การเมืองเรื่องทัพฟ้าไทยเมินเครื่องบินรบอมริกัน และ Gripen สู้ F-35 ได้หรือเปล่า?

การเมืองเรื่องทัพฟ้าไทยเมินเครื่องบินรบอมริกัน และ Gripen สู้ F-35 ได้หรือเปล่า?
ต่างชาติวิเคราะห์ ทำไมทัพฟ้าไทยเลือก Gripen แทนที่เครื่องบินรบอเมริกัน?

ความเห็นเรื่องการเมืองเบื้องหลังการจัดซื้อ
ตั้งแต่ช่วงกลางปีนี้แล้วที่ต่างชาติจับตากรณีที่กองทัพอากาศไทยแสดงความจำนงค์ที่จะซื้อเครื่องบินรบ F-35A ของบริษัท Lockheed Martin ผู้ผลิตอาวุธชั้นนำของโลก ซึ่งการซื้ออาวุธที่มีความก้าวหน้าสูงแบบนี้จะต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลสหรัฐฯ เสียก่อน แต่ปรากฏว่ารัฐบาลสหรัฐฯ กลับปฏิเสธข้อเสนอซื้อ F-35A จากกองทัพอากาศไทย และต่อมาพยายามที่จะให้ไทยซื้อเครื่องบินรบ F16 แทน แต่กองทัพอากาศไทยตัดสินใจเลือกซื้อ Gripen E/F หรือ Saab JAS 39 Gripen จากบริษัท Saab ของสวีเดนแทน เรื่องนี้ถูกพูดถึงกันมากทั้งในไทยและต่างประเทศ

กรณีที่ไทยถูกปฏิเสธจากรัฐบาลสหรัฐฯ ถือเป็นเรื่องที่สะเทือนวงการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศพอสมควร เพราะแสดงถึงนัยทางการเมืองในภูมิภาคนี้ ในเรื่องนี้ Tita Sanglee นักวิเคราะห์จากเว็บไซต์การเมืองระหว่างประเทศ The Diplomat และ Ian Storey นักวิชาการของสถาบัน ISEAS – Yusof Ishak Institute  เขียนบทความไว้ในเว็บไซต์ Fulcrum ในสิงคโปร์เรื่อง "รัฐบาลหลังการเลือกตั้ง รัฐบาลชุดต่อไปของไทย ต้องเผชิญกับการตัดสินใจที่ยากลำบากเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างทางทหาร" ซึ่งรัฐบาลนี้หมายถึงรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน เนื่องจากทความนี้เขียนไว้ในเดือนมิถุนายน

บทความนี้ชี้ถึงคีย์เวิร์ดสำคัญก็คือ ไทยเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงกับสหรัฐฯ แต่สหรัฐฯ กลับปฏิเสธไทยโดยให้สหรัฐฯ อ้างว่า "(ไทย) ขาดโครงสร้างพื้นฐาน การฝึกอบรม และระบบรักษาความปลอดภัยที่จำเป็นในการควบคุมเครื่องบินเหล่านี้ และยังชี้ให้เห็นถึงรายชื่อผู้รอคอย (ที่จะซื้อ) เครื่องบิน F-35 นานถึง 10 ปี" 

แต่ผู้เขียนบทความชี้ว่ายังมีเหตุผลอื่นอีกคือ "ปัจจัยที่ไม่ได้ถูกพูดถึงในการตัดสินใจของสหรัฐฯ น่าจะเป็นความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างกองทัพไทยกับกองทัพปลดแอกประชาชน (PLA กองทัพจีน) สหรัฐฯ ขายเครื่องบิน F-35 ให้กับเฉพาะพันธมิตรและหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดที่สุดเท่านั้น เช่น สมาชิก NATO อย่างอิสราเอล และในอินโด-แปซิฟิก ได้แก่ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ประเทศเหล่านี้ไม่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกองทัพปลดแอกประชาชน (หรือกองทัพรัสเซีย)"

