กรมโรงงานฯเด้งรับนโยบาย ‘พิมพ์ภัทรา’ ยันเคาะใบร.ง.4 โปร่งใสผ่านระบบออนไลน์ ค้างบนโต๊ะแค่ 22 โรงงาน ขอให้เชื่อมั่น ตรวจสอบได้
นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมโรงงานฯพร้อมขับเคลื่อนตามนโยบายของน.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม ที่ให้ยกระดับการบริหารจัดการภาครัฐเพื่ออำนวยความสะดวกการให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งปรับปรุงกระบวนการทำงานให้เป็นดิจิทัล โดยได้สั่งการให้เร่งนำระบบอนุญาตออนไลน์ (Digital-License) ของกระทรวงอุตสาหกรรมมาใช้งานในทันที เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ประกอบการในการขอรับใบอนุญาตได้อย่างรวดเร็ว โปร่งใส และสามารถตรวจสอบติดตามได้ในทุกขั้นตอน สอดคล้องกับบริบทสังคมดิจิทัลและรองรับการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมที่มีอัตราการลงทุนของโรงงานขนาดใหญ่ในแต่ละปีเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10-20% ตั้งแต่ปี 2563 มาจนถึงปัจจุบัน
ปัจจุบันมีการยื่นขอรับใบอนุญาต ร.ง.4 เพิ่มเข้ามาอย่างต่อเนื่องและอยู่ระหว่างการพิจารณาของกรมโรงงานฯ จำนวน 22 โรงงาน แสดงให้เห็นถึงทิศทางและแนวโน้มการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมไทยได้อย่างเป็นรูปธรรม
ดังนั้นขอให้นักลงทุนและผู้ประกอบการมั่นใจและเชื่อมั่นว่า กรมโรงงานฯพร้อมดูแลอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมในทุกมิติ และส่งเสริมการตั้งโรงงานที่มีมาตรฐาน เพื่อรองรับการลงทุนและการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของประเทศให้เติบโต
ทั้งนี้จากสถิติข้อมูลการออกใบอนุญาต ร.ง.4 ในปี 2565 – 2566 พบว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรมมีการออกใบอนุญาตให้ตั้งและขยายโรงงานที่มีขนาดใหญ่จำนวนกว่า 800 โรงงานต่อปี เพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 3 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2563 - 2564 โดยเฉพาะในปี 2566 ที่ผ่านมา มีการอนุญาตให้ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ (นอกนิคมฯ)จำนวน 2,598 โรงงาน มูลค่าการลงทุนกว่า 356,140 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 23% เมื่อเทียบกับปี 2565 และเกิดการจ้างงานกว่า 106,631 คน สอดรับกับการที่บีโอไอได้รับคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2566 มูลค่ารวม 8.5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 9 ปี โดยเมื่อพิจารณาเฉพาะมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีการเติบโตสูงถึง 72% จากปีก่อน
นอกจากนี้ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาตามปีงบประมาณ 2567 มีมูลค่าการลงทุนจากการอนุญาตให้ตั้งและขยายโรงงานอุตสาหกรรมนอกนิคมไปแล้วกว่า 255,586.74 ล้านบาท และหากพิจารณาเฉพาะปี 2567 ก็พบว่ามีการลงทุนตั้งและขยายโรงงานอุตสาหกรรมนอกนิคมในช่วง 3 เดือนแรกของปีแล้วกว่า 70,000 ล้านบาท ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องภายหลังวิกฤตโควิค-19 ซึ่งเป็นผลมาจากการที่นายกรัฐมนตรีและคณะเข้าร่วมเจรจาด้านความร่วมมือกับผู้นำประเทศต่าง ๆ ตลอดจนการพบปะหารือกับภาคธุรกิจ ชักชวนการลงทุน สร้างความเชื่อมั่น จัดกิจกรรมเจรจาธุรกิจและจับคู่ผู้ประกอบการไทยและต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง
รวมทั้งมีนโยบาย Ease of doing business โดยให้หน่วยงานที่ออกใบอนุญาต พิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ เพื่อให้การประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมในไทยได้รับความสะดวกรวดเร็ว ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวส่งผลให้เกิดการขยายตัวของการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ
รายงานข่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้มีเอกชนออกมาร้องเรียนถึงความล่าช้าในการพิจารณาใบอนุญาตร.ง.4 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจเป็นอย่างมาก เนื่องจากไม่สามารถดำเนินการอะไรได้จนกว่าจะได้รับใบอนุญาตดังกล่วาว โดยตัวเลขที่นำออกมายืนยันพบว่ามีใบร.ง.4 ค้างพิจารณาอยู่ 200-300 ราย โดยเรื่องนี้ทางรมว.อุตสาหกรรมได้เรียกอธิบดีกรมโรงงานมากำชับให้แก้ไขปัญหาให้จบภายใน 30 วัน และล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลังได้เชิญรมว.อุตสาหกรรมมาสอบถามพร้อมทั้งขอให้จัดการปัญหาความล่าช้าดังกล่าวเพราะจะส่งผลกระทบต่อนโยบายส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาล ได้