'ตลก' มีอภิสิทธิ์ที่จะปล่อยมุกแซะใครก็ได้ (จริงหรือเปล่า?)

'ตลก' มีอภิสิทธิ์ที่จะปล่อยมุกแซะใครก็ได้ (จริงหรือเปล่า?)

รู้หรือไม่ว่าสมัยก่อน 'ตลก' (หรือนักแสดงตลก) มีอภิสิทธิ์ในการปล่อยมุกล้อเลียนได้ไม่อั้น สามารถพูดจากระทบกระเทียบพระเจ้าแผ่นดินไปจนถึงคนเดินดิน เหยียดคนรวยและด่าคนจน โดยไม่ต้องกลัวว่าหัวจะหลุดจากบ่า

นี่คือสิ่งที่เรียกว่า Jester's privilege หรือ 'อภิสิทธิ์ของตลกหลวง'

ครับ 'ตลก' ที่เราพูดถึงไม่ใช่ตลกบ้านๆ หากินกันตามริมถนน แต่ทำงานในรั้วในวัง มียศถาบรรดาศักดิ์ และที่สำคัญคือ มีสิทธิ์ที่จะล้อ 'นายจ้าง' นั่นคือกษัตริย์ได้ตลอดเวลา (ถ้ารู้จักเลือกเวลาเหมาะๆ)

ก่อนยุคสมัยใหม่นั้น ราชสำนักในยุโรปจะมีพวก Jester คือ 'ตลกหลวง' หรือ 'จำอวดหลวง' ไว้คอยสร้างความบันเทิง พวกนี้จะคอยปล่อยมุกที่กระทบกระเทียบพวกขุนนางหรือคนชั้นสูง เพื่อทำให้กษัตริย์เบิกบานพระทัย บางครั้ง ถ้ากษัตริย์ทรงทำตัวให้น่าหัวเราะเสียเอง พวกตลกหลวงก็จะล้อเลียนพระองค์ด้วย เพื่อสร้างบรรยากาศในรั้วในวังไม่ให้ตึงเครียดจนเกินไป

พวกตลกหลวงจะล้อเลียนหนักๆ ถึงขนาดทำให้คนชั้นสูงโกรธจนหน้าแดงก็มี แต่ทำอะไรพวกนี้ไม่ได้ ไม่ใช่เพราะฆ่าไม่ได้ แต่ถ้าฆ่าพวกตลกหลวง คนที่ลงมือทำร้ายจะกลายเป็นตัวตลกเสียเอง เพราะเท่ากับลดตัวลงต่ำเท่ากับพวกตลก

และตลกหลวงไม่ใช่แค่ทำตัวตลกไปวันๆ พวกเขายังเป็นปากเสียงแทนประชาชนด้วย เพราะเป็น 'คนสามัญ' ที่ได้รับอนุญาตให้พูดอะไรที่ขวานผ่าซากหรือแทงใจดำกับพระเจ้าแผ่นดินได้ 

ตัวอย่างเช่น สตาญชิก (Stańczyk) ตลกหลวงในราชสำนักโปแลนด์สมัยศตวรรษที่ 15 ที่มักจะ 'แซว' กษัตริย์ด้วยมุกที่แหลมคม เช่น ครั้งหนึ่งพระเจ้าซิกิสมุนด์ผู้อาวุโส (Sigismund the Old) ทรงได้รับหมีที่ถูกจับมาจากต่างแดน แต่แล้วก็ทรงปล่อยในป่าเพื่อทำการล่าเพื่อความสำราญพระทัย ปรากฏว่าหมีเกิดคลั่งขึ้นมาจะเข้าทำร้ายกษัตริย์ พวกชาววังต่างตื่นตระหนกกันใหญ่ จนพระราชินีตกจากหลังม้าแล้วพระครรภ์ตกพระโลหิต (แท้ง) พระเจ้าซิกิสมุนด์ผู้อาวุโสทรงตำนิตลกหลวงสตาญชิกที่ไม่ยอมไปไล่หมี แต่กลับวิ่งหนีท่าเดียว

แต่ สตาญชิก กราบทูลว่า "การปล่อยหมีที่ถูกจับมาไว้ในกรงอยู่แล้ว เป็นเรื่องที่งี่เง่าเสียกว่าอีก"

มุกนี้ไม่ใช่แค่ 'แซะ' กษัตริย์กันตรงๆ แต่ยังกระทบกระเทียบไปถึงนโยบายของงพระเจ้าซิกิสมุนด์ผู้อาวุโสที่ทรงรบกับพวกปรัสเซียจนชนะแล้ว แต่กลับปล่อยพวกนั้นไป โดยไม่ยึดแผ่นดินมาครอง เท่ากับจับหมีมาได้แล้วแต่ปล่อยเข้าป่าเพื่อให้มันมาแว้งกัดอีก 

