กฟผ. ลุยศึกษาเทคโนโลยี SMR ตัวเปลี่ยนเกมพลังงานโลก

กฟผ. ลุยศึกษาเทคโนโลยี SMR ตัวเปลี่ยนเกมพลังงานโลก
กฟผ.ยกโมเดลโรงไฟฟ้า SMR เชิงพาณิชย์รุ่นแรกของโลก ที่มณฑลไห่หนาน  ไร้คาร์บอน ต้นทุนแข่งขันได้ ขนาดเท่า1รถบัส จ่ายไฟตลอด24ชม.

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กฟผ.อยู่ระหว่างการศึกษาเทคโนโลยี โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก หรือ SMR (Small Modular Reactor)เพราะตอบโจทย์ทั้งความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และมีต้นทุนค่าไฟฟ้าที่แข่งขันได้

ทั้งนี้ออกแบบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้มีขนาดเล็กลง ออกแบบให้ระบบเชื้อเพลิงและระบบผลิตไอน้ำอยู่ภายในโมดูลเดียวกัน ลดความซับซ้อนของระบบทำให้มีความปลอดภัยสูงขึ้น สามารถหยุดการทำงานได้เองเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน มีระบบระบายความร้อนไม่ต้องพึ่งพาไฟฟ้า อีกทั้งแร่ยูเรเนียมเป็นเชื้อเพลิงที่มีจำนวนมาก ราคาต่ำ ใช้ปริมาณน้อยแต่ให้พลังงานความร้อนมหาศาล ซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องนานถึง 24 เดือนและตะหยุดเดินเครื่องเพื่อเปลี่ยนเชื้อเพลิงบางส่วน 

นอกจากนี้การออกแบบที่มีความปลอดภัยมากขึ้นทำให้พื้นที่ในการจัดเตรียมแผนฉุกเฉินลดลงด้วย โดยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่อาจมีรัศมีถึง 16 กิโลเมตร ขณะที่โรงไฟฟ้า SMR มีรัศมีน้อยกว่า 1 กิโลเมตร เท่านั้น 

สำหรับโรงไฟฟ้า Hainan Changjiang NPP เป็นหนึ่งในตัวอย่างของการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดอย่างก้าวกระโดดของมณฑลไห่หนาน เนื่องจากเป็นพื้นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่มีทั้งขนาดใหญ่ที่เดินเครื่องแล้วและขนาดเล็ก (SMR : Small Modular Reactor) ซึ่งอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง โดยโรงไฟฟ้า SMR มีชื่อว่า ACP100 หรือ Linglong One  มีกำลังผลิต 125 เมกะวัตต์ (MWe) เป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัย ออกแบบพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จากขนาดใหญ่ให้มีขนาดเล็กลง มีความปลอดภัยสูงขึ้น มีขนาดเล็กสูง 10.8 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 4 เมตร หรือเทียบเท่ารถบัส 1 คัน หนักประมาณ 300 ตัน

 ส่วนเชื้อเพลิงที่ใช้คือ ยูเรเนียมออกไซด์ (ความเข้มข้นของ U-235 น้อยกว่า 5%) ปล่อยพลังงานความร้อนจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชัน สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องเปลี่ยนเชื้อเพลิงนานถึง 24 เดือน โดยคาดว่าจะเริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ภายในปี 2569 จะมีอายุการใช้งานถึง 60 ปี โดยใช้ขนาดพื้นที่ของโรงไฟฟ้าเพียง 125 ไร่เท่านั้น 

 นายวิรัตน์กล่าวว่า เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่น่าสนใจและต้องเร่งศึกษา รวมถึงเทคโนโลยี SMR ของประเทศอื่น ๆ ซึ่งมีการพัฒนามากกว่า 80 แบบ จาก 18 ประเทศทั่วโลก ต้องนำมาเปรียบเทียบว่าเทคโนโลยีใดดีที่สุดและเหมาะสมกับประเทศไทย

ขณะเดียวกันต้องดำเนินการ ควบคู่ไปกับการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนผ่านสื่อต่าง ๆ รวมทั้งหารือกับกระทรวงศึกษาธิการเพื่อบรรจุอยู่ในหลักสูตรสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาและมหาวิทยาลัยเพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงการทำงานและข้อดีของโรงไฟฟ้า SMR และเกิดการยอมรับซึ่ง กฟผ. ได้ศึกษาความเป็นไปได้และพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มานานกว่า 17 ปีแล้ว

“ไฟฟ้าเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และเป็นต้นทุนของทุกอุตสาหกรรม ดังนั้นการพัฒนาโรงไฟฟ้า SMR ที่ตอบโจทย์ความมั่นคง ไฟฟ้าสีเขียว และมีราคาแข่งขันได้ จะช่วยเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจและการแข่งขันของประเทศ”