ยุทธศาสตร์สำนักงาน คปภ. ระยะ 3 ปีข้างหน้า มุ่งยกระดับธุรกิจประกันภัยให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน กำหนด 5 ผลลัพธ์หลัก (EP 2)
นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ให้สัมภาษณ์พิเศษ สำนักข่าว The Better ว่า สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย ได้มีการวางหลักการการกำกับดูแลอุตสาหกรรมประกันภัยที่ดี และเพื่อกำหนดเป้าหมายแนวทางการดำเนินการ ซึ่งครอบคลุมทิศทางสำคัญทั้งหมดและเป็นการต่อยอดความสำเร็จจากแผนยุทธศาสตร์ฯ ฉบับที่ผ่านมา โดยในปีนี้ เป็นปีแรกของการขับเคลื่อนภายใต้แผนยุทธศาสตร์ ฉบับใหม่ ซึ่งจะใช้ในการกำหนดทิศทางการดำเนินงานของสำนักงาน คปภ. ในระยะ 3 ปี ข้างหน้า (พ.ศ. 2567 - 2569) ซึ่งได้กำหนดวิสัยทัศน์ คือ “สำนักงาน คปภ. เป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมประกันภัยไทย ให้เติบโต มั่นคง และยั่งยืน”
แผนยุทธศาสตร์สำนักงาน คปภ. ระยะ 3 ปีข้างหน้า มุ่งยกระดับธุรกิจประกันภัยให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืนในมิติต่างๆ เพิ่มความสามารถและศักยภาพในการแข่งขันของภาคธรุกิจ ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชน และสนับสนุนการนำประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงในการดำเนินชีวิตและดำเนินธุรกิจ รวมถึงสนับสนุนอุตสาหกรรมและองค์กรให้ปรับตัวทันการณ์ มีความคล่องตัว อันเป็นพื้นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมประกันภัย เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศต่อไป โดยได้กำหนด 5 ผลลัพธ์หลัก (Key Results) เพื่อให้สอดรับกับวิสัยทัศน์ข้างต้น ประกอบด้วย
Key Result 1 : ธุรกิจประกันภัยมีความยืดหยุ่น คำนึงถึงความยั่งยืน ปรับตัวได้เท่าทันความเสี่ยง
และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง (Insurance Resilience)
แนวทางการดำเนินงานที่สำคัญ (Key Initiative)
1.1 พัฒนาแนวทางการกำกับดูแลเชิงรุกที่มีความยืดหยุ่น ผสมผสาน และเหมาะสม กับลักษณะที่แตกต่างของบริษัทประกันภัย ด้วยเครื่องมือทันสมัย เพื่อให้สามารถกำกับความเสี่ยง ได้อย่างเท่าทัน โดยการติดตามและดำเนินมาตรการกำกับดูแลบริษัทประกันภัยตามระดับความเสี่ยง (Insurance Business Monitoring and Risk-based Solvency Supervision : IRiS) เพื่อประเมินแนวโน้มฐานะความมั่นคงของบริษัทประกันภัยและจัดกลุ่มบริษัทประกันภัย และดำเนินมาตรการกำกับดูแลบริษัทประกันภัยเชิงรุก (Forward looking and Pro-active intervention) รวมถึงการเข้าตรวจสอบบริษัทตามแผนการตรวจสอบ (Regular Examination) เพื่อประเมินความเสี่ยงและจัดกลุ่มบริษัทตามระดับความเสี่ยงของบริษัท และ การตรวจสอบเฉพาะเรื่อง (Target Examination) สำหรับกลุ่มบริษัทประกันภัยที่ต้องตรวจติดตามอย่างใกล้ชิด อีกทั้งยังมีการกำกับดูแลเสถียรภาพระดับมหภาคของธุรกิจประกันภัย โดยจัดประเมินความทนทานของธุรกิจประกันภัยภายใต้สถานการณ์ความเสี่ยงจำลอง (Stress Test) เพื่อให้สามารถนำไปวางแผนในการใช้กำกับดูแล และติดตามความเสี่ยงของธุรกิจประกันภัยไทยได้อย่างเหมาะสม โดยมีการยกระดับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี พัฒนาเครื่องมือใหม่ และใช้ประโยชน์จากข้อมูลในการกำกับดูแล (SupTech) เช่น ระบบสารสนเทศสนับสนุนงานตรวจสอบบริษัทประกันภัย (On-site examination) เพื่อช่วยในการประเมินความเสี่ยงให้สามารถกำหนดมาตรการกำกับแทรกแซง และแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุได้อย่างมีประสิทธิภาพ ระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการรวบรวมและประเมินความเสี่ยงและการดำเนินธุรกิจประกันภัย (Insurance Electronic Assessment Survey System : IEASSy) ระยะที่ 2 เพื่อรองรับการจัดทำแบบประเมินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการจัดทำแบบประเมินตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ และเพิ่มมุมมองการวิเคราะห์ข้อมูลให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ระบบเสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อยกระดับการติดตามความเสี่ยงของบริษัทประกันภัย (Strengthening the Capability of Insurance Companies’ Risk Monitoring System : SCOMs) ระยะที่ 2 ให้สามารถประเมินความเสี่ยงของภาคธุรกิจในภาพรวมและรายบริษัทได้ ระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อการรับ-ส่งข้อมูลธุรกิจประกันภัย (Digital Insurance Information Platform for Electronic Filing System: DIIP) ระยะที่ 2 ในการสนับสนุนและยกระดับการนำส่งข้อมูล
ด้านสถิติประกันภัยของบริษัทประกันภัยให้กับสำนักงาน คปภ. นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการเตรียมการรองรับการบังคับใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับใหม่ (TFRS 17) โดยมีการดำเนินการต่างๆ ได้แก่ การจัดทำแนวทางในการพัฒนาหลักเกณฑ์การกำกับความมั่นคงทางการเงินที่เหมาะสมกับบริบทของธุรกิจประกันภัย
ในประเทศไทย และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการประเมินราคาทรัพย์สินและหนี้สิน
และการดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยง การกำหนดให้ภาคธุรกิจจัดทำงบการเงินตาม TFRS17
ในช่วงปฏิบัติคู่ขนาน (Parallel run) การพัฒนาแนวทางการตรวจสอบสมมติฐานทางคณิตศาสตร์ประกันภัย
ที่บริษัทใช้ในการคำนวณอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (CAR) ของบริษัทประกันวินาศภัย
รวมถึงติดตามความพร้อมของบริษัทประกันภัยในการปฏิบัติตาม TFRS 17 ของบริษัทประกันภัย พัฒนาระบบการยื่นรายงานทางอิเล็กทรอนิกส์และการจัดทำฐานข้อมูลตามมาตรฐานรายงานทางการเงิน TFRS 17
เพื่อการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย ผลักดันการปรับแก้ไขกฎหมายแม่บทว่าด้วยการประกันภัยให้มี
ความเหมาะสมกับธุรกิจประกันภัย บริบทความเสี่ยงใหม่ และมาตรฐานสากล และจัดทำกรอบแนวทาง
การเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG ของบริษัทประกันภัย
1.2 เพิ่มศักยภาพในการบริหารความเสี่ยงของธุรกิจประกันภัย เพื่อให้บริษัทประกันภัย ทั้งขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก (Proportionate) สามารถรับมือกับความผันผวนที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคตได้ มีการจัดทำแนวปฏิบัติเพื่อให้ธุรกิจประกันภัยมีแนวทางที่เป็นกรอบมาตรฐานในการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ (Climate Risk Management Guideline) เพื่อให้สามารถรับมือ และมีความยืดหยุ่น (Resilience) ต่อทั้งความเสี่ยงทางกายภาพและความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจในอนาคต ส่งเสริมและสนับสนุนให้ธุรกิจประกันภัยมีวัฒนธรรมความเสี่ยง (Risk Culture) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับคณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูงของบริษัท
1.3 สนับสนุนการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่ที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยี และใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลต่างๆ รวมถึงการออกหลักเกณฑ์สำหรับการประกอบธุรกิจประกันภัย บนช่องทางดิจิทัล ศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะและคุณสมบัติผู้เล่นที่ไม่ได้ประกอบธุรกิจ (non-performing player) และแนวทางในการบริหารจัดการ
1.4 ยกระดับธุรกิจประกันภัยไทยให้ก้าวล้ำ แข่งขันได้ในเวทีสากล รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ ส่งเสริมและยกระดับความร่วมมือกับหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยหรือหน่วยงานของต่างประเทศ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย การแลกเปลี่ยนข้อมูลและความร่วมมือด้านการพัฒนาความรู้ด้านการกำกับดูแล รวมถึงการกำกับดูแลแบบรวมกลุ่ม และผลักดันให้มี Insurance Community หรือ Insurance Institute ระดับนานาชาติ รวมถึงสร้างศูนย์กลางวิชาการ ศูนย์การเรียนรู้ การประชุม การสัมมนา เป็นประจำและต่อเนื่อง
1.5 ส่งเสริมศักยภาพของบุคลากรในระบบประกันภัย ให้สอดรับการเติบโตของธุรกิจ มีมาตรฐานและคุณภาพสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ได้แก่ ผู้บริหารระดับสูงของบริษัท บุคลากรของบริษัท ผู้ประเมินวินาศภัย และหน่วยงานการศึกษา
Key Result 2 : ประชาชนและภาคเอกชน เข้าใจ เข้าถึง และเชื่อมั่นระบบประกันภัย (Consumer Education, Outreach and Advocacy)
โดยการส่งเสริมการเรียนรู้ในการปรับรูปแบบเนื้อหาและสื่อ การส่งเสริมความรู้พื้นฐาน ให้ประชาชนและภาคธุรกิจ การเพิ่มบทบาทหน่วยงานอื่นๆ ในการให้ความรู้ การยกระดับคนกลางประกันภัยในการให้คำแนะนำและความรู้พื้นฐาน (Agent to Financial Advisor) รวมถึงการมีจริยธรรม โปร่งใส ผลักดันในการป้องกัน และติดตามการฉ้อฉลประกันภัย
แนวทางการดำเนินงานที่สำคัญ (Key Initiatives)
2.1 เสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการประกันภัยและเงื่อนไขความคุ้มครอง ผลักดันให้ผลิตภัณฑ์ประกันภัยอยู่ในทุกช่วงชีวิตและการดำเนินธุรกิจ โดยการผสานเทคโนโลยี การวิเคราะห์ข้อมูลและพฤติกรรมผู้บริโภค ศึกษา วิเคราะห์ และรวบรวมข้อมูล เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะในการกำหนดรูปแบบและช่องทางการสื่อสารด้านการประกันภัยที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงข้อเสนอแนะในการส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้สอดคล้องกับความต้องการและความเสี่ยงของทุกกลุ่มเป้าหมาย อีกทั้งผสมผสานช่องทางและเครื่องมือที่เหมาะสม ทั้งเครื่องมือ online ควบคู่กับการดำเนินการ Onsite เพื่อให้ความรู้ด้านการประกันภัยที่สอดคล้องกับความต้องการในพื้นที่
2.2 เพิ่มบทบาทและการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบูรณาการร่วมเสริมสร้างความตระหนักรู้ ความเชื่อมั่น และการเข้าถึงระบบประกันภัยให้กับประชาชนและภาคเอกชน โดยการเสริมสร้างพันธมิตรและพัฒนาเครือข่ายเพื่อส่งเสริมความรู้ด้านประกันภัย โดยขยายผลไปยังบุคลากรของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีศักยภาพ สามารถเข้าถึงประชาชนในระดับอำเภอ ตำบล และพื้นที่ทั่วประเทศ โดยบุคลากรของหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการจะได้นำความรู้ ความเข้าใจ ข้อมูลข่าวสารด้านการประกันภัยไปขยายผลต่อชุมชนในท้องถิ่น จัดให้มีอบรมความรู้ด้านการประกันภัยและการจัดกิจกรรมสานสัมพันธ์เครือข่ายอาสาสมัครประกันภัยทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดเครือข่ายที่มีศักยภาพและมีบทบาทในชุมชนในการให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่
