'นิยาย' ไม่ใช่ประวัติศาสตร์โดยตรง แต่เป็นสิ่งหนึ่งที่บันทึกประวัติศาสตร์เอาไว้ทางอ้อม งานเขียนดีๆ จะช่วยให้ผู้คนมองเห็นภาพว่าคนสมัยนั้นใช้ชีวิตอย่างไร และนิยายดีๆ มักจะสะท้อนความทุกข์ของคนยุคนั้นเอาไว้ด้วย
นิยายดีๆ จึงเป็น 'วรรณกรรม' คือสิ่งที่ทำหน้าที่กระทุ้งจิตใจของเราให้รู้สึกตามไปด้วยกับตัวละคร เช่น ตัวละครถูกย่ำยีโดยไม่เป็นธรรม คนอ่านก็จะตระหนักถึงความไม่ยุติธรรมในสังคมของตัวละคร (ซึ่งเป็นปากเป็นเสียงแทนยุคสมัยนั้นๆ)
ในประเทศจีนมีวรรณกรรมที่จัดเป็น 'สี่สุดยอดวรรณกรรม' คือ การเดินทางสู่ตะวันตกหรือ 'ซีโยวจี้' ไทยเรียกว่า 'ไซอิ๋ว', ตำนานวีรบุรุษสามก๊ก หรือ 'ซานกั๋วเหยี่ยนอี้' ไทยเรียกว่า 'สามก๊ก', บันทึกวีรชนแห่งหนองน้ำหรือ 'สุยหู่จ้วน' ไทยเรียกว่า 'ซ้องกั๋ง' และความฝันในหอแดง หรือ 'หงโหลวเมิ่ง'
นอกจากสี่เรื่องนี้ยังมีอีกเรื่องที่มีคุณค่าสูงมาก เพราะตีแผ่การคอร์รัปชั่นในวงการราชการ โดยเฉพาะการสอบเข้ารับราชการของจีนสมัยโบราณ นั่นคือนิยายชื่อ 'หรูหลินไว่สื่อ' (儒林外史) หรือ 'ประวัติศาสตร์เชลยศักดิ์ของวงการปัญญาชน' เขียนโดย อู๋จิ่งจื่อ (吴敬梓) ในรัชกาลเฉียนหลงแห่งราชวงศ์ชิง ตรงกับปลายสมัยอยุธยาของไทย
คำว่า 'ประวัติศาสตร์เชลยศักดิ์' หมายถึงเรื่องราวนอกสารบบที่บันทึกไว้ เรื่องอื้อฉาวลี้ลับที่ถูกเปิดโปง ส่วนคำว่า 'หรูหลิน' (儒林) แปลตรงตัวคือ 'ป่าแห่งบัณฑิตหรู' คำว่า หลิน (林) โดยนัยตรงหมายถึง 'ป่าไม้' โดยนัยประหวัดหมายถึง 'วงการ' เช่นคำว่า 'อู่หลิน' หรือ 'บู๊ลิ้ม' (武林) แปลตรงตัวคือ ป่าแห่งการยุทธ์ โดยนัยหมายถึง ยุทธจักร หรือวงการของนักสู้
คำว่า 'หรู' (儒) หมายถึงบัณฑิตที่ถือขนบธรรมเนียมแบบขงจื๊อ โดยนัยหมายถึงปัญญาชนนักวิชาการที่ต้องการสอบเข้าเป็นข้าราชการ
จีนสมัยโบราณนั้น มีชนชั้น 'ซื่อ' (士) เป็นชนชั้นสูงสุดจากสี่ระดับคือ ซื่อ (士) หนง (农) กง (工) ซาง (商) คือบัณฑิตขุนนาง เกษตรกร ช่างฝีมือ และพ่อค้าอยู่ในระดับต่ำสุด 'ซื่อ' หมายถึง ปัญญาชนและขุนนาง คนกลุ่มนี้เป็นคนกลุ่มเดียวกัน ก่อนเป็นข้าราชการหรือขุนนางจะเป็นนักศึกษาเสียก่อน จากนักศึกษาสอบเข้าเป็นบัณฑิตระดับต่างๆ เมื่อถึงขั้นแล้วจึงรับราชการได้
แต่เพราะการแข่งขันสูง และระบบการสอบยากเย็น ทำให้นักศึกษาต้องแข่งกันหนักหน่วง บางคนกว่าจะสอบเป็นข้าราชการได้ก็อายุปาเข้าไปหกสิบเจ็ดสิบแล้วก็มี พอมีโอกาสสอบแล้วบางคนถึงกับโกงอายุเพื่อปกปิดว่าตัวเองหง่อมเกินกว่าที่จะรับราชการ
ดังนั้น หากบ้านเมืองอยู่ในยุคคนชั่วมีอำนาจ ระบบการสอบรับราชการจะเหลวแหลกอย่างที่สุด จะเต็มไปด้วยการซื้อตำแหน่ง ผู้คุมสอบทำเป็นตาบอดเมื่อมีคนจ่ายเงินทุจริตเพื่อดูโพยคำตอบ หรือมีการยัดคนของตัวเองเข้าไป และถีบคนเก่งออกมาจากระบบโดยไม่แยแสว่าบ้านเมืองจะเสียคนดีมีปัญญาไป
