ใครคือต้นตำหรับ'ไชน์มัสแคท'แท้ๆ
'ไชน์มัสแคท' (Shine Muscat) เป็นพันธุ์องุ่นที่เกิดจากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่าง Akitsu-21 และ 'Hakunan' (V. vinifera) ที่ผลิตโดยสถาบันวิทยาศาสตร์ต้นไม้ผลไม้แห่งชาติ (NIFTS) ในประเทศญี่ปุ่นในปี พ.ศ. 2531 องุ่นพันธุ์นี้มีผลสีเหลืองอมเขียวขนาดใหญ่ เนื้อกรอบ รสชาติเหมือนองุ่นมัสกัต ซึ่งเป็นองุ่นรสดีที่ใช้ผลิตไวน์และลูกเกดและองุ่นสำหรับทานเล่นทั่วโลกมานานหลายศตวรรษ
'ไชน์มัสแคท'เริ่มเพาะพันธุ์ที่ศูนย์วิจัยองุ่นของสถาบันวิทยาศาสตร์เกษตรชีวภาพแห่งชาติ ในตำบลอาคิสึโช เมืองฮิงาชิฮิโรชิม่า จังหวัดฮิโรชิม่า และเป็นพันธุ์ที่โตเร็วซึ่งสุกในช่วงกลางเดือนสิงหาคมในเมืองฮิโรชิม่า ซึ่งเป็นที่เพาะพันธุ์
ความนิยมใน 'ไชน์มัสแคท' เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และตามสถิติจากสมาคมสหกรณ์การเกษตรพืชสวนแห่งญี่ปุ่น พื้นที่เพาะปลูก 'ไชน์มัสแคท' คาดว่าจะขยายเป็น 1,797 เฮกตาร์ในปี 2022 แซงหน้าเคียวโฮ (1,621 เฮกตาร์) และองุ่นดีลาแวร์ (1,627 เฮกตาร์) ซึ่งเป็นพันธุ์หลักในญี่ปุ่นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
องุ่นพันธุ์นี้ได้กลายเป็นตัวเร่งความนิยมในกระแสองุ่นคุณภาพสูง โดยมีลักษณะเด่น เช่น "กินได้ทั้งเปลือก" "ไร้เมล็ด" "ขนาดใหญ่" และ "มีปริมาณน้ำตาลสูง" และทำให้จำนวนผู้ชื่นชอบองุ่นในญี่ปุ่นและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น นับตั้งแต่ประมาณปี 1988 เป็นต้นมา องุ่นพันธุ์นี้ได้รับการขนานนามว่าเป็น "ราชินีแห่งองุ่น"
ญี่ปุ่นไม่ทันระวังทำให้'ของหลุด'ไปนอก
'ไชน์มัสแคท' ได้รับการพัฒนาโดยองค์การวิจัยการเกษตรและอาหารแห่งชาติ (NARO) ซึ่งจดทะเบียนพันธุ์นี้ในญี่ปุ่นในปี 2006 อย่างไรก็ตาม เนื่องจากไม่ได้คาดการณ์เรื่อการงส่งออก องุ่นพันธุ์นี้จึงไม่ได้จดทะเบียนในต่างประเทศ
อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ระหว่างประเทศกำหนดว่าพันธุ์ผลไม้จะต้องจดทะเบียนในต่างประเทศภายในระยะเวลาหนึ่ง (หกปีสำหรับองุ่น) หลังจากการจดทะเบียนในประเทศ ในขณะที่ญี่ปุ่นกำลังดำเนินการยื่นจดทะเบียนพันธุ์ 'ไชน์มัสแคท' ในต่างประเทศ กำหนดเวลาการจดทะเบียนก็ผ่านไปแล้ว 12 ปี ทำให้ญี่ปุ่นก็สูญเสียสิทธิ์ในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่ประมาณ 10,000 ล้านเยนต่อปีจากจีน ซึ่งกำลังจะกลายเป็นพื้นที่การผลิต
