เด็กคนนี้เคยถูกคาดหวังให้สอนธรรมะ แต่เขากลับสลัดจีวรแล้วออกตามหาตัวตนที่แท้จริง

เด็กคนนี้เคยถูกคาดหวังให้สอนธรรมะ แต่เขากลับสลัดจีวรแล้วออกตามหาตัวตนที่แท้จริง
หนุ่มชาวสเปนคนนี้คืออดีตลามะน้อยที่กลับชาติมาเกิด แต่ทำไมเขาถึงไม่ยอมสอนธรรมะ?

เมื่อหลายปีก่อน มีเรื่องราวของเด็กคนหนึ่งโด่งดังไปทั่วโลก คือเด็กชาวสเปนที่ได้รับการรับรองจากผู้นับถือพุทธศาสนาแบบทิเบตว่าเป็นพระลามะกลับชาติมาเกิด เด็กคนนั้นมีชื่อว่า "เออเซล"

อดีตชาติของเออเซล
เรื่องราวนี้เริ่มต้นมาจากพระลามะชาวทิเบต ที่ชื่อ ทุบเทน เยเช (Thubten Yeshe) หรือท่านลามะ เยเช (คำว่าลามะ เป็นภาษาทิเบตแปลว่า "อาจารย์" มักใช้กับพระภิกษุที่มีความรู้สูงทางธรรมะ)

ลามะ เยเช เกิดใกล้กับเมืองโทลุง เดเชน ในทิเบต ท่านเป็นลามะที่มีความรู้สูงแม้ว่าท่านไม่ยอมศึกษาในระดับปริญญาเอกทางพุทธศาสนาตามแบบทิเบต ที่เรียกว่า "ระดับเกเช" หรือเทียบเท่าเปรียญ 9 ของไทยก็ตาม 

หลังการรุกรานของจีนในปี 1959 ลามะ เยเช เดินทางไปยังภูฏาน จากนั้นจึงไปยังค่ายผู้ลี้ภัยชาวทิเบตที่เมืองบูซาดัวร์ ประเทศอินเดีย จุดเปลี่ยนสำคัญคือในปี 1965 ลามะ เยเช เริ่มสอนนักเรียนชาวตะวันตก  จำนวนนักศึกษาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในที่สุดก็ส่งผลให้มีการก่อตั้งสถาบันหลายแห่ หนึ่งในนั้นคือ มูลนิธิอนุรักษ์ประเพณีมหายาน (FPMT)  ในเวลานั้นชุมชนศาสนาพุทธแบบทิเบตถือว่าการสอนชาวตะวันตกเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา ชาวทิเบตเหล่านี้จึงเรียกลามะ เยเช ว่า "ไพซาลามะ" หรือ "ลามะที่เห็นแก่เงิน" 

ภาพถ่ายของลามะ เยเช (ภาพจาก FPMT

อย่างไรก็ตาม ลามะ เยเช มีบทบาทสำคัญในการเผยแผ่พุทธศาสนาแบบทิเบตไปสู่โลกตะวันตก และหลังจากนั้นพุทธศาสนาแบบทิเบตหรือนิกายวัชรยานก็ได้รับความนิยมอย่างมาก ตัวท่านเองก็เรียนวิชาปรัชญาตะวันตกเพิ่มเติมพร้อมๆ กับสอนธรรมะในพุทธศาสนาให้ชาวตะวันตก พร้อมกับเขียนหนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนาหลายเล่ม

จนกระทั่งท่านมรณภาพในปี 1984 มีการเผาศพที่สถาบันวัชรปานี ในเมืองโบลเดอร์ครีก รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐฯ 

กลับชาติมาเกิดใหม่
ตามความเชื่อของชาวทิเบต พระลามะชั้นสูงสามารถเลือกชาติกำเนิดในการเกิดครั้งใหม่ได้ เพื่อสืบสานภารกิจในการเผยแพร่ศาสนาต่อไป โดยจะบอกกล่าวศิษย์เอาไว้ว่าจะไปเกิดที่ใด ลามะ เยเช ก็กลับชาติในลักษณะนี้ 

ในปี 1986 การกลับชาติมาเกิดของลามะ เยเช ถูกระบุว่าเป็นเด็กชายชาวสเปน ชื่อว่า เออเซล อีตา ตอร์เรส (Ösel Hita Torres) พ่อแม่ของเออเซล คือ อารีอา ตอร์เรส และ ฟรานซิสโก อีตา เคยเป็นลูกศิษย์ของลามะ เยเช นั่นเอง โดยมีการชี้แนะกันไม่นานหลังจากที่เด็กคนนี้เกิดขึ้นมาว่า เขาอาจเป็น "ทุลกู" ของลามะ เยเช (คำว่า ทุลกู เป็นภาษทิเบตหมายถึงลามะที่กลับชาติมาเกิด) สิบสี่เดือนต่อมา หลังจากการทดสอบตามขนบธรรมเนียมทิเบตเพื่อตรวจาอบการกลับชาติมาเกิด องค์ดาไลลามะก็ประกาศยอมรับว่าเออเซลอย่างเป็นทางการว่าเป็น "ทุลกู" ของลามะ เยเช

ภาพของเออเซลตอนยังเป็นทารก พบกับพระลามะ (ภาพจาก Isabella Barni)

หลังจากนั้น องค์กรเผยแพร่พุทธศาสนาของอดีตลามะเยเช คือ FPMT ก็โปรโมทชื่อเสียงของ เออเซล อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีทูลกูจำนวนไม่มากนักที่กลับชาติมาเกิดเป็นชาวตะวันตก ชื่อของเออเซลเคยโด่งดังไปทั่วหลัง หลังจากที่ชีวิตของเขากลายหนังสือชื่อ Reincarnation: The Boy Lama ซึ่งเคยแปลเป็นภาษาไทยด้วย 

