"ชูฉัตร ประมูลผล" เลขาธิการ คปภ. มุ่งเน้นส่งเสริมระบบการประกันภัย ให้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทย
นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ให้สัมภาษณ์พิเศษ สำนักข่าว The Better ในการดำเนินการ 5 ด้านที่สำคัญ ที่จะทำให้ คปภ. เป็นองค์กรกับดูแลบริษัทประกันภัยและประกันชีวิต ให้มีความแข็งแรงยั่งยืน เป็นที่เชื่อมั่นของประชาชนของผู้ทำประกันทุกคน ประกอบด้วย
EP 1 ธุรกิจประกันภัยมีส่วนอย่างไรในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบเศรษฐกิจและสังคม
นายชูฉัตร กล่าวว่า สำนักงาน คปภ. มีภารกิจหลักในการกำกับและพัฒนาธุรกิจประกันภัยให้มีความเข้มแข็งมั่นคง รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนให้ธุรกิจประกันภัยมีบทบาทสร้างเสริมความแข็งแกร่งให้ระบบเศรษฐกิจสังคม
ของประเทศและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ตลอดจนคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัย
เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและทัศนคติที่ดีให้กับประชาชน โดยขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้แผนพัฒนา
การประกันภัย ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2564-2568) ร่วมกับภาคธุรกิจประกันภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
อาทิ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงาน ก.ล.ต. โดยได้กำหนดวิสัยทัศน์ของแผนฯ
คือ “ระบบประกันภัยไทย มีความมั่นคง ยั่งยืน และแข่งขันได้ในเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชนเข้าถึงการประกันภัยและใช้ประโยชน์ในการรองรับ
ความเสี่ยง” ในขณะเดียวกัน สำนักงาน คปภ. มุ่งเน้นการผลักดันให้ระบบประกันภัยมีบทบาทในการสนับสนุนระบบเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน โดยดำเนินการภายใต้ยุทธ์ศาสตร์ที่ 3 ของแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 4 เพื่อให้ระบบประกันภัยเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทย ซึ่งปัจจุบัน
โลกได้เกิดการเปลี่ยนแปลงและมีความผันผวนเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และภัยพิบัติที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ล้วนแล้วแต่ส่งผลให้หลายประเทศทั่วโลกต้องเผชิญกับผลกระทบหลายมิติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากการระบาดของโรคโควิด-19 ประชาชน และภาคธุรกิจตระหนักถึงความสำคัญของการประกันภัยมากขึ้น รวมถึงสภาพเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว ส่งผลให้ความต้องการความคุ้มครองด้านการประกันภัยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
นอกจากนี้ การประกันภัยยังช่วยบริหารความเสี่ยงให้กับภาครัฐได้ในการช่วยให้ความคุ้มครอง
ต่อทรัพย์สินภาครัฐ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีการทำประกันภัย ทำให้เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้น ภาครัฐต้องสูญเสียงบประมาณในการซ่อมแซมหรือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ สำนักงาน คปภ. จึงให้ความสำคัญ
กับการส่งเสริมให้ระบบประกันภัยมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้มี
ความมั่นคง พร้อมรับมือกับความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งผลักดันให้มีพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย
ที่จำเป็นและมีความหลากหลายที่รองรับและให้ความคุ้มครองกับภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงประชาชน
โดยมีการดำเนินการผ่านกลยุทธ์ที่สำคัญ 3 ประการ ดังนี้
1. สนับสนุนการบริหารความเสี่ยงและการดำเนินนโยบายภาครัฐ
การประกันภัยถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการบริหารความเสี่ยงที่ช่วยสร้างหลักประกันความมั่นคงให้กับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนทุกระดับ รวมถึงช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐด้านสวัสดิการและการสงเคราะห์ประชาชนอีกทางหนึ่งด้วย อีกทั้งยังมีส่วนช่วยสังคมและประชาชนในการเตรียมพร้อมรับมือและช่วยบรรเทาผลกระทบจากความสูญเสียและความเสียหายให้กับภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม เนื่องจาก
ภัยพิบัติที่เกิดขึ้น นอกจากนี้การประกันภัยยังมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาตลาดเงินและตลาดทุน เพื่อให้มีแหล่งเงินทุนสำหรับภาครัฐและภาคเอกชนนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ อาทิ ระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ การลงทุนในเมกกะโปรเจคต่างๆ เป็นต้น ซึ่งธุรกิจประกันภัยเป็นหนึ่งในสถาบันการเงินที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างคุณค่าเพิ่มในห่วงโซ่คุณค่าของระบบเศรษฐกิจของประเทศใน 2 มิติ ดังนี้
1 การเป็นผู้ลงทุนสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในการสร้างขีดความสามารถ ในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว ผ่านการลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ
