‘สหพัฒนพิบูล’ (SPC) กับ ‘วิธีคิด’ ผู้บริหารเจนฯใหม่ ผ่านกลยุทธ์การตลาดขับเคลื่อนธุรกิจให้เข้าถึงใจผู้บริโภคทุกกลุ่ม พร้อมส่งต่อแบรนด์สู่องค์กรแห่งความยั่งยืน
‘สหพัฒนพิบูล’ (SPC) บริษัทจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคของไทย กับ ‘วิธีคิด’ ผู้บริหารเจนฯใหม่ ผ่านกลยุทธ์การตลาดขับเคลื่อนธุรกิจให้เข้าถึงใจผู้บริโภคทุกกลุ่ม พร้อมส่งต่อแบรนด์สู่องค์กรแห่งความยั่งยืน
ด้วยมุมมองสะท้อนผ่าน ‘คุณเพชร พะเนียงเวทย์’ กรรมการบริษัท และผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) หรือ SPC ได้บอกเล่าเรื่องราวและก้าวต่อไปของ ‘สหพัฒนพิบูล’ ต่อแนวคิดการทำงานในฐานะหนึ่งใน ‘Key Person’ ผู้บริหารรุ่นใหม่ขององค์กร
คุณเพชร เกริ่นถึงแนวทางการดำเนินงานของ ‘สหพัฒนพิบูล’ ในปัจจุบัน ได้มีการปรับโครงสร้างการบริหารองค์กรครั้งใหญ่ไปตั้งแต่ ปี 2554 พร้อมได้ Management Team รุ่นใหม่จาก 3 ส่วนงาน ได้แก่ การขนส่ง (Logistics) การสื่อสาร (Communication) และการผลิต (Production) มาร่วมวางแผนการบริหารธุรกิจให้มีความคล่องตัว ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค
พร้อมขยายภาพให้เห็นชัดว่า “โครงสร้างสหพัฒนพิบูลปัจจุบัน เปลี่ยนผ่านสู่ผู้บริหารเจนเนอเรชั่นสามของสหพัฒนพิบูล และเจนฯสองของทีเอฟ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าไม่ต่างมากนักจากยุคคุณบุญชัย โชควัฒนา ในฐานะเจ้านายของคุณพ่อ (พิพัฒน์ พะเนียงเวทย์) เป็นผู้ร่วมขับเคลื่อนองค์กรมาก่อนหน้า ที่ต่างยึดมั่นคุณค่าองค์กรตั้งแต่แรกเริ่ม คือ ความซื่อสัตย์ ในการดำเนินธุรกิจถึงในปัจจุบัน”
พร้อมขยายภาพให้เห็นชัดว่า “โครงสร้างสหพัฒนพิบูลในปัจจุบัน เปลี่ยนผ่านสู่ผู้บริหารเจนเนอเรชั่นสาม ซึ่งยังคงยึดมั่นคุณค่าองค์กรตั้งแต่แรกเริ่ม คือความซื่อสัตย์ ในการดำเนินธุรกิจ”
ตลอดสิบปีที่ผ่านมา การดำเนินงานของสหพัฒนพิบูลภายใต้ผู้บริหารเจนฯใหม่ ยังใช้จุดแข็งด้านประสบการณ์การทำงานของคนรุ่นเดิมมาผสมผสานกับแนวคิดของคนรุ่นใหม่ เพื่อสร้างความลงตัวให้ได้มากที่สุด
จากแนวทางดังกล่าว เป็นความท้าทายไม่ใช่น้อยสำหรับองค์กรใหญ่อย่าง ‘สหพัฒนพิบูล’ ที่ปัจจุบันมีพนักงานรวมกันไม่ต่ำกว่า 3,000 คน แบ่งเป็นฝ่ายงานสนับสนุนหลังบ้าน (Back Office) กว่า 1,500 และอีกเกือบ 1,500 คนเป็นทีมปฏิบัติการที่อยู่หน้าบ้านและทีมขายที่ทำงานให้บริการลูกค้าโดยตรง (Front Office)
คุณเพชร กล่าวว่า “การเปลี่ยนผ่านแนวทางการบริหารจัดการ อาจยังไม่เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็ว ด้วยในช่วงแรก ๆ จำเป็นเก็บข้อมูลเพื่อศึกษาและเข้าใจถึงที่มาที่ไป และค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนหรือกระทบต่อการดำเนินงานในปัจจุบัน”
เรื่อง ‘วัฒนธรรมองค์กร’ ของสหพัฒนพิบูลในปัจจุบันซึ่งมีความพร้อมมากต่อการ ‘สนับสนุน’ การทำงานทุกระดับ ตำแหน่งและหน้าที่ในสายปฏิบัติงานเสมือน ‘พี่สอนน้อง’ โดยอาศัยประสบการณ์ความเก๋าของธุรกิจที่มีอายุร่วม 8 ทศวรรษ มาถ่ายทอดให้กับคนรุ่นใหม่ที่ได้เข้ามาร่วมงานกับองค์กร
