สถานการณ์เบื้องหลัง
หนึ่งในจุดที่กองทัพเมียนมาเสียทีมากที่สุด คือพื้นที่ในรัฐยะไข่หรือรัฐอาระกัน ทางตะวันตกของประเทศ จากการายงานของ The Irrawaddy ตอนนี้กองทัพเมียนมาเสียดินแดนแลพพ่ายแพ้อย่างต่อเนื่องกับการสู้รบกับกองทัพอาระกัน (AA) ซึ่งเป็นกองทัพขาติพันธุ์ในรัฐยะไข่ที่ตอนนี้เกือบจะคุมพื้นที่ของรัฐยะไข่ได้เกือบหมดแล้ว
จากข้อมูลล่าสุด รัฐบาลทหารสูญเสียเมืองทั้งหมด 9 อำเภอจาก 17 อำเภอของรัฐยะไข่ ในการรุกครั้งใหญ่ที่เริ่มขึ้นโดยกองทัพชาติพันธุ์ที่นำโดย AA เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายนปีที่แล้ว ซึ่ง AA เป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังที่รวมพลังกับกองกำลังชาติพันธ์อีกสามกลุ่ม รวมตัวเป็น "พันธมิตรสามพี่น้อง" ที่โจมตี "จีนเทา" ในภาคเหนือของเมียนมา แต่ AA เป็นกองกำลังเดียวที่เคลื่อนไหวในรัฐของตน ในภาคตะวันตกเฉียงใต้
อย่างไรก็ตาม รัฐยะไข่มีปัญหาเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์ เพราะนอกจากจะมีชาวยะไข่แล้วยังมีชาวมุสลิม ซึ่งส่วนใหญ่มีบรรพบุรุษมาจากบังกลาเทศ (เนื่องจากยะไข่ติดกับบังกลาเทศ) คนกลุ่มนี้คือยา โรฮีนจา ซึ่งเป็นเหยื่อความขัดแย้งทั้งกับคนท้องถิ่นและกับรัฐบาลเมียนมาทั้งรัฐบาลพลเรือนและทหาร นำไปสู่การขับไล่และสังการหมู่ชาวโรฮีนจา
รัฐยะไข่จึงมีความขัดแย้งที่ซับซ้อนหลายระดับ จากการรายงานของ The Irrawaddy ระบุว่า หลังจากรัฐบาลทหารเพลี่ยงพล้ำหลายครั้ง ก็ใช้ยุทธวิธี "แบ่งแยกและปกครอง" ในรัฐยะไข่อีกครั้ง ด้วยการใช้คนโรฮีนจามาต่อต้านชาวยะไข่ที่นำโดยกองกำลัง AA หลังจากที่ AA กำลังจะเคลื่อนพลบุกเมืองหลวงของรัฐ คือเมืองซิตตเว
ยะไข่คืออะไรมากจากไหน?
ยะไข่เคยเป็นอาณาจักรเอกราชมาก่อนในยุคโบราณ แต่ในยุคราชวงศ์โก้นบองได้พ่ายแพ้ต่อพม่าและกลายเป็นส่วนหนึ่งของพม่านับแต่บัดนั้น ว่ากันในแง่เชื้อชาติแล้ว ชาวยะไข่เป็นคนชาติพันธุ์เดียวกับคนพม่า (หรือ บะหม่า) โดยพูดภาษาตระกูลเดียวกับภาษาพม่า แม้ว่าจะเรียกเป็นภาษาต่างหากว่าเป็น 'ภาษายะไข่' แต่โดยเนื้อแท้แล้วก็คือภาษาพม่านั่นเอง และชาวยะไข่ยังนับถือพุทธศาสนาเถรวาทแบบเดียวกับคนพม่า
แต่ยะไข่ก็ยังมีชนชาติอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะกลุ่มคนที่นับถือศาสนาอิสลาม นั่นคือชาวโรฮีนจา การที่คนยะไข่พุทธและโรฮีนจามุสลิมอยู่ร่วมกัน ทำให้เกิดการปะทะกันหลายครั้ง ซึ่งนำไปสู่การสังหารหมู่ที่น่าสยดสยอง สาเหตุก็คือเพราะคนสองกลุ่มนี้มีเป้าหมายเรื่องการปกครองต่างกัน ชาวโรฮีนจาต้องการดินแดนเอกราชของตนเอง แต่ชาวยะไข่ที่เป็นคนส่วนใหญ่ไม่ยินยอม อีกทั้งเมื่อยะไข่ถูกปกครองโดยเผด็จการทหาร (ที่เป็นพุทธเหมือนคนยะไข่) ยิ่งทำให้มีการปราบปรามคนโรฮีนจาอย่างหนัก
แต่เมื่อย้อนกลับไปในประวัติ อาณาจักรโบราณของยะไข่ได้สร้างวัฒนธรรมเฉพาะที่ทำให้คนพุทธสามารถอยู่ร่วมกับมุสลิมได้ เนื่องจากยะไข่ต้องรับมือกับการแผ่ขยายอิทธิพลของอาณาจักรมุสลิมจากประเทศข้างๆ คือ อาณาจักรสุลต่านเบงกอล และจักรวรรดิโมกุล ทำให้กษัตริย์ของอาณาจักรยะไข่โบราณ เช่น 'อาณาจักรมเยาะอู้' มีกษัตริย์ที่ทรงใช้พระนามแบบมุสลิม ทรงผลิตเกรียญกษาปณ์ที่ใช้อักษรเปอร์เซีย ทั้งยังมีคำสวดในภาษาอาหรับตามหลักศาสนาอิสลามบนเหรียญด้วย แต่กษัตริย์ทรงเป็นชาวพุทธอย่างเต็มที่
ทำไมยะไข่ถึงแข็งแกร่ง?