2 การพัฒนารูปแบบกรมธรรม์ประกันภัยใหม่ๆ เพื่อรองรับนโยบายของรัฐบาล ตลอดจนรองรับความเสี่ยงของผู้ประกอบการและประชาชนให้มีหลักประกันความคุ้มครองจากระบบประกันภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนากรมธรรม์ประกันภัยที่สนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย เกษตรกร ผู้สูงอายุ และประชาชนทั่วไป อาทิ การประกันภัยความรับผิดของผู้ขนส่ง การประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก การประกันภัยรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) การประกันสุขภาพ และการประกันภัยสำหรับผู้สูงอายุ ดังนั้น ธุรกิจประกันภัยจึงถือเป็น ภาคการเงินหนึ่งที่สามารถช่วยขับเคลื่อนนโยบายภาครัฐในด้านการบริหารความเสี่ยงสำหรับประชาชน ในระดับมหภาค เพื่อช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ ซึ่งสำนักงาน คปภ. ได้มีการกำหนดมาตรการที่สำคัญ ดังนี้
1.1 บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย และ การบริหารความเสี่ยงในระดับประเทศ โดย
- ส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่จำเป็นและตอบสนองความต้องการของประชาชน
ที่หลากหลายมากขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์ประกันภัยเพื่อผู้สูงอายุ ผลิตภัณฑ์ประกันภัยรายย่อย (Micro Insurance) ผลิตภัณฑ์ประกันภัยเกษตรกรรม (Agricultural Insurance) เป็นต้น
- พัฒนากฎหมายแม่บทด้านการประกันภัยที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย เช่น พ.ร.บ. การประกันภัยทางทะเล พ.ร.บ. การประกันภัยทางด้านเกษตรกรรม พ.ร.บ. การประกันสุขภาพ เป็นต้น
- ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสำนักงาน คปภ. ภาคธุรกิจ และหน่วยงานอื่น ๆ (Cross-Sectoral Cooperation) เพื่อพัฒนาธุรกิจประกันภัยและเพิ่มบทบาทต่อภาคธุรกิจต่างๆ ในประเทศ เช่น การกำหนดมาตรฐานค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาล การจัดทำแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ การนำระบบประกันสุขภาพภาคเอกชน เสริม เติม สิทธิค่ารักษาพยาบาลให้กับระบบหลักประกันสุขภาพ 3 ระบบหลัก (ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประกันสังคม และข้าราชการ) การร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและบริษัทประกันภัยในการใช้ทรัพยากรร่วมกันในการรับประกันภัยตามนโยบายภาครัฐ เช่น การประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น
- เสริมสร้างศักยภาพในการรับเสี่ยงภัยของประเทศ โดยการสนับสนุนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยที่มีความจำเป็นต่อการยกระดับความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มศักยภาพการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ
1.2 ผลักดันให้นำการประกันภัยไปใช้ในการบริหารความเสี่ยงของภาครัฐ โดย
- สนับสนุนให้ภาครัฐใช้ผลิตภัณฑ์ประกันภัยในการบริหารความเสี่ยงภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐ รวมถึงการดำเนินงานอื่นๆ ที่อาจเกี่ยวข้อง เช่น แนวทางการกำหนดการทำประกันภัย ในสัญญาของรัฐต่างๆ เป็นต้น
- ส่งเสริมธุรกิจประกันภัยในการรับประกันภัยและลงทุนในสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับโครงการลงทุนขนาดใหญ่และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น การลงทุนในหุ้นกู้ของบริษัทที่อยู่ในเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก (EEC) เป็นต้น
เสริมสร้างความมั่นคงทางการเงิน มาตรฐานการดำเนินธุรกิจ และการบริหารความเสี่ยงของธุรกิจประกันภัย
นายชูฉัตร กล่าวว่า จากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วก่อให้เกิดความเสี่ยงใหม่ๆ (Emerging Risk) ที่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจและความมั่นคงทางการเงินของบริษัทประกันภัย ดังนั้น การพัฒนาแนวทางและมาตรฐานในการบริหารความเสี่ยงของธุรกิจประกันภัยเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยยกระดับความมั่นคงทางการเงิน และทำให้บริษัทประกันภัยอยู่รอดและเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว
ปัจจุบันสำนักงาน คปภ. ได้มีการติดตามและประเมินความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมประกันภัยไทย เช่น ความเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจมหภาค ความเสี่ยงด้านเครดิต ความเสี่ยงด้านการตลาด และความเสี่ยงด้านการกระจุกตัว เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยมากมายที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมประกันภัยไทย ไม่ว่าจะเป็น โรคระบาด โรคอุบัติใหม่ ภัยธรรมชาติ ภัยทางไซเบอร์ นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Aged Society) ย่อมส่งผลกระทบต่อกรอบการกำกับดูแลเชิงระบบและเสถียรภาพโดยรวมของธุรกิจประกันภัย ดังนั้น เพื่อให้ธุรกิจประกันภัยมีความมั่นคง มีมาตรฐานในการดำเนินงาน และขีดความสามารถในการแข่งขันที่รองรับความเสี่ยงใหม่ที่เกิดขึ้น จึงต้องเร่งทำให้ธุรกิจประกันภัยต้องมีความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างทันท่วงที ผ่านการดำเนินกิจกรรม