2.3 ยกระดับมาตรฐานการให้บริการด้านประกันภัย พฤติกรรมทางการตลาด และการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของภาคธุรกิจและคนกลางประกันภัย ผ่านการติดตามและวิเคราะห์พฤติกรรมทางการตลาดของคนกลางประกันภัย รวมถึงการตรวจสอบนายหน้าประกันภัยนิติบุคคล และเพิ่มเติมการตรวจสอบหน่วยงานจัดสอบและจัดอบรมทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค เพื่อให้มีการปฏิบัติตามระเบียบหลักเกณฑ์ที่กำหนดและเป็นมาตรฐานเดียวกัน และเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลคนกลางประกันภัยและผู้ประเมินวินาศภัย ด้วยการพัฒนาแพลตฟอร์มระบบ E-Licensing เพิ่มเติมให้รองรับการรายงานข้อมูลผลการดำเนินงาน ของคนกลางประกันภัยทุกประเภท พัฒนาระบบการพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตตัวแทนประกันภัยและนายหน้าประกันภัย กรณีการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการประกันภัย ด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) มีการยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัยด้วยการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และเสริมสร้างศักยภาพในการดำเนินงานไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัย และปรับมาตรฐานการให้บริการ โดยการกำหนด Service Level Agreement (SLA) ในการให้บริการผู้เอาประกันภัยและประชาชน
2.4 สร้างกลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและติดตามการฉ้อฉลประกันภัย โดยการพัฒนาระบบการพิจารณาลงโทษตัวแทน/นายหน้าประกันภัยที่กระทำความผิด ระบบฐานข้อมูลการพิจารณาการทุจริตเบี้ยประกันภัยเพื่อป้องกันการทุจริตและลงโทษผู้กระทำความผิดได้ และระบบฐานข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำความผิดฉ้อฉลประกันภัยของตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัย รวมถึงจัดทำร่างระเบียบ/ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการในการพิจารณาคุณสมบัติและความเหมาะสมของตัวแทนและนายหน้าประกันภัย เพื่อเป็นการยับยั้งและป้องกันการฉ้อฉลประกันภัยจากตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัย และเพื่อให้บริษัทประกันภัยใช้ในการตรวจสอบ คัดกรอง ประวัติที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัย มีการติดตามและปราบปรามการฉ้อฉลประกันภัยอย่างต่อเนื่อง และดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) เมื่อตรวจพบว่าการฉ้อฉลประกันภัยเกิดขึ้น
Key Result 3 : ธุรกิจประกันภัยมีมาตรฐานและโครงสร้างพื้นฐานที่เพียงพอเหมาะสม สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ยั่งยืน หลากหลาย และสะท้อนความเสี่ยงเฉพาะราย (Personalized and Connected Customer Need)
การส่งเสริมการออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่ๆ ให้มีความหลากหลายและสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ และการปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้ออกสู่ตลาด
ได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงมีการคำนึงถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น และสามารถพัฒนาประกันสุขภาพให้มี
ความเข้มแข็ง และส่งเสริมความร่วมมือกับภาครัฐในการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ประกันภัยขั้นพื้นฐานที่จำเป็นให้กับประชาชน
แนวทางการดำเนินงานที่สำคัญ (Key Initiatives)