เรื่องนี้ฟังดูแล้วเหือนเกินขึ้นในบุคปัหจจุบันในประเทศไทย แต่จริงๆ แล้วมันเกิดมาตั้งแต่ยุคสมัยราชวงศ์หมิงและชิงของประเทศจีน และสะท้อนออกมาในวรรณกรรมเรื่อง 'ประวัติศาสตร์เชลยศักดิ์ของวงการปัญญาชน'
ตัวอย่างเช่น บอกถึงวิธีการคัดชื่อบัณฑิตที่เข้าสอบอกไปแล้วเอาชื่อของตัวเองเข้ามา หลักการง่ายๆ ก็คือ "ใช้เงินปิดปาก"
เรื่องนี้อยู่ในบทที่ 32 เล่าถึงการสอบเข้ารับราชการในเมืองหลูโจว มีคนๆ หนึ่งติดสินบนเจ้าหน้าที่สนามสอบเพื่อช่วยซื้อตำแหน่งซิ่วไฉ (秀才 เทียบเท่ากับระดับปริญญมาตรี) โดยจ่ายเงินไป 300 ตำลึงเงิน แต่ในภายหลังเจ้าหน้าที่มาบอกว่า "ข้างบนเข้มงวดมาก" ซึ่งหมายความว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงเข้มงวดกับการทุจริต จึงทำให้พวกบัณฑิตไม่กล้าขายตำแหน่งซิ่วไฉให้ใครได้ นั่นหมายความว่าจะมีบัณฑิตบางคน "ขายตัว" คือเข้าไปสอบให้ เมื่อสอบได้ตำแหน่งซิ่วไฉแล้วก็จะขายตำแหน่งให้ขื่อตัวเองไป แล้วเอาชื่อคนซื่อสวมเข้ามาแทน
ในเมื่อ 'ข้างบน' เข้มงวดขนาดนี้ คนๆ นั้นจึงเสนอแผนใหม่ว่า ให้ซื้อแค่ตำแหน่งหลิ่นเซิง (廪生) ซึ่งหมายถึงนักศึกษาที่ได้รับเบี้ยหวัดจากราชการ นั่นคือเมื่อสอบได้ระดับหนึ่งแล้วจะถือเป็นข้าราชการระดับล่าง ได้รับเงินหรือสิ่งของเป็นรายได้ประจำจากทางราชการ และยังทำหน้าที่เป็นพนักงานชั้นผู้น้อยในระดับท้องถิ่นด้วย ต่างจากระดับบัณฑิตขั้นต้นหรือซิ่วไฉ่ที่ขาข้างหนึ่งก้าวสู่ตำแหน่งราชการระดับปกครอง
ในเรื่องนี้ มีครอบครัวหนึ่งต้องการให้ซื้อตำแหน่งซิ่วไฉ (ข้าราชการระดับต้น) เมื่อซื้อไม่ได้ ผู้เดินเรื่องจึงเสนอว่างั้นสวมตำแหน่งหลิ่นเซิง (พนักงานรับเบี้ยหวัด) ไปก่อน แต่ครอบครัวนั้นไม่พอใจ ต้องการขอเงินคืน ในเมื่อเสียเงินไปแล้ว คนเดินเรื่องก็ต้องหาเงินมาใช้ครอบครัวนั้น หาไม่แล้วหากเรื่องแดงออกไปเขาจะถูกลงโทษอย่างหนัก
จะเห็นว่าคนบางคนนั้นความสามารถไม่มี ก็ยังหวังจะเป็นถึงข้าราชการประจำ แม้จะมีโอกาสโกงได้แค่เป็นพนักงานระดับรองที่มีเงินเดือนพอเลี้ยงตัวเองได้ แต่ก็ยังไม่เอาเพราะหวังจะเล่นของสูง ความละโมบของคนเรานั้นไม่มีขอบเขตจริงๆ
อีกกรณีหนึ่งคือในบทที่ 19 มีข้าราชการคนหนึ่งต้องการซื้อตำแหน่งให้ลูกชายทึ่ไร้การศึกษา จึงสั่งให้คนตามหา 'มือปืน' ที่จะมาสอบแทนลูกชาย จากนั้นวางแผนอันแยบยลด้วยการซื้อตัวคนที่เข้าสอบรอบๆ ลูกชาย เพื่อทำการปิดปาก จากนั้นให้มือปืนที่จะสอบแทน ปลอมตัวเป็นเจ้าหน้าที่คุมสอบแล้วซ่อนตัวเอาไว้ เมื่อถึงเวลาก็เข้าไปในห้องสอบของลูกชายข้าราชการ (ห้องสอบของจีนโบราณจะแบ่งเป็น partition เหมือนที่ทำงานในออฟฟิศสมัยใหม่) จากนั้นทำการสับเปลี่ยนเสื่อผ้ากัน แล้วมือปืนก็ทำการสอบให้แทน ผลออกมาคือ สอบผ่าน ระบบราชการจีนจึงได้คนโง่อีกหนึ่งคนพร้อมเส้นสายที่ใหญ่โตเข้าไปนั่งนอนๆ กินเงินหลวง