ในเมืองไทยก็เคยมีกรณีแบบนี้ เช่น รัชกาลสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ พระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์นั้นยุคกรุงศรีอยุธยา มีพี่เมียพระสนมคนหนึ่งชื่อนายสังข์ ใช้อำนาจบาตรใหญ่เอาเปรียบประชาชนโดยตั้ง 'ภาษีผักบุ้ง' ตามใจชอบเพื่อรีดเงินจากการค้าผักบุ้ง จนราษฎรเดือดร้อนกันถ้วนหน้า เพราะผักบุ้งนั้นเป็นผักถูกๆ สำหรับคนจนๆ แต่ตอนนี้กลับมาถูกทางการเก็บภาษีอีก แบบนี้เหมือนรีดเลือดจากปูชัดๆ 

ราษฎรเอาเรื่องไปฟ้องพวกขุนนางๆ ก็ไม่มีใครกล้ากราบทูล ประชาชนจึงเดือดร้อนเรื่อยมา

จนกระทั่งวันหนึ่ง พระเจ้าเอกทัศน์ทรงบรรทมไม่หลับมาหลายวัน จึงทรงเรียกละครมาแสดงให้ทอดพระเนตร ในคณะละครนั้นมี 'จำอวด' คือตัวตลกสร้างสีสันอยู่สองคน เล่นปล่อยมุกเรื่องเงินเรื่องทองกัน แต่จำอวดคนหนึ่งปล่อยมุกว่า "จะเอาเงินมาแต่ไหนจนจะตาย แต่เก็บผักบุ้งขายยังมีภาษี" บอกแบบนี้ถึงสองครั้ง พระเจ้าเอกทัศน์ก็ทรงแปลกพระทัย เรียกตัวจำอวดทั้งสองคนไปซักถาม จนได้ทราบความจริงเรื่องภาษีผักบุ้ง

พระเจ้าเอกทัศน์ทรงพิโรธมาก สั่งประหารนายสังข์พี่เมียพระสนมเสีย แล้วสั่งให้เสนาบดีคือนเงินภาษีแก่ราษฎรด้วย แต่ภายหลังทรงคลายพิโรธแล้วก็งดโทษประหารนายสังข์

เรื่องนี้จำอวดหรือ Jester ไม่ได้ล้อพระเจ้าแผ่นดิน แต่ล้อเลียนคนชั้นสูงที่กดขี่ประชาชนโดยพระเจ้าแผ่นดินไม่ทรงทราบ นี่คือพลังอย่างหนึ่งของ Jester's privilege ที่ช่วยร้องเรียนกษัตริย์และขุนนางแทนราษฎรทั่วไปได้ 

ดังนั้น ตลกหลวงจึงถูกเรียกอีกชื่อว่า "ที่ปรึกษาผู้ร่าเริง" หมายถึงทำตัวตลกๆ แต่ก็มีคำเตือนไปถึงผู้ปกครองโดยตรง

ถามว่าทุกวันนี้ Jester's privilege ยังไมีหรือเปล่า? ตอบว่าไม่มี เพราะยุคนี้ไม่มีตลกหลวงแล้ว ตลกหลวงในราชสำนักคนสุดท้ายน่าจะเป็น เจสซี บอกโดนอฟ (Jesse Bogdonoff) ซึ่งเป็นทั้งที่ปรึกษาการเงินของรัฐบาลประเทศตองงา (Tonga) และตลกหลวงของสมเด็จพระราชาธิบดีเตาฟาอาเฮา ตูโปอูที่ 4 แห่งตองงา แต่งตั้งเป็นตลกหลวงเมื่อปี 1999 นี่เอง 

เรื่องของตลกหลวง เจสซี บอกโดนอฟ นี่มีสีสันมาก สมควรแยกไปเล่าต่ออีกเรื่องหนึ่งต่างหาก เพราะจุดประสงค์ของเราในวันนี้คือการพูดถึง 'อภิสิทธิ์ของตลกยุคใหม่'

แล้วยุคนี้เรามีสิ่งที่เรียกว่า Comedian's privilege หรือไม่?