3.1 วางรากฐานโครงสร้างเทคโนโลยีสารสนเทศและพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย ในการศึกษาต่อยอดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย (Insurance Product Development Database) โดยประสานกับหน่วยงานกำกับดูแลและบริษัทประกันภัยในต่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลผลิตภัณฑ์ประกันภัย และนำมาจัดทำฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์ประกันภัยจากต่างประเทศ แนวทางการกำกับดูแลและการบริหารความเสี่ยง เพื่อสามารถนำข้อมูลไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยและจัดทำกรอบและแนวทางเพื่อให้บริษัทประกันวินาศภัยสามารถเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับฐานข้อมูล IBS เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลในการวิเคราะห์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของประชาชน และมีการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันสำหรับภารกิจของหน่วยงาน และขยายการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่จำเป็นและตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของประชาชน
3.2 ปรับปรุงกรอบการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ประกันภัย และนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้เพื่อส่งเสริมให้นำเสนอผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดได้เร็วขึ้นกว่าเดิม และบริหารจัดการความเสี่ยงจากการรับประกันภัยได้ดียิ่งขึ้น โดยให้มีการยกระดับมาตรฐานคณะกรรมการผลิตภัณฑ์ประกันภัย (Product Governance Committee (PGC)) ของบริษัทประกันภัย เพื่อให้บริษัทประกันภัยกำกับดูแลตนเองได้ดียิ่งขึ้น และสำนักงาน คปภ. สามารถผ่อนคลายกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ประกันภัย โดยการทบทวนแนวปฏิบัติสำหรับ PGC และคู่มือการกำกับและประเมินผลการปฏิบัติงานของ PGC ให้สอดคล้องกับลักษณะและความซับซ้อนในการดำเนินงานของบริษัทแต่ละขนาด รวมถึงการทบทวนหลักเกณฑ์การบริหารความเสี่ยงเกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย โดยมีกรอบการบริหารความเสี่ยงจากการรับประกันภัยที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถติดตามและกำกับดูแลความเสี่ยงได้อย่างทันท่วงที และการกำหนดเบี้ยประกันภัยโดย PGC และสนับสนุนให้บริษัทประกันภัยเข้าร่วมโครงการทดสอบนวัตกรรมทางด้านประกันภัยและผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่สะท้อนความเสี่ยงเฉพาะราย (Product Innovation and Tailor Made Sandbox) เพื่อเร่งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่ๆ ที่รองรับความต้องการและรูปแบบการดำเนินชีวิตของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างรวดเร็ว และหลากหลายมากขึ้น
3.3 ผลักดันและพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้สอดคล้องกับความต้องการที่หลากหลายของประชาชน รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือกับภาครัฐ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยขั้นพื้นฐาน ส่งเสริมให้บริษัทประกันภัยมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่ที่ตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของประชาชน และผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่คำนึงถึงหลักการของ ESG และสร้างความร่วมมือและส่งเสริมความต้องการการรับประกันภัยตามภารกิจหน่วยงานภาครัฐ พร้อมส่งเสริมให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่และผลิตภัณฑ์ขั้นพื้นฐานที่จำเป็น รวมไปถึงส่งเสริมผลิตภัณฑ์ประกันภัยเชิงรุกสู่ระดับภูมิภาคอย่างยั่งยืน โดยสำรวจผลิตภัณฑ์ในระดับพื้นที่ส่วนภูมิภาคและร่วมบูรณาการร่วมกับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยเพื่อตอบสนองความต้องการในพื้นที่ รวมถึงการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจและประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่ๆ ให้กลุ่มเป้าหมายได้รับรู้ในวงกว้าง