บทความนี้อธิบายต่อไปว่า สหรัฐฯ ไม่ได้ทำลายความหวังของกองทัพอากาศไทยไปโดยสิ้นเชิง โดยสหรัฐฯ เผยว่ายินดีที่จะทบทวนการตัดสินใจอีกครั้งในอีก 5-10 ปีข้างหน้า เพื่อให้กองทัพอากาศไทยมีเวลาแก้ไขข้อบกพร่องที่สหรัฐฯ ระบุไว้ ในขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ก็ยินดีที่จะขายเครื่องบินรบรุ่นที่ 4.5 (ถือเป็น Fourth-generation fighter) ของกองทัพอากาศไทย เช่น F-16 Falcon และ F-15EX Eagle II รุ่นล่าสุด

ทั้งนี้ เครื่องบินรบรุ่นที่ 4.5 หรือ 4.5 generation fighter เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องบินรบรุ่นที่ 4 หรือ Fourth-generation fighter) โดยรุ่นที่ 4 มีแรงขับของเครื่องยนต์ที่สูง พื้นผิวควบคุมที่ทรงพลัง และเสถียรภาพสถิตที่ผ่อนคลาย (RSS) สามารถทำ 'ซูเปอร์ครูซ' คือ ความสามารถของเครื่องบินเจ็ทในการบินด้วยความเร็วเหนือเสียง มีระบบอัตโนมัติควบคุมการบินโดยใช้คอมพิวเตอร์ รุ่นที่  4.5 มีความคล้ายกับรุ่นที่ 5 เล็กน่อย แต่ราคาถูกกว่าและมีองค์ประกอบที่ด้อยกว่า (ดูคำอธิบายเรื่องรุ่นที่ 5 ในลำดับถัดไป) 

ถึงแม้สหรัฐฯ จะบอกให้ไทยรอรุ่น 5 ไปอีก 10 ปีเป็นอย่างมาก และให้ไทยพิจารณาซื้อเครื่องบินรบรุ่น 4.5 เช่น F16 แต่บทความวิเคราะห์ว่า "เมื่ออ่านระหว่างบรรทัด นั่นหมายความว่าสหรัฐฯ จะเต็มใจจัดหา F-35 ให้กับกองทัพอากาศไทยก็ต่อเมื่อกองทัพไทยลดความสัมพันธ์กับกองทัพปลดแอกประชาชนจีนในช่วงทศวรรษหน้าเท่านั้น"

เมื่อสหรัฐฯจะขาย  F16 ให้ไทย อีกทั้งยังยื่นเงื่อนไขทางการเมืองระหว่างประเทศไทยให้ไทยเลือกข้างแบบอ้อมๆ กองทัพอากาศไทยก็เลยเลือกเครื่องบินรบ Gripen ของสวีเดนเสียเลย แต่มันมีคุณสมบัติเทียบกันได้กับ F-35 ที่ไทยต้องการหรือไม่?

ความเห็นเกี่ยวกับการเปรียบเทียบเชิงเทคนิค
บอยโก นิโคลอฟ (Boyko Nikolov) ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารและความมั่นคงเขียนในเว็บไซต์ BulgarianMilitary ว่า "แม้ว่า F-35A จะเป็นตัวเลือกแรก แต่การเปรียบเทียบระหว่าง F-35 และ Gripen E/F เผยให้เห็นข้อได้เปรียบที่ชัดเจนของแต่ละรุ่น แม้ว่า F-35 ซึ่งเป็นเครื่องบินรบรุ่นที่ 5 (Fifth-generation fighter) จะมีศักยภาพในการรบมากกว่า แต่การเลือกใช้ Gripen อาจส่งผลให้ฝูงบินเครื่องบินรบของไทยโดยรวมแข็งแกร่งยิ่งขึ้น"

