่แน่นอน จะทำให้มีปัญหาด้านการขาย ขาดเงินทุนหมุนเวียน ปัญหาหนี้ที่ครบกำหนดต้องชำระ ขณะที่การนำเข้ามา เมื่อนำเข้าวัตถุดิบมาผลิตแล้วจะส่งต่อใคร จะมีปัญหาทั้งขาเข้าและขาออก สุดท้ายแล้วหากเป็นเหตุการณ์ไม่นานก็มีปัญหาสภาพคล่อง ก็ไปคิดโจทย์มาสภาพคล่องเกิดจากต้นเหตุอะไร จะได้หามาตรการตรงๆมาแก้ไข แต่วันนี้ยังไม่ได้ข้อยุติจะใช้มาตรการไหน ที่พูดกันแต่ละองค์กรน่าจะมีปัญหาสภาพคล่อง ส่วนนักลงทุนที่คิดลงทุนวันนี้มี 2 ประเภท คือ เร่งลงทุน และหยุดดูเลย ฉะนั้น การลงทุนก็จะเปลี่ยนไป ก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องติดตามเพราะบางคนอาจลงทุนไปแล้วหรือยังไม่ลงหรือลงครึ่งๆ ตรงนี้เราต้องสำรวจปัญหาทั้งหมด ภาพใหญ่คือต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทย

นายพิชัย กล่าวด้วยว่า  ในการหารือครั้งนี้ไม่ได้พูดถึงการลดดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งในสัปดาห์หน้าคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)จะมีการประชุมกันอยู่แล้ว ซึ่ง ธปท.เขาต้องติดตามและเอาเหตุการณ์มาประกอบอยู่แล้วโดยอัตราดอกเบี้ยก็สัมพันธ์กับเรื่องของและเงินเฟ้อ  

“ตอนนี้เรื่องภาษีเป็นเรื่องเล็กแล้ว สุดท้ายต้องเป็นไปตามกลไกล เพราะความสนใจของสหรัฐฯอยู่ที่มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี ส่วนการเดินทางวันไหนขอเตรียมการชัดๆแล้วจะบอกอีกที ทั้งนี้ไทยกับอาเซียนด้วยกันคงมีการแลกเปลี่ยนอะไรที่เป็นของร่วมกัน เช่น สินค้าบางอย่างอาจส่งไปอาเซียนก่อนส่งไปอเมริกาอีกที คุยกันเก็บข้อมูล แน่นอนปัญหาแต่ละประเทศไม่เหมือนกันเราต้องแก้ปัญหาของเราก่อน” นายพิชัย ระบุ

TAGS: #ภาษีสหรัฐ #ภาษีทรัมป์ #สหรัฐ #พิชัยชุณหวชิร #ผู้ว่าธปท #แบงก์ชาติ