โปรดทราบว่า Comedian ในยุคสมัยใหม่ไม่เหมือนกับ Jester สมัยโบราณตรงที่ Jester ทำงานให้กับพระเจ้าแผ่นดินซึ่งสั่งเป็นสั่งตายได้ ต่อให้ล้อถึงพ่อถึงแม่พระเจ้าแผ่นดิน แต่ถ้าท่านไม่พิโรธตลกหลวงก็ไม่มีทางตาย

แต่ Comedian ไม่มีใครคอยหนุนหลังแบบนั้นอีกแล้ว ถึงแม้ตลกจะแซวได้ แต่ก็ต้องรับผลที่จะตามมาด้วย ถ้าเกิดว่า "คนฟังเข้าไม่ตลกด้วย"

อีกอย่างก็คือ Comedian ไม่ได้ทำหน้าที่ 'ที่ปรึกษาผู้ร่าเริง' อีกต่อไป เพราะนักแสดงตลกไม่ได้เสี่ยงชีวิตเพื่อทำหน้าที่เล่นมุกเพื่อชี้ความถูกผิดให้ผู้มีอำนาจได้รับฟัง แต่มุกส่วนใหญ่ปล่อยมาเพื่อเอาสนุกโดยที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น

เพื่อความตลกล้วนๆ มุกหลายมุกจึงถูกผลิตออกแบบไม่มีขอบเขตและสาระ เพราะสำหรับนักแสดงตลก ยิ่งคนฮา ยิ่งมีรายได้

ด้วยเหตุนี้ Stand-up comedy จึงมักแสดงต่อหน้าผู้คนในสถานที่จำเพาะสำหรับคนที่ซื้อตั๋วมาฟัง ซึ่งหมายความว่าคนที่มาฟังพร้อมที่จะฟัง "เรื่องที่ไม่เข้าหู" และพร้อมที่จะตลกกับเรื่องหมิ่นเหม่

เมื่อ Stand-up comedy กลายเป็น Streaming ที่คนที่ไหนก็ดูได้ถ้าซื้อบริการ มุกที่ไม่เหมาะกับคนทุกคนก็จะเข้าถึงคนในวงกว้างมากขึ้้น แต่ก็นั่นแหละ Streaming ก็เป็นสถานที่จำเพาะเหมือนกัน หรือพูดอีกอย่างก็คือ "ต้องซื้อตั๋ว (หรือค่าบริการรายเดือน)" เพื่อชมมัน

ดังนั้น ตลกที่ที่กระทบกระเทียบคนไม่เลือกหน้าก็มีพื้นที่ของมัน จนกว่าพื้นที่นั้นจะไม่เป็นที่ลับๆ อีกต่อไป เช่น เจ้าของบริการ Streaming เอามาโฆษณาให้ชาวบ้านชาวเมืองได้ดูตัวอย่าง 

ตลกที่กระทบกระเทียบคนอื่นเพื่อสร้างเสียงหัวเราะจึงต้องแสดงในที่จำเพาะ เพื่อ "คุ้มหัวตัวเอง"  จากการถูกคนที่เอามาล้อเลียนตอบโต้กลับ สถานที่จำเพาะนี่เองที่เป็น 'อภิสิทธิ์ของนักแสดงตลก' หรือ Comedian's privilege

กรณีที่ 'โน๊ต'  อุดม แต้พานิช ก็เป็นแบบเดียวกัน ถ้ามุกของเขาไม่ล้อเลียนบุคคลที่สาม เขาก็ไม่จำเป็นต้องหาอะไรมาคุ้มหัว เพราะมันไม่ได้ทำให้ใครรู้สึกเดือนร้อน แต่มุกของเขามักจะคาบเกี่ยวระหว่างการเสียดสี (Satire) กับการให้ความตลกโจมตีคนอื่น (Insult comedy)
 
ประเด็นหลักๆ คือเขาใช้มุกแบบนี้จนถูกโจมตี เพราะถูกกล่าวหาว่าเล่นมุกกระทบกระเทียบ 'เศรษฐกิจพอเพียง' และ 'คนสูงวัย' 

ในที่นี่ผมเลือกใช้คำว่า 'กระทบกระเทียบ' ซึ่งเป็นคำกลางๆ แต่สำหรับบางคนอาจรู้สึกว่าเบาเกินไป เพราะบางคนคิดว่า อุดม แต้พานิช หยาบกว่านั้น

นี่เป็นปัญหาของตลกแบบ Insult comedy ทุกแห่ง ซึ่งมักถูกตั้งคำถามถึงเรื่องปล่อยมุกตลกปนการด่าจนไม่มีขอบเขต เพราะ 'ขอบเขต' เป็นเรื่องที่คอยป้องกันตลกเอาไว้ (เหมือนกับ Jester ที่มีอำนาจผู้ปกครองคุ้มหัว) 

อย่างการทำ Roasting (การแซะ การขุดเรื่องน่าอาย มาแซวแรงๆ แล้วปล่อยมุกให้คนขำ หรือเรียกง่ายๆ ว่า 'เผา') มักจะทำกันโดย 'คนรู้จักกัน' และคนรู้จักันจะยอมให้ 'คนรู้จักกัน' ปล่อยมุกแรงๆ โดยจะไม่โกรธกัน เพราะรู้กันว่านี่คือขอบเขตของการ Roast 