และในทางกลับกัน ‘สหพัฒนพิบูล’ ก็พร้อมที่จะ ‘รับฟัง’ ไอเดีย แนวคิดต่างๆ จากคนรุ่นใหม่เพื่อนำมาปรับใช้กับองค์กรให้มีความร่วมสมัย และยังเปิดรับผู้บริหารระดับมืออาชีพ จากภายนอกเข้ามาร่วมงานกับองค์กรในอนาคตด้วย
คุณเพชร กล่าวว่า“การเบลนด์ระหว่างคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่เพื่อสร้างการทำงานให้สอดคล้องในปัจจุบัน เป็นชาเลนจ์ที่จะต้องปรับระบบการทำงานให้สอดคล้องและสื่อสารด้วยภาษาที่เข้าใจร่วมกันให้มากขึ้น”
สู่องค์กรคนรุ่นใหม่
จากการเดินทางร่วม 8 ทศวรรษของ ‘สหพัฒนพิบูล’ ถึงวันนี้ ยังสะท้อนถึงความแข็งแกร่งของแบรนด์องค์กร (Corporate Branding) ได้เป็นอย่างดี ด้วยหากพูดถึงบุคลิกของ สหพัฒนพิบูล ก็ต้องย้อนกลับไปที่ Core Value องค์กรด้าน ‘ความซื่อสัตย์’ ที่กล่าวไว้ข้างต้น และนำมาบวกกับ คุณค่าขององค์กรที่ส่งมอบให้พนักงาน Employer Value Proposition (EVP) ที่วางไว้ 3 คุณค่าหลัก คือ ‘ความร่วมมือ ร่วมใจ’ (Collaboration) ‘รู้จริง ทำจริง เชี่ยวชาญ’ (Expertise) ‘ความภาคภูมิใจคู่สังคมไทย’ (Pride) พร้อมการทำงานด้วย ที่บ่งบอกความเป็นมืออาชีพในธุรกิจคอนซูเมอร์ โปรดักส์ที่ผู้บริโภคมั่นใจได้เป็นอย่างดี
คุณเพชร เสริมว่า จากจุดแข็งข้างต้นขององค์กร เมื่อนำมาบอกเล่าเรื่องราวร่วมกับสินค้าพระเอก ‘Hero Products’ ที่มีในกลุ่มสินค้าอุปโภคในเครือไลอ้อน อย่างผงซักฟอกเปา โชกุบุสซึ ซอลส์ หรือ กลุ่มสินค้าบริโภคเช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรามาม่า น้ำแร่มองต์เฟลอ ที่ลูกค้าต่างรู้จักเป็นอย่างดีแล้ว ซึ่งจะเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่นำมาใช้ดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาร่วมงานกับสหพัฒนพิบูลได้ด้วยเช่นกัน
คุณเพชร เสริมว่า “ในอดีตคนหางานจากทำเลและมองที่ตึกนั้น ๆ ว่ามีบริษัทใดน่าสนใจตั้งอยู่บ้าง ก่อนตัดสินใจเลือกและส่งใบสมัครงานไป แต่ตอนนี้มีเทคโนโลยี มีอุปกรณ์ มีจีพีเอสเข้ามาช่วยให้ไม่ต้องใช้วิธีหางานแบบเดิมอีก ซึ่งจากจุดแข็งของสหพัฒน์ที่มีอยู่ ทั้งทำเลที่ตั้งอยู่บนถนนเพชรบุรี-ตัดใหม่ ชื่อเสียงองค์กร การมีรายได้และกำไร ตัวสินค้า และการให้ผลตอบแทนพนักงานที่จูงใจ ทั้งหมดจะเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาร่วมงานกับสหพัฒนพิบูลได้ด้วยเช่นกัน”
พร้อมเสริมว่า“อย่างการทำตลาดมาม่าไม่ใช่แค่เพื่อขายมาม่าเฉพาะเป็นสินค้าคอนซูเมอร์ แต่จะยังสะท้อนให้ทุกคนได้รู้จักสหพัฒนพิบูลอีกด้วย ซึ่งเราเองอยากให้คนรุ่นใหม่มีแนวคิดว่าอยากทำการตลาดให้มาม่าจัง และพร้อมจะสนุกไปกับแบรนด์ด้วยกัน ซึ่งสหพัฒนพิบูลเองก็พร้อมเวลคัม พร้อมสร้างบรรยากาศการทำงานให้คนมาทำงานด้วยแล้วมีความสุข เพราะกว่าครึ่งชีวิตของแต่ละคนต่างต้องอยู่ในที่ทำงาน”
2 สูตรย้ำแบรนด์แกร่ง ‘มาม่า’
จากแนวคิดการทำตลาดดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้ ‘มาม่า’ เป็นสินค้าที่ยังคงอยู่ในตลาดมานานถึง 53 ปี
ขณะที่ ‘คุณเพชร’ บอกว่าการจะทำแบรนด์ให้มีอิมแพ็คในตลาดและครองใจผู้บริโภคได้อย่างต่อเนื่องนั้น จะต้องใช้ ‘ความคิดสร้างสรรค์’ นอกเหนือจากสูตรการตลาดฉบับคลาสสิค 4Ps (Product, Price, Place, Promotion) ที่ปัจจุบันการตลาดสูตรนี้ได้ขยายไปอีกหลากหลาย P แล้ว
โดยในช่วงที่ผ่านมา ‘มาม่า’ ได้นำสินค้าเข้าไปมีส่วนร่วมการทำตลาดครอบคลุมในทุกกลุ่มเป้าหมายได้แล้วนอกเหนือจากนำแบรนด์เข้าไปมีส่วนร่วมกับเยาวชนคนรุ่นใหม่ผ่านกิจกรรมเพื่อสังคมในโครงการ ‘สหพัฒน์แอดมิชชั่น’ ที่ดำเนินการถึงในปัจจุบันเป็นครั้งที่ 27 แล้ว
ช่วงกลางปีที่ผ่านมา ‘สหพัฒนพิบูล’ ยังได้ใช้แคมเปญใหญ่ในการทำตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่า เพื่อสื่อสารกับผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ด้วยกลยุทธ์การตลาดผ่านดนตรี (MAMA Music Marketing) ผ่านพรีเซ็นเตอร์ กลุ่มศิลปิน ทรีแมนดาวน์( THREE MAN DOWN) ทิลลี่เบิร์ดส์ (TILLY BIRDS) และอิงค์-วรันธร เปานิล (INK WARUNTORN) ไปพร้อมกันด้วย
พร้อมขยายแนวคิดว่า ด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปเข้าไปอยู่ในสื่อสังคมออนไลน์รูปแบบใหม่ ทำให้การทำตลาดมาม่าต้องปรับตัวตาม ซึ่งโจทย์ตอนนี้ของมาม่า คือ การเป็นสินค้าที่เข้าถึงผู้บริโภคทุกกลุ่มครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งการเลือกใช้เคโอแอล (KOLs) หรือผู้มีอิทธิพล (Influencers) มาใช้ร่วมกับการสื่อสารการตลาดให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย (Target) ของแบรนด์จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก
“การใช้ศิลปิน ทรีแมนดาวน์ และทริลลี่เบิร์ดส์ มาทำการตลาดร่วมกันกับมาม่าเพื่อสื่อสารไปถึงผู้บริโภคในวงกว้างระดับทั่วทั้งประเทศผ่านแคมเปญ “อยากมาม่า ก็มาม่าดิ” และใช้ภาพยนต์โฆษณา ในช่องทางมีเดียดั้งเดิมทั่วไป ซึ่งแคมเปญฯนี้ได้การตอบรับดีทั้งในแง่การจดจำและการรับรู้แบรนด์มาม่า โดยเฉพาะในตลาดต่างจังหวัด” คุณเพชร กล่าวพร้อมเสริมว่า
ขณะที่ อิงค์-วรันธร จะเป็นตัวแทนสินค้าที่ออกมาสื่อสารกับผู้บริโภคในกรุงเทพฯ เพื่อสะท้อนภาพลักษณ์แบรนด์มาม่า ในกลุ่มสินค้าระดับพรีเมี่ยม อย่าง MAMA OK เป็นหลัก
“การใช้พรีเซ็นเตอร์มาม่า ในครั้งนี้ให้ผลตอบรับการรับรู้สินค้าได้ตรงโจทย์กับกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกันตามแผนที่กำหนดไว้ทั้ง 2 ทาร์เก็ต” คุณเพชร กล่าวพร้อมเสริมว่า
อย่างไรก็ตาม มาม่าเตรียมปรับกลยุทธ์พร้อมนำข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้จากแคมเปญฯในปีนี้มาปรับใช้ในการทำตลาดสินค้าเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากสุด และนำไปสู่การสร้างยอดขาย (Conversion) ของสินค้าที่ทำตลาดออกไปโดยจะสื่อสารร่วมกับผู้บริโภคให้ตรงกลุ่มเป้าหมายได้ดียิ่งขึ้นในปีหน้าด้วย
ไม่ว่าเศรษฐกิจแบบไหน ‘มาม่า’ ก็ขายได้