รวมถึงไม่สามารถเก็บค่าธรรมเนียมจากเกาหลีและประเทศอื่นๆ นอกญี่ปุ่น สามารถปลูกพันธุ์นี้ได้อย่างถูกกฎหมายโดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากญี่ปุ่น เมื่อถูกถามว่าเหตุใดพันธุ์นี้จึงไม่ได้จดทะเบียนในต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ NARO กล่าวว่า "ในเวลานั้น เราไม่ได้คาดหวังว่าจะขยายไปต่างประเทศอย่างจริงจัง"
ต่างประเทศเริ่มก็อปปี้ทำให้เสียหาย
ตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมามีกรณีหลายกรณีที่ต้นกล้าและเมล็ดพันธุ์ของผลไม้ที่มีเครื่องหมายการค้ารวมถึง 'ไชน์มัสแคท' ถูกส่งไปยังประเทศในเอเชียผ่านเกาหลีและจีน แม้ว่า 'ไชน์มัสแคท' ของเกาหลีจะเริ่มมีการจำหน่ายอย่างเต็มรูปแบบในตลาดในปี 2014 แต่หลังจากผ่านเส้นตายสำหรับการลงทะเบียนในต่างประเทศแล้ว เกษตรกรชาวญี่ปุ่นก็ไม่สามารถรับค่าลิขสิทธิ์ได้เนื่องจากไม่ได้ยื่นขอจดทะเบียนในต่างประเทศ
ตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา มีการส่งออกไปยัง 19 ประเทศและภูมิภาค รวมถึงจีน เวียดนาม ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และนิวซีแลนด์ แต่แล้วพื้นที่เพาะปลูก 'ไชน์มัสแคท' ในเกาหลีกลับมีขนาดเกือบจะเท่ากับในญี่ปุ่นที่ 1,800 เฮกตาร์ ณ เดือนเมษายน 2021 มูลค่าการส่งออกองุ่นจากเกาหลีอยู่ที่ประมาณ 800 ล้านเยน (7.27 ล้านดอลลาร์) ในจำนวนนี้ 'ไชน์มัสแคท' คิดเป็น 90% ปริมาณการส่งออกไปต่างประเทศนั้นมากกว่าญี่ปุ่นถึง 5 เท่า
พื้นที่เพาะปลูกในจีนนั้นมากกว่าญี่ปุ่นถึง 40 เท่า ตามข้อมูลขององค์กรวิจัยการเกษตรและอาหารแห่งชาติ องุ่น 'ไชน์มัสแคท' ถูกนำเข้ามาในประเทศจีนผ่านหลายเส้นทางตั้งแต่ประมาณปี 2007 ตั้งแต่ปี 2015 พื้นที่ที่ปลูกองุ่น 'ไชน์มัสแคท' ในจีนได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วและปัจจุบันมีการปลูกกันอย่างแพร่หลายทั่วประเทศ
ในปี 2020 พื้นที่เพาะปลูกมีมากถึง 53,000 เฮกตาร์ ซึ่งมากกว่าของญี่ปุ่นประมาณ 30 เท่า ในปี 2021 พื้นที่ดังกล่าวมี 1,000,000 หมู่ (亩 โดย 1 หมู่เท่ากับประมาณ 1/15 เฮกตาร์) คิดเป็นหนึ่งในสิบของพื้นที่ปลูกองุ่นของจีนทั้งหมด องุ่น 'ไชน์มัสแคท' ที่ปลูกในจีนได้รับการยืนยันให้จำหน่ายในมาเลเซียภายใต้ชื่อต่างๆ เช่น "China Shine Muscat" นอกจากนี้ยังจัดส่งไปยังสิงคโปร์ ไทย ฮ่องกง ไต้หวัน เป็นต้น และปัจจุบันมีการขายในตลาดโลก