แต่ตลกแบบ อุดม แต้พานิช มักจะ Roast บุคคลที่สามซึ่งผมไม่รู้ว่าได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหรือเปล่า ดังนั้น พอมันไม่มีการกำหนดขอบเขต (หรือนักแสดงตลกไม่ได้กำหนดเอาเองว่าจะไม่ล้ำเส้นที่ตัวเองกำหนดไว้) คนฟังและคนดูจึงเกิดความรู้สึกทั้งตลกโปกฮาและตลกไม่ออก บางคนถึงกับโกรธเพราะอุดม แต้พานิช เหมือนจะไม่ได้อยู่ในขอบเขตของการแสดงตลกแล้ว

ขอให้ดูกรณีของ คริส ร็อค ที่ปล่อยมุกล้อผมสั้นติดหนังศีรษะของ เจด้า พิงเก็ต สมิธ ภรรยาของ วิล สมิธ แต่ วิล สมิธ ไม่ขำด้วยจึงลุกขึ้นไปตบหน้า คริส ร็อค กลางเวทีออสการ์และท่ามกลางสายตาชาวโลก

กรณีนี้ล้ำเส้นด้วยกันทั้งคู่ วิล สมิธ ล้ำเส้นของการใช้ความรุนแรง ส่วน คริส ร็อค ล้ำเส้นที่ไปล้ออาการป่วยที่ทำให้ เจด้า พิงเก็ต สมิธ ต้องมีผมสั้นเต่อติดหนังศีรษะ การล้ออาการป่วยของคนอื่นนั้น ถือเป็นสิ่งที่ "ไม่รับผิดชอบทางจริยธรม"

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้วงการตลกถกเถียงกันและหวาดผวากันไประยะหนึ่ง เพราะกลัวว่ามุกของตนจะไปกระทบความรู้สึกของบางคนจนอาจมีการลงไม้ลงมือกัน นั่นหมายความว่า 'อภิสิทธิ์ของนักแสดงตลก' ที่สามารถแซะใครก็ได้ มันได้พังทลายลงไปแล้ว

ก็เช่นเดียวกับ คริส ร็อค ดูเหมือนว่ากรณีที่เกิดขึ้นได้ทำลายอภิสิทธิ์ของการเป็นนักแสดงตลกของ อุดม แต้พาณิชย์ ไปแล้ว เพราะเขาทำให้ผู้ชมของเขาเกิดความแตกแยกเรื่องค่านิยมในสังคม ดังนั้น การแสดงครั้งต่อๆ ไป จะมีทั้งเสียงฮาและเสียงโห่ 

วันไหนที่เสียงโห่มากกว่าเสียงฮา วันนั้นอาชีพนักแสดงตลกของเขาได้จบสิ้นแล้ว ไม่ต้องพูดถึงอภิสิทธิ์ที่จะแซวใครได้ตามใจชอบ

ตลกทุกคนในโลกรวมถึง อุดม แต้พาณิชย์ ต้องตระหนักว่า โลกของเรามีความแตกแยกเป็นขั้วต่างๆ สูงมาก หรือที่เรียกว่า Polarization ซึ่งสืบเนื่องมาจากฝ่ายต่างๆ ทางการเมืองไม่ยอมประนีประนอมกัน เช่นฝ่ายเสรีนิยมกับอนุรักษ์นิยมอยู่ร่วมโลกกันไม่ได้  แถมยังล้อเลียนกันแรงๆ จนเจ็บใจไม่ยอมลดราวาศอก การเมืองสหรัฐฯ และไทยกำลังอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ 

ดังนั้น ตลกในสหรัฐฯ จึงต้องระวังการปล่อยมุกเพราะทำให้เสียกลุ่มคนฟังเอาได้ถ้าเกิดมุกนั้นหมิ่นเหม่กับค่านิยมและอุดมการณ์การเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะมีตัวอย่างที่ตลกถูกกลุ่มการเมืองรุมยำมาแล้วหลายครั้ง จนเดี๋ยวนี้คนมักตั้งคำถามกันว่า "ตกลงคนสมัยนี้เล่นตลกกันไมได้แล้วใช่ไหม?"

ก็เช่นกัน ตลกในเมืองไทยถ้าคิดจะล้อเล่นกับสังคมที่มัน Polarization สุดๆ ก็ย่อมทำได้ แต่มันมีราคาที่ต้องจ่าย และแพงซะด้วย แต่ไม่ใช่ว่าคุณจะทำไม่ได้ เพราะถ้าสามารถทำได้ และจะยิ่งดีถ้าทุกขั้วการเมืองฮาไปพร้อมๆ กันโดยไม่มีเสียงโห่

นั่นแหละตลกของประชาชนของแท้ 

บทความทัศนะโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการ และบรรณาธิการ The Better

Photo courtesy of Netflix

TAGS: #อุดม #แต้พาณิช