ทั้งนี้ เครื่องบินรบรุ่นที่ 5 หรือ Fifth-generation fighter คือเครื่องบินรบที่มีเทคโนโลยีทันสมัยที่สุดในเวลานี้ มีคุณลักษณะสำหคัญ เช่น สามารถบินล่องหนหรือหลบเลี่ยงการตรวจจับของเรดาร์ได้ มีระบบซูเปอร์ครูซ คือการเดินทางด้วยความเร็วเหนือเสียงเป็นเวลานานได้ การรวมข้อมูลบนเครือข่ายช่วยให้สามารถรับรู้สถานการณ์ในสนามรบได้ เป็นต้น เครื่องบินรบในรุ่นนี้ เช่น F-35A และ B และ C Lightning II ของสหรัฐฯ,  Chengdu J-20B ของจีน และ  Sukhoi Su-57 ของรัสเซีย

นิโคลอฟ ยังชี้ให้เห็นด้วยว่า ในแง่ของต้นทุนการบำรุงรักษาและการปฏิบัติการ F-35A และ Gripen E/F ยังมีความแตกต่างกันมากในด้านต้นทุนการบำรุงรักษา โดยที่  F-35A เป็นที่รู้กันว่าต้องใช้จ่ายที่สูงที่สุดในบรรดาเครื่องบินขับไล่ของชาติตะวันตกที่ผลิตอยู่ในปัจจุบัน ในขณที่ Gripen E/F ก็มีต้นทุนและความต้องการในการบำรุงรักษาที่ต่ำที่สุด และ "ตลอดอายุการใช้งาน คาดว่า Gripen E/F จะมีราคาต่ำกว่า F-35A ถึงหนึ่งในสาม

ในแง่ของอาวุธข้อดีของเครื่องบินรบจากสวีเดน ก็คือ "Gripen E/F นำเสนอขีปนาวุธ Meteor ขีปนาวุธนี้ได้รับการยกย่องอย่างสูงและเทียบได้กับ PL-15 ของจีน ซึ่งจัดอยู่ในอันดับอาวุธอากาศสู่อากาศที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในโลก ประสิทธิภาพการทำงานของขีปนาวุธนี้อยู่ระหว่าง AIM-120D และ AIM-260 ซึ่งช่วยลดข้อได้เปรียบด้านอากาศสู่อากาศบางประการของ F-35" นิโคลอฟ กล่าว

อย่างไรก็ตาม  โดยรวมแล้ว F-35 ยังถือเป็นเครื่องบินรบที่มีประสิทธิภาพเหนือกว่า โดยเฉพาะเทคโนโลยีล่องหนช่วยเพิ่มความสามารถในการเอาตัวรอดจากภัยคุกคามต่างๆ ได้อย่างยอดเยี่ยมเมื่อต้องเผชิญหน้ากับภัยคุกคามต่างๆ นอกระยะการมองเห็น "นอกจากนี้ เรดาร์ AN/APG-81 ของ F-35 ยังล้ำหน้ากว่า Raven ES-05 ของ Gripen ไม่เพียงเท่านั้น แต่ยังใหญ่กว่าถึงหนึ่งในสาม ทำให้ F-35 มีข้อได้เปรียบอย่างมากในการรับรู้สถานการณ์"

แต่ นิโคลอฟ กล่าวว่า "ความซับซ้อนของ F-35 มักเป็นจุดอ่อนของมัน" แลจุดอ่อนของ F-35 คือสมรรถนะในการรบจริงที่ถูกตั้งคำถามอยู่เนืองๆ อันเกิดจากปัญหาเชิงเทคนิค เขาชี้ว่า "ข้อบกพร่องของซอฟต์แวร์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องยังคงเป็นปัญหาสำคัญ ซึ่งเป็นปัญหาที่พบได้น้อยกว่าใน Gripen E/F ทั่วไป" 

Photo credit - Tuomo Salonen / SIM Finnish Aviation Museum - commons file (CC BY-SA 4.0) Via Wikipedia

TAGS: #Gripen #F16 #F-35