Key Result 4 : ธุรกิจประกันภัยฟื้นตัว เติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยระบบนิเวศด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ฐานข้อมูล และโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม (Digital Ecosystem and Infrastructure to Sustain Insurance System)
ส่งเสริมให้ธุรกิจประกันภัยปรับรูปแบบในการดำเนินธุรกิจทั้งในเชิงรุกและเชิงรับให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยพัฒนาเทคโนโลยีและโครงสร้างระบบเทคโนโลยีสารสนเทศให้สอดรับกับสภาพแวดล้อมใหม่และเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมรับความเสี่ยงที่สำคัญที่อาจเกิดขึ้น
แนวทางการดำเนินงานที่สำคัญ (Key Initiatives)
4.1 บูรณาการฐานข้อมูลกลางด้านการประกันภัยให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น พร้อมพัฒนากฎเกณฑ์และกลไกสนับสนุนให้เกิดระบบนิเวศจากการเชื่อมต่อหลายระบบ มีการต่อยอดการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลกลางด้านประกันภัย (Insurance Bureau System) เพื่อสนับสนุนการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย และการพัฒนารูปแบบการดำเนินธุรกิจ ขยายขอบเขตการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานรัฐอื่นๆ เช่น สปสช. เพื่อประมวลผลสนับสนุนการสร้างผลิตภัณฑ์ประกันภัยเพิ่มเติม ขับเคลื่อนให้เกิดประกัน top up จากสวัสดิการแห่งรัฐ สนับสนุนการใช้ข้อมูลเพื่อพัฒนาธุรกิจ พัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการของประกันภัย เช่น เชื่อมโยงข้อมูลกับภาคธุรกิจประกันวินาศภัยในระดับ Micro Segmentation เช่น ข้อมูลการทำประกันภัยรถยนต์และการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เป็นต้น และขอบเขตการให้บริการและใช้ประโยชน์จาก OIC Gateway แพลตฟอร์มกลางในการเชื่อมโยงข้อมูลของระบบประกันภัยที่สอดคล้องกับบริบทของธุรกิจประกันภัย ผ่าน LINE Official Account “คปภ. รอบรู้ (@OICConnect)” โดยเชื่อมโยงข้อมูลทั้งอุตสาหกรรมประกันภัย ระหว่างสำนักงาน คปภ. บริษัทประกันภัย และภาคประชาชนเข้าด้วยกันตอบโจทย์ผู้เอาประกันภัยในยุค Digital Lifestyle ในระยะที่ 1 มุ่งเน้นการให้บริการแก่ประชาชนทั่วไป โดยได้เปิดตัว “กรมธรรม์ของฉัน หรือ My Policy” การสืบค้นข้อมูลกรมธรรม์จากบริษัทประกันภัยทั่วประเทศ บริการตรวจสอบสถานะใบอนุญาตตัวแทนประกันภัยและนายหน้าประกันภัย บริการตรวจสอบตำแหน่งที่ตั้งสำนักงาน คปภ. (ส่วนกลางและ ส่วนภูมิภาค) และบริษัทประกันภัย บริการเชื่อมโยงระบบต่างๆ ของสำนักงานคปภ. โดยในช่วงต้นปีนี้ ได้เพิ่มเติมบริการใหม่ เช่น บริการ “My Coverage” การสรุปข้อมูลความคุ้มครองประกันภัยทั้งหมด ของแต่ละบุคคล บริการคำนวณสิทธิประโยชน์ทางภาษี และแสดงประวัติการเคลมประกันรถยนต์ภาคสมัครใจ รวมถึงได้เชื่อมโยง OIC Gateway กับแอพพลิเคชั่น “ทางรัฐ” ของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ซึ่งจะขยายวงการให้บริการแก่ประชาชนได้กว้างยิ่งขึ้น และในระยะถัดไปจะประยุกต์ใช้ AI Question And Answering Machine (GPT-based) ให้มีความสามารถเข้าใจคำถามที่มีความซับซ้อน และสามารถให้คำตอบในลักษณะภาษาโต้ตอบคล้ายมนุษย์ได้ดียิ่งขึ้นได้ รวมถึงการให้บริการทายาทสามารถตรวจสอบข้อมูลกรมธรรม์ประกันภัยของผู้เสียชีวิตได้