ที่สำคัญ ดังนี้
2.1 พัฒนาแนวทางในการยกระดับความมั่นคงทางการเงิน และมาตรฐานในการบริหาร ความเสี่ยงที่รองรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจและความเสี่ยงใหม่ โดย
1) กำหนดมาตรการและการปรับปรุงประกาศที่เกี่ยวข้อง เช่น การกำหนดประเภทและชนิดของเงินกองทุน รวมทั้งหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคำนวณเงินกองทุนของบริษัทประกันชีวิต/ประกันวินาศภัย เพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยงให้สอดรับกับสภาวการณ์ปัจจุบัน สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและแนวทางการปฏิบัติของภาคธุรกิจมากขึ้น การปรับปรุงหลักเกณฑ์การลงทุนประกอบธุรกิจอื่นของบริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัยที่เกี่ยวกับการให้สินเชื่อแก่โครงการโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น
2) ยกระดับมาตรการและแนวทางในการกำกับและตรวจสอบธุรกิจประกันภัยให้เป็นเชิงรุกมากขึ้น เช่น พิจารณากระบวนการรับประกันภัยในสวนที่เกี่ยวของกับอัตราเบี้ยประกันภัย คาใชจ่าย หรือแนวทางหรือมาตรฐานการตั้งสำรองฯ ที่เกี่ยวของ หรือการติดตามฐานะและการดำเนินงานของบริษัทประกันภัย โดยใช้ข้อมูลที่เป็น Real-time มากขึ้น เป็นต้น
3) ส่งเสริมการควบรวมโดยสมัครใจ และเตรียมมาตรการรองรับเพื่อส่งเสริมให้บริษัทประกันภัย มีความเข้มแข็งทางการเงินและมีขีดความสามารถในการแข่งขันภายใต้สภาพแวดล้อมใหม่
4) ส่งเสริมการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและความมั่นคงปลอดภัย ทางไซเบอร์ ซึ่งได้มีการพัฒนากรอบการประเมินระดับความพร้อมด้านการรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ สำหรับบริษัทประกันภัย (Cyber Resilience Assessment Framework: CRAF) และทำให้บริษัทประกันภัยมีเครื่องมือในการประเมิน ความเสี่ยงและระดับความพร้อมด้านการรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ รวมถึงจัดให้มีการตรวจสอบการบริหาร จัดการความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและภัยคุกคามทางไซเบอร์ของบริษัทประกันภัย
2.2 ยกระดับกรอบการกำกับดูแลเชิงระบบและเสถียรภาพโดยรวมของธุรกิจประกันภัย โดย
1) พัฒนาเครื่องมือในการติดตามและดูแลความเสี่ยงเชิงระบบและเสถียรภาพโดยรวมของธุรกิจประกันภัย (Macroprudential Surveillance) โดยได้มีการศึกษาและพัฒนากรอบการดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยง เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะการดำเนินธุรกิจของอุตสาหกรรมประกันภัยไทย รวมถึงการศึกษาแนวทางการพัฒนาหลักเกณฑ์ RBC ในเรื่องเงินกองทุนสำหรับความเสี่ยงใหม่ การจัดกลุ่มผลิตภัณฑ์ประกันภัย และการคำนวณสำรองประกันภัย
2) บูรณาการร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในการกำกับดูแลเชิงระบบ และเสถียรภาพของธุรกิจประกันภัย โดยดำเนินการร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ทำการทดสอบภาวะวิกฤตภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจมหภาคจำลอง (Macro Stress Test) เพื่อประเมินความมั่นคงทางด้านฐานะและสภาพคล่องของสถาบันการเงิน
3. ส่งเสริมให้ธุรกิจประกันภัยเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้สังคมโดยรวมมีความยั่งยืนทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบในด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) หรือ ESG เป็นปัจจัยที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญและเป็นเป้าหมาย การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ รวมทั้งเป็นปัจจัยที่นักลงทุนในปัจจุบันใช้ในการประเมินความยั่งยืนและผลกระทบด้านจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งระบบประกันภัยสามารถช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้ ซึ่งมีบทบาทในการสนับสนุนระบบเศรษฐกิจและสังคมไทยให้มีความยั่งยืน โดยส่งเสริมให้ภาคธุรกิจดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืนทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล และมีบทบาทในการผลักดันเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม ผ่านการดำเนินกิจกรรมที่สำคัญดังนี้
1.1 ส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยเพื่อเสริมสร้างความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดทำพิกัดอัตราเบี้ยประกันภัยของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น
1.2 การเผยแพร่กรอบแนวทาง เรื่อง การเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ให้แก่บริษัทประกันภัย ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการเตรียมความพร้อมให้ธุรกิจประกันภัยเข้าใจถึงความสำคัญของการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล และสร้างความสามารถในการแข่งขัน สะท้อนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โปร่งใส ตรวจสอบได้
1.3 การมอบรางวัลบริษัทประกันภัยที่มีการพัฒนาด้านความยั่งยืนในธุรกิจประกันภัยดีเด่น หรือ ESG ในงานมอบรางวัลประกันภัยดีเด่นครบวงจร Prime Minister’s Insurance Awards