อย่างไรก็ตาม จีนโต้แย้งว่า “องุ่นมีถิ่นกำเนิดในยุโรป ดังนั้น ‘องุ่นแบรนด์ญี่ปุ่น’ จึงเกิดขึ้นจากการผสมข้ามพันธุ์” ในเรื่องนี้นักข่าวเศรษฐกิจที่มีชื่อเสียงชาวญี่ปุ่น คือ ทาเคโอะ คุโรซากะ (黒坂 岳央) กล่าวว่า “เนื่องจากแทบไม่มีการตรวจสอบ จึงสามารถขโมยได้ รัฐบาลญี่ปุ่นควรใช้มาตรการอย่างจริงจัง เช่น การลงโทษที่เข้มงวดยิ่งขึ้น”
องุ่นพันธุ์ 'ไชน์มัสแคท' จากจีนและเกาหลีจำหน่ายในตลาด เช่น ฮ่องกง ไทย มาเลเซีย และเวียดนามโดยมีราคาถูกกว่าองุ่นพันธุ์ 'ไชน์มัสแคท' จากญี่ปุ่น ตัวอย่างเช่น องุ่นพันธุ์ 'ไชน์มัสแคท' ที่ปลูกในคิมชอน ประเทศเกาหลี ส่งออกในราคาประมาณหนึ่งในสามของญี่ปุ่น
ปัจจุบัน องุ่นพันธุ์ 'ไชน์มัสแคท' จากเกาหลีและจีนมีปริมาณเพิ่มขึ้นแล้ว หากยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป อาจทำให้เกิดความเข้าใจที่ผิดๆ ทั่วโลกว่า 'ไชน์มัสแคทญี่ปุ่น' เป็นผู้มาทีหลังสินค้าที่ปลูกในประเทศอื่นๆ
รายงานสื่อบางฉบับประมาณการว่า หากญี่ปุ่นสามารถส่งออกองุ่นพันธุ์ 'ไชน์มัสแคท' ได้เพียงเจ้าเดียว ญี่ปุ่นจะมีรายได้มากกว่า 100,000 ล้านเยนต่อปี ในขณะที่กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงประมาณการความเสียหายที่เกิดจาก 'ไชน์มัสแคท' ไว้ประมาณ 10,000 ล้านเยนต่อปีจากการสูญเสียค่าธรรมเนียมใบอนุญาตตามปริมาณการผลิตเพียงอย่างเดียว
หลังจากนั้นคุณภาพก็ลดลง
ในปี 2022 มีรายงานว่าเกษตรกรในประเทศเกาหลีใต้กำลังทุ่มตลาดด้วยผลิตภัณฑ์ 'ไชน์มัสแคท' เกรด C ที่ล้มเหลวในการควบคุมคุณภาพ ทำให้ผู้ซื้อผิดหวังเมื่อซื้อไปบริโภค เมื่อ 'ไชน์มัสแคท' เริ่มดึงดูดความสนใจในเกาหลีใต้ในฐานะ "ผลไม้หรูหรา" และความต้องการของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น เกษตรกรเกาหลีจึงปลูก 'ไชน์มัสแคท' เพิ่มขึ้นอย่างมาก
ตามข้อมูลของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจชนบทเกาหลี พื้นที่ปลูก 'ไชน์มัสแคท' ในเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นมากกว่า 16 เท่า จาก 726,000 สึโบะ (坪 หน่วยวัดพื้นี่ของญี่ปุ่นเท่ากับ 240 เฮกตาร์) ในปี 2016 เป็น 12.1 ล้าน สึโบะ (4,000 เฮกตาร์) ในเดือนพฤศจิกายน 2022 เมื่อเทียบกับปี 2021 การผลิต 'ไชน์มัสแคท' ในเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 148.9%
ทั้งนี้ พื้นที่เพาปลูก ในเกาหลีใต้ คือ จังหวัดคยองซังบุกโด, เมืองยองชอน, กิมชอน, คยองซาน, ซังจู, คยองจู, จังหวัดชุงชองบุกโด, ยองดงกุน. อ็อกชอนกุน
รายงานโดย ทีมข่าวต่างประเทศ The Better
Photo by Peter PARKS / AFP