ขณะที่ปัจจุบันบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่า บรรจุซอง ราคา 7 บาท ใน 3 รสชาติที่ขายดีตลอดกาล อย่าง ต้มยำกุ้ง หมูสับ และ ต้มยำกุ้งน้ำข้น ครองสัดส่วนยอดขายได้กว่า 80% ซึ่งในตลาดนี้ยังมีความน่าสนใจอีกว่า มาม่าในกลุ่มพรีเมี่ยม อย่าง มาม่าโอเคฯ ราคาซองละ 15 บาท เป็นกลุ่มสินค้าที่มียอดขายเติบโตสูงที่สุดในตอนนี้อีกด้วย
คุณเพชร บอกว่า “แนวโน้มดังกล่าว ยังลบภาพจำดัชนีเศรษฐกิจประเทศที่มักสะท้อนผ่านบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอีกด้วย จากเดิมที่มักกล่าวกันว่าหากเศรษฐกิจไม่ดีคนจะกินมาม่า ซึ่งอันที่จริงแล้วในสมัยนั้นการบริโภคบะหมี่กึ่งฯ เป็นทางเลือกของผู้คนในยุคโรงงานอุตสาหกรรมที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมง แรงงานมีการสลับเปลี่ยนการเข้าทำงานตามกะเวลา และเมื่อเลิกงานยามค่ำคืนร้านอาหารมักปิดหมดแล้ว”
ขณะที่ตัวเลือกของกินใน ‘หนึ่งอิ่ม’ ที่เข้ามาแก้หิวได้สะดวกที่สุดในเวลานั้น คือ ‘มาม่า’ ที่ต่อมาชื่อแบรนด์ได้กลายมาเป็นคำสามัญ (Generic Name) ของบะหมี่กึ่งฯ ในปัจจุบันซึ่งมีสินค้าหลากหลายทั้งรสชาติและระดับราคาที่กว้างมาก ตั้งแต่ซองละ 7 บาท ไปจนถึง 60 และ 70 บาทไปแล้ว โดยมีมูลค่าตลาดรวมบะหมี่กึ่งฯอยู่ที่ราวสองหมื่นล้านบาท
เสริมแกร่ง มุ่งสู่องค์กร 100 ปี
คุณเพชร กล่าวว่า นอกจากแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่างทีมบริหารเจนฯใหม่ของสหพัฒนพิบูล ที่กล่าวไว้ข้างต้น ไปพร้อมกับการขับเคลื่อนการทำตลาดผ่านสินค้าเรือธง ‘มาม่า’ พร้อมใช้เครื่องมือสำคัญในการส่งผ่านความแข็งแกร่งของแบรนด์องค์กร ที่จะสื่อสารกับผู้คนภายนอกด้วยโลโก้ (Logo) ของสหพัฒนพิบูลในปัจจุบัน ที่ใช้ตัวย่อภาษาอังกฤษ ‘SPC’ (SAHAPAT) ซึ่งสะท้อนวิถีการทำงานร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ที่ประกอบเป็นค่านิยมองค์กร (Core Value) อย่างชัดเจน ดังนี้
- อักษรตัว S (Social Responsibility) รับผิดชอบต่อสังคม
- วงกลมสามมิติ (Advancement) พัฒนาไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง
- การรวมตัวแบบหยิน-หยาง (Harmony) รวมพลังด้วยความสามัคคี
- สีแดง (Passion for Excellence) ความมุ่งมั่นสู่ความเป็นเลิศ
- สี่เหลี่ยม (Truthfulness) องค์กรคนดีที่ซื่อสัตย์และยุติธรรม
“สัญลักษณ์สหพัฒนพิบูล หรือ SPC ที่ภายนอกเป็นวงกลมยังต้องการสื่อสารถึงความไม่มีเหลี่ยมมุมใด ๆ กับผู้คนรอบนอก ส่วนรูปสี่เหลี่ยมภายในสะท้อนถึงรูปแบบการทำงานขององค์กรที่มีระเบียบ กฎเกณฑ์ ใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติงานร่วมกัน” คุณเพชร อธิบายเสริม พร้อมกล่าวทิ้งท้ายว่า
ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมความพร้อมเพื่อส่งต่อให้สหพัฒนพิบูลในอีก 18 ปีข้างหน้า ธุรกิจจะมีอายุครบในปีที่100 ในฐานะบริษัทดิสตริบิวเตอร์ของคนไทยที่แข็งแกร่ง และพร้อมมีส่วนร่วมสำคัญในการอยู่คู่กับสังคมไทยต่อไปในอนาคตอย่างยั่งยืนด้วย