อีกวิธีการหนึ่งคือ การใช้บารมีของคนในท้องถิ่น เพื่อส่งคนที่ไม่มีคุณสมบัติไปสอบรับราชการ เรื่องนี้อยู่ในบทที่ 32 ที่เล่าถึงพ่อบ้านของผู้มีบารมีในท้องถิ่น ต้องการส่งลูกชายไปสอบรับราชการ แต่ระเบียบของทางการระบุว่า คนเข้าสอบจะต้องเป็นคนท้องถิ่นเท่านั้น พ่อบ้านคนนี้เป็นคนต่างถิ่น หากเข้าไปสอบจะถือเป็นการโกงและแอบอ้าง อย่างไรก็ตาม มีผู้ปลอบขวัญเขาว่า เจ้านายทั้งพ่อและลูกของเขานั้นเป็นผู้ออกเงินสร้างและซ่อมแซมสนามสอบ "หากเจ้านายจะส่งใครสักคนไปสอบ ใครหน้าไหนจะกล้าไม่เชื่อฟัง?"
หลังจากนั้นคนไร้คุณสมบัติก็เข้าสอบได้ เพียงแต่นักศึกษาคนอื่นๆ แม้ไม่กล้าทัดทาน แต่รีดไถเป็นนัยๆ ว่าให้ผู้มีบารมีควรจะจ่ายเงิน 120 ตำลึงเงินมาช่วยซ่อมแซมโรงเรียนของพวกเขา เงินจึงถูกจ่ายไปเพื่อปิดปาก
ตัวอย่างเหล่านี้รวบรวมมาโดย จางเจี้ยน (张箭) ศาสตราจารย์และอาจารย์ที่ปรึกษาระดับปริญญาเอกที่คณะประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเสฉวน ในบทความเรื่อง "ความประพฤติมิชอบทางวิชาการและการทุจริตที่ปรากฏในนิยายหรูหลินไว่สื่อ"
แม้ว่านี่คือนิยาย แต่มันเขียนขึ้นจากเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ที่ต้องเขียนเป็นนิยายในแนวเสียดสีก็เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวผู้เขียนถูกปองร้าย
ศาสตราจารย์จางเจี้ยนจึงกล่าวว่า "'หรูหลินไว่สื่อ' แสดงให้เห็นว่าฝ่ายที่เกี่ยวข้อง (กับการโกงการสอบ) ไม่มีความรู้สึกละอายเลย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าศีลธรรมของโลกกำลังเสื่อมถอย จิตใจของผู้คนไม่ดีเหมือนก่อน และการทุจริตทางวิชาการแทบจะกลายเป็นบรรทัดฐาน"
นี่คือตัวอย่างการคอร์รัปชั่นในระบบราชการจีนโบราณ เชื่อว่าบางคนอ่านแล้วคงรู้สึกตะหงิดๆ ว่า มันไม่ได้สูญหายไปไหน แต่เปลี่ยนสถานที่จาก 'จีนโบราณ' มาอยู่ที่ 'ประเทศไทย' นี่เอง
และหากเรื่อง 'หรูหลินไว่สื่อ' คือการเสียดสีการคอร์รัปชั่นในวงการสอบเข้ารับข้าราชการของจีนโบราณ
บทความที่ว่าด้วยการคอร์รัปชั่นใน 'หรูหลินไว่สื่อ' บทความนี้ ก็เป็นการเสียดสีเหมือนกัน แต่หมายถึงสังคมไทยยุคปัจจุบันที่เรื่องนี้ไม่เคยหมดไปเสียที
บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการ และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better
Photo - Wellcome Collection