เนื่องจากยะไข่เป็นเบ้าหลอมระหว่างคนพุทธและมุสลิม มีทั้งการอยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียวและการปะทะกันจนเสียเลือดเนื้อรุนแรง ดังนั้น ในทัศนะของคนพม่า คนยะไข่จึงเป็น "คนแกร่ง" ในแง่ของการรับมือกับ "แขก" หรือคนมุสลิมและคนโณฮีนจา จนมีคำกล่าวในหมู่คนพม่าว่า "หากสู้แขกไม่ไหว ให้ถามพวกยะไข่"
ในบทความทางวิชาการชื่อ "ผู้หญิงสองคน : ทัศนะพม่าต่อผู้หญิงที่มีสามีต่างชาติต่างศาสนา" ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ "รู้จักพม่า" โดยศูนย์พม่าศึกษา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้อธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า
"ในส่วนทัศนะของชาวพม่าที่มีต่อชาวมุสลิมนั้น ชาวพุทธพม่าดูจะไม่ค่อยชอบมุสลิมนัก และมองว่าแขกมุสลิมมักรุกทางศาสนาด้วยการแต่งงานกับชาวพุทธ อย่างไรก็ตาม พม่ามีโวหารไว้พูดข่มพวกแขกหรือกะลาว่า "หากสู้แขกไม่ไหว ให้ถามพวกยะไข่" ยะไข่เป็นชนร่วมเชื้อสายกับพม่าและเป็นเมืองพุทธที่มีพื้นที่ใกล้ชิดกับมุสลิม กล่าวกันว่าชาวยะไข่นั้นไม่ค่อยจะยอมอ่อนข้อให้ผู้อื่น และร้ายจนพวกแขกก็ไม่กล้ามาตอแยด้วย"
จากคำกล่าวนี้ จะสังเกตได้สองอย่างก็คือ คนพม่าคิดว่าชาวยะไข่สามารถ "ข่มแขก" ได้ เพราะความใกล้ชิดกับ "แขก" และอีกเรื่องก็คือชาวยะไชข่มีอุปนิสัยไม่ยอมอ่อนข้อให้คนอื่น หรือเป็นคนแข็งกร้าวนั่นเอง
ทัศนะเรื่องนี้ดูเหมือนจะบังเอิญตรงกับที่มาของคำว่า "ยะไข่" จากทัศนะของ อาร์เธอร์ ไฟร์ (Arthur Purves Phayre) ข้าหลวงมณฑลบริติชเบอร์มาคนแรก และผู้ัเขียนหนังสือประวัติศาสตร์พม่าอย่างเป็นทางการเล่มแรกในภาษาอังกฤษ ได้สันนิษฐานว่า คำว่า อาระกัน/ยะไข่ น่าจะมาจากภาษาสันสกฤต "รากษส" หรือบาลีคำว่า "รักขัสส" ที่แปลว่า ยักษ์หรืออสูรจำพวกหนึ่ง ซึ่งมีความดุดร้าย มักกินเนื้อเป็นอาหาร ข้อสันนิษฐานนี้ดูจะเข้ากันได้ดีกับความคิดของชาวพม่าต่อชาวยะไข่ที่เชื่อว่าเป็นคน "ดุดัน"
รักขัสส กลายเป็น ยะไข่ ได้อยางไร? ต้องข้าใจก่อนว่า ภาษายะไข่นั้นยังออกเสียง ร. เรือได้ ส่วนภาษาพม่าออกเสียง ร.เรือไม่ได้ จะกลายเป็นเสียง ย.ยักษ์ ดังนั้น "ระขัสส" จึงกลายเป็น "ยะขัสส" หรือ ยะไข่ นั่นเอง
ความดุดันของคนยะไข่ในสายตาคนพม่านั้น สะท้อนให้เห็นในบทความ"รู้จักพม่า" ในตอนเดียวกัน ซึ่งอธิบายไว้ว่า
