จีน-เกาหลีใต้ สองชาติที่มีสัดส่วนการใช้จ่ายสินค้าแบรนด์หรูพุ่งมากสุดของโลก คาดตลาดจีนจะครองสัดส่วนใช้จ่ายสินค้าแบรนด์หรูมากถึง 25% ของยอดขายทั้งโลกในอีก 2 ปี หลังเปิดประเทศออีกครั้ง
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า PwC China เผยการคาดการณ์ว่า ตลาดสินค้าฟุ่มเฟือยของจีนจะเติบโตสู่ระดับ 8.16 แสนล้านหยวน (ราว 4.03 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2025 หรือคิดเป็นประมาณ 25% ของยอดการใช้จ่ายสินค้าแบรนด์หรูทั่วโลก
รายงานการวิเคราะห์ระบุว่า อุตสาหกรรมสินค้าฟุ่มเฟือยในแผ่นดินใหญ่และเขตบริหารพิเศษฮ่องกงของจีน ตลอดจนชาติเอเชียแปซิฟิกได้กลายเป็นกลไกการขับเคลื่อนหลักตลาดสินค้าฟุ่มเฟือยที่กำลังเติบโต โดยเฉพาะจีนซึ่งประชากรมีกำลังซื้อสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีจีนปลดปล่อยศักยภาพอย่างต่อเนื่องในฐานะตัวขับเคลื่อนหลักในอุตสาหกรรมแบรนด์หรู
จากข้อมูลปี 2021 พบว่า การจับจ่ายสินค้าปลอดภาษีนอกชายฝั่งในมณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) มีส่วนกระตุ้นตลาดสินค้าฟุ่มเฟือยที่กำลังขยายตัวของจีน โดยการจับจ่ายสินค้าดังกล่าวในไห่หนานสูงถึง 4.95 หมื่นล้านหยวน (ราว 2.44 แสนล้านบาท) คิดเป็นประมาณร้อยละ 13 ของปริมาณการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยของผู้บริโภคชาวจีน
นอกจากนั้นรายงานเผยว่าการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยในฮ่องกงจะทยอยฟื้นตัว สืบเนื่องจากแผ่นดินใหญ่กลับมาเปิดพรมแดนอีกครั้ง ทำให้ประชากรจีนจำนวนไม่น้อยเดินทางไปท่องเที่ยวจับจ่ายใช้สอยในฮ่องกงและเขตบริหารพิเศษมาเก๊าแบบปกติอย่างเต็มรูปแบบมากขึ้น
สตีเฟน จง หัวหน้าหุ้นส่วนยุทธ์ศาสตร์การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของพีดับเบิลยูซี ไชน่า กล่าวว่าตลาดสินค้าฟุ่มเฟือยของจีนกำลังฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจากโควิด-19 โดยมีความแข็งแกร่งและความยืดหยุ่นมากขึ้นกว่าเดิม
อย่างไรก็ตาม นอกจากตลาดจีนแล้ว เมื่อช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีการสำรวจจาก Morgan & Stanley บริษัทที่ปรึกษาการเงินและการลงทุน เผยรายงานที่ระบุว่า เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีคนซื้อหาสินค้าสุดหรูแบรนด์ต่าง ๆ นับเป็นมูลค่าสูงที่สุดในโลก สูงยิ่งกว่าจีนซึ่งเป็นชาติที่ประชากรจำนวนมากและถือว่ามีกำลังซื้อสูงเสียอีก
Morgan & Stanley ประเมินไว้ว่า ในปี 2022 ที่ผ่านมา ชาวเกาหลีใต้ใช้จ่ายซื้อสินค้าของใช้ส่วนตัวจากแบรนด์หรูหรารวมแล้วเป็นเงินถึง 16,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 552,000 ล้านบาท) คิดเป็นอัตราส่วนที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 24% หรือหากจะคิดเป็นรายหัว ก็คือชาวเกาหลีใต้ใช้เงินคนละ 325 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ราว 10,674 บาท) เพื่อซื้อสินค้าแบรนด์เนม เริ่มเป็นจำนวนเงินที่ทิ้งห่างจากนักช็อปจากจีน
อย่างไรก็ตาม การประเมินในปีดังกล่าว มาจากหลายปัจจัยอาทิ การได้รับอานิสงส์จากศิลปินคนดังที่เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ของสินค้าหรู ประกอบกับช่วงปีที่แล้วจีนยังไม่เปิดประเทศจึงทำให้การใช้จ่ายในสินค้าฟุ่มเฟื่อยของชาวจีนไม่คึกคักเท่าที่ควร