4.2 ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในระบบนิเวศอุตสาหกรรมประกันภัย (Insurance Ecosystem) ผ่านการสร้างเครือข่ายและองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการประกันภัย เพื่อสนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในธุรกิจประกันภัย โดยจะมีการจัดงานสัมมนาต่างๆ ที่สำคัญ เช่น งาน InsurTech Summit เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และแสดงนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีประกันภัย (InsurTech Showcase) สร้างเครือข่ายและโอกาสในการจับคู่ขยายธุรกิจระหว่างผู้พัฒนานวัตกรรมและบุคลากรด้านเทคโนโลยี และสารสนเทศของธุรกิจประกันภัย มีการส่งเสริมความตระหนักรู้และปลูกฝังแนวคิดในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการประกันภัยให้กลุ่มนิสิตนักศึกษา บุคคลทั่วไป บุคลากรในวงการประกันภัย รวมถึง Tech Firms และ Startups ผ่านโครงการ CIT Academy 2024 การจัดกิจกรรม InsurTech Bootcamp and Awards เป็นต้น และส่งเสริมให้บริษัทประกันภัย นายหน้าประกันภัย และผู้พัฒนานวัตกรรมเข้าร่วมการทดสอบนวัตกรรมในโครงการ Insurance Regulatory Sandbox เพิ่มมากขึ้น ซึ่งได้มีการปรับรูปแบบการทดสอบ กรอบวิธีการประเมินโครงการให้มีความชัดเจน สามารถสะท้อนลักษณะหรือปัจจัยที่เป็นข้อกังวลของ แต่ละโครงการ รวมถึงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง
4.3 ยกระดับความพร้อมในการรับมือความเสี่ยงให้บริษัทประกันภัย สามารถรับมือกับ ภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้อย่างทันการณ์ โดยมีการประเมินระดับความพร้อมด้านการรับมือภัยคุกคามทาง ไซเบอร์ (Cyber Resilience Assessment framework : CRAF) โดยการจัดประเมินความเสี่ยงด้าน Cyber risk ตามกรอบมาตรฐาน Cyber Resilience Assessment สำหรับธุรกิจประกันภัย เพื่อให้ธุรกิจประกันภัยสามารถพัฒนาแนวทางในการกำกับดูแลด้าน Cybersecurity สำหรับธุรกิจประกันภัยให้มีความพร้อมสู่ระดับ Resilience มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลการใช้บริการจากผู้ให้บริการภายนอกด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Outsourcing Guideline) เพื่อพัฒนาแนวทางการกำกับดูแลด้านการใช้งานเทคโนโลยีให้เหมาะสม เพื่อให้ธุรกิจประกันภัยมีแนวปฏิบัติการใช้บริการจากผู้ให้บริการภายนอกด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่สอดคล้องกับปัจจุบัน และดำเนินการร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงิน เพื่อเสริมสร้างความพร้อมรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ของภาคการเงิน โดยการจัด Financial Sector Cyber Exercise ทดสอบความพร้อมการรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ให้กับหน่วยงานในภาคการเงิน เช่น ธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน และบริษัทประกันภัย เป็นต้น รวมถึงการจัดกิจกรรม Capacity Building ให้กับผู้บริหารของหน่วยงานในภาคการเงินเพื่อสร้างความตระหนักในการรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์
Key Result 5 : การพัฒนาสู่องค์กรยั่งยืนที่คล่องตัว ทันสมัย และมีเป้าหมายร่วมกันให้ OIC เป็นองค์กร แห่งความภาคภูมิใจของคนไทย (Agile, Innovative and Sustainable Organization) การเร่งพัฒนาองค์กรและบุคลากรให้มีความคล่องตัว พร้อมทั้งขับเคลื่อนการดำเนินงาน ทั้งกระบวนการภายในและภายนอกองค์กรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาลเพื่อมุ่งสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน แนวทางการดำเนินงานที่สำคัญ (Key Initiatives)