"บ้างว่ายะไข่มักรู้เห็นเป็นใจกับแขกด้วยซ้ำ และด้วยความมีนิสัยรอบจัดของพวกยะไข่ พม่าจึงแต่งโวหารไว้ว่ากระทบพวกยะไข่ว่า "หากเจองูกับยะไข่ ให้ตียะไข่ก่อนตีงู" เห็นได้ว่าแม้ชาวพม่าจะพึ่งยะไข่ให้เป็นกันชนกับพวกแขกก็ตาม แต่พม่าก็รังเกียจยะไข่ยิ่งกว่างู พม่ากับยะไข่จึงเข้ากันได้ไม่สนิทใจ ชาวพม่าบางคนยังให้ทัศนะว่า ผู้หญิงยะไข่มักไม่อยากแต่งงานกับ ผู้ชายพม่าแท้ๆ ส่วนพม่าเองก็ไม่ชอบยะไข่เพราะมองว่ายะไข่มักมีนิสัยใจคอไปทางแขกมากกว่าพม่า"
ยะไข่ไล่แขกตอนนี้พม่าใช้แขก
คำว่า "แขก" สะท้อนถึงความไม่ใช่คนท้องถิ่น แต่เป็น "แขกเหรื่อ" ที่มมาจากถิ่นอื่น เช่นเดียวกัน ชาวยะไข่มองว่าพวกโรฮีนจาเป็น "แขก" ไม่ใช่คนท้องถิ่น จึงเรียกคนเหล่านี้ว่าเป็น "พวกบังกลา" ตามถิ่นฐานเดิมของคนเหล่านี้ คือแคว้นเบงกอลในยุคอินเดียตกเป็นอาณานิคมอังกฤษ หรือประเทศบังกลาเทศในปัจจุบัน
ความขัดแย้งระหว่าง "แขก" (โรฮีนจา หรือ บังกลา) กับชาวยะไข่พุทธนั้นดุเดือดมากๆ และต่างฝ่ายต่างคิดไม่ตรงกันเอาเลย เพราะโรฮีนจาเชื่อว่าพวกเขาไม่ใช่ "แขก" แต่เป็นคนที่นี่ และควรจะได้ดินแดนไปปกครองตนเอง ส่วนคนยะไข่ไม่ยอมเชื่อแบบนั้นและไม่ยอมให้คนโรฮีนจามีอำนาจปกครองตนเองเด็ดขาด
นี่คือความขัดแย้งระดับแรกภายในรัฐยะไข่ นั่นคือ ระหว่างมุสลิมโรฮีนจากับพุทธยะไข่ ต่างฝ่ายต่างมีกองกำลังของตนเอง แต่ฝ่ายพุทธยะไข่แข็งแกร่งกว่ามาก มากเสียจนกระทั่งกองทัพเมียนมาเองก็ต้านไม่ไหว
ความขัดแย้งอีกระดับ คือความขัดแย้งระหว่างพุทธยะไข่กับรัฐบาลและกองทัพเมียนมา (ซึ่งเป็นพุทธเหมือนกัน) เพราะกองทัพขยะไข่ต้องการปกครองตนเอง แต่รัฐบาลส่วนกลางไม่ยินยอม
ความขัดแย้งยังซับซ้อนขึ้นไปอีก เมื่อชาวพุทธยะไข่ยอมสามัคคีกับกองทัพเมียนมาเพื่อเล่นงานชาวโรฮีนจา ซึ่งเป็นศัตรูของชาวพุทธชาตินิยมในเมียนมาไม่ว่าจชนชาติไหนก็ตาม
แต่ล่าสุดความซับซ้อนยังวิวัฒนาการไปอีกขั้น เมื่อกองทัพเมียนมากล่อมให้คนโรฮีนจามาทำการต่อต้านกองทัพยะไข่ ไม่ให้ทำการรุกเข้ายึดพื้นที่สำคัญของกองทัพที่เหลืออยู่น้อยนิด เนื่องจากคนโฮีนจาระแวงกองทัพ AA ที่เป็นยะไข่พุทธอยู่แล้ว จึงร่วมมือกับกองทัพเมียนมา
ความขัดแย้งเหล่านี้ทำให้สถานการณ์ในรัฐยะไข่วุ่นวายมาก เรียกได้ว่าเป็น "สามก๊ก" ของสงครามกลางเมืองยะไข่ก็ว่าได้
รายงานพิเศษ โดยทีมข่าวต่างประเทศ The Better