5.1 พัฒนารูปแบบการทำงานภายในสำนักงาน คปภ. ให้มีความคล่องตัว รวมถึงปรับปรุงกระบวนการทำงานและผสานนวัตกรรม พัฒนาระบบงานเพื่อสนับสนุนและรองรับการดำเนินงานต่างๆ ภายใน และเพิ่มศักยภาพของระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีของสำนักงานเพื่อรองรับการทำงานรูปแบบใหม่ และพร้อมรับมือภัยคุกคามทางด้านไซเบอร์ของสำนักงาน คปภ. เช่น การพัฒนาแพลตฟอร์มบริหารจัดการระบบงานในรูปแบบ Kubernetes Cluster รองรับการทำงานของระบบงานในรูปแบบของ Cloud Native และรองรับพัฒนาระบบงานในรูปแบบใหม่ เอื้อให้ทีมผู้พัฒนา (Developers) ทีมผู้ให้บริการ (Operation) และทีมที่รับผิดชอบการดูแลความมั่นคงปลอดภัยของระบบ (Security) สามารถทำงานร่วมกันได้ อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังมีการปรับโครงสร้างองค์กรและปรับแนวทางการทำงานในรูปแบบ Team-based structure และการทำ Matrix Structure
5.2 ปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กร และสร้างความผูกพันในองค์กร (Employee Engagement) ให้มีความคล่องตัวสูง และส่งเสริมการทำงานร่วมกัน โดยมีการสื่อสารและปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กร กับพนักงานอย่างต่อเนื่อง (New ways of working cultivation) ผ่านการจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้น ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของพนักงานในกิจกรรมด้านทรัพยากรบุคคลต่างๆ เช่น Townhall Meeting เพื่อให้เลขาธิการสื่อสารนโยบายใหม่ๆ กับพนักงานในแต่ละไตรมาส เปิดโอกาสให้พนักงานได้แสดงศักยภาพและนำเสนอแนวคิดการทำงานใหม่ๆ ผ่านกิจกรรม Show & Share และส่งเสริมเรื่องจรรยาบรรณ คุณธรรมจริยธรรม และธรรมาภิบาลให้แก่พนักงานยึดถือปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ
5.3 พัฒนาศักยภาพบุคลากรให้มีความพร้อมและเท่าทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้บุคลากรมีประสิทธิภาพสูง เท่าทันเทคโนโลยี ปรับตัวได้รวดเร็วต่อการเปลี่ยนแปลง โดยพัฒนาบุคลากรตามกรอบการพัฒนาบุคลากรของสำนักงาน คปภ. (OIC People Development Framework) ใน 3 มิติ ประกอบด้วย
1) Foundation Program ตั้งแต่การเตรียมความพร้อมสำหรับ พนักงานใหม่ การเตรียมความพร้อมสำหรับพนักงานที่ปรับเลื่อนตำแหน่ง การเตรียมความพร้อม สำหรับพนักงานโอนย้ายระหว่างส่วนกลางและภูมิภาค รวมทั้งการเตรียมความพร้อมก่อนเกษียณอายุ
2) Insurance & Business Program และ 3) Competency Program การเสริมสร้างสมรรถนะหลัก (Core Competency) การพัฒนาทักษะด้านการบริหารจัดการ (Leadership Competency) การพัฒนาทักษะในการปฏิบัติงาน (Functional & Technical Competency) และการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล (To be Digitized Regulator) ที่ครอบคลุมพนักงานในทุกระดับตำแหน่ง อีกทั้งยังมุ่งเน้นการประเมินผลแบบ Measurable goal techniques ด้วย
5.4 ผลักดันให้เกิดการทำงานที่พิจารณาถึงผลกระทบด้าน ESG ผ่านการจัดกิจกรรมต่างๆ ทั้งในด้านข้อมูลวิชาการและการได้ปฏิบัติกิจกรรม พร้อมทั้งช่วยหาแนวทางแก้ไขในทางที่ถูกต้องและเหมาะสมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของพนักงานสำนักงาน คปภ. และมีการเข้าร่วมการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส ในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment : ITA)