และในฐานะเป็นทุลกูล เด็กน่อยคนนี้ หรือ "ลามะน้อย" คนนี้ถูกคาดหวังว่าจะต้องเป็นอาจารย์สอนธรรมะที่ยิ่งใหญ่ในอนาคตเช่นเดียวกับชาติภพก่อนของเขา ดังนั้น เมื่อยังเป็นเด็ก เออเซลได้ศึกษาวิชาพุทธศาสนาแบบทิเบตแบบดั้งเดิมที่อารามเซราทางตอนใต้ของอินเดีย ซึ่งเป็นสถาบันทางพุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่ของทิเบต และได้รับการสอนแบบส่วนตัวในวิชาตะวันตกไปพร้อมๆ กัน 

ชีวิตของ เออเซิล ควรจะมุ่งสู่การเป็นพระลามะชั้นสูงอย่างที่หลายคาดหวัง

ชาติใหม่ขอชีวิตแบบใหม่
แต่แล้ว เมื่ออายุ 18 ปี เออเซล กลับสลัดทิ้งจีวรและตีตัวออกห่างจากองค์กรพุทธศาสนา FPMT  (ที่เขาตั้งขึ้นมาเองตอนเป็นพระลามะ เยเช เมื่อชาติก่อน) เพื่อหันไปใช้ชีวิตแบบฆราวาสมากขึ้น และเป็นอีกครั้งที่ในชาตินี้ที่เขาไม่ยอมเรียนให้จบชั้นเปรียญสูงสุด หรือระดับเกเช เช่นเดียวกับลามะ เยเชในชาติที่แว  

เขาเผยว่า "เมื่ออายุได้ 14 เดือน ผมได้รับการยอมรับ (ว่าเป็นลามะกลับชาติมาเกิด) และถูกพาไปอินเดีย พวกเขาสวมหมวกสีเหลืองให้ผม ให้ผมนั่งบนบัลลังก์ ผู้คนแสดงความเคารพผม ... พวกเขาพรากผมออกจากครอบครัวและทำให้ผมตกอยู่ในสภาพเหมือนอยู่ในยุคโบราณที่ผต้องทนทุกข์ทรมานมากมาย มันเหมือนกับการใช้ชีวิตอยู่ในความหลอกลวง" 

ภาพของเออเซลกับลามะโซปา รินโปเช ที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย ในช่วงทศวรรษที่ 1990 (ภาพโดย Osel Hita)

หลังจากที่ตัดสินใจทำตามใจอย่างเป็นอิสระแล้ว เขาเลือกที่จะเดินบนเส้นทางศิลปิน เขาไปแสดงในงานเทศกาล Burning Man ปี 2007 ต่อมาเขาได้เข้าเรียนที่โรงเรียนมหาวิทยาลัยเซนต์ไมเคิล ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมเอกชนในเมืองวิกตอเรีย รัฐบริติชโคลัมเบีย 

เมื่อเขาสอบผ่าน ASAT ในแคนาดา เขาก็ย้ายไปสวิตเซอร์แลนด์และศึกษาปรัชญาตะวันตก สิทธิมนุษยชน ฝรั่งเศส และศิลปะ หลังจากผ่านไปหกเดือน เขาก็ตัดสินใจเดินทางไปอิตาลี และลงเอยที่เมืองโบโลญญาโดยทำงานร่วมกับมัตเตโอ ปาสซิกาโต ช่างกล้องมากประสบการณ์ ที่นั่นเขาใช้เวลาอีก 6 เดือนในการทำงานด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์และโทรทัศน์

เมื่อเขากลับมาสเปนอีกครั้งเขาก็ตัดสินใจเรียนภาพยนตร์ จนเมื่ออายุ 20 ปี เขาใช้เวลา 2 เรียนเพิ่มเติมในกรุงมาดริดแล้วรับประกาศนียบัตรผู้อำนวยการฝ่ายภาพยนตร์ จากนั้นเรียนเพิ่มอีก 1 ปีเพื่อรับประกาศนียบัตรผู้กำกับภาพ หลังจากนั้นเขาได้ปริญญาโทสาขาสารคดีที่ EIMA (หรือ Escuela Internacional de Medios Audiovisuales ซึ่งเชี่ยวชาญด้านสื่อ) ซึ่งใช้เวลาเรียนเพิ่มอีกหนึ่งปี ในปี 2011 

นี่คือชีวิตใหม่ของ เออเซล ในฐานะผู้สร้างภาพยนต์และศิลปินอิสระ เป็นโลกคนละใบกับที่ผู้คนในแวดวงชาวพุทธคาดหวัง

แต่เขายังตัดไม่ขาดจากรากเดิม
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ดูเหมือนว่าเออเซลจะกลับมาร่วมกิจกรรมกับองค์กรพุทธศาสนา FPMT อีกครั้ง เพียงแต่ภาพี่ปรากฏในสื่อของ FPMT เออเซล ไม่ได้สวมจีวรของพระลามะ แต่ใส่เสื้อผ้าของฆราวาสแบบลำลอง มีทรงผมมแบบคนสามัญทั่วไป และเขายังเป็นพ่อคนแล้ว ณ เวลานี้

ภาพของเออเซลในปัจจุบัน ขณะร่วมกิจกรรมทางพุทธศาสนา (ภาพโดย Institut Vajra Yogini - Centre Bouddhiste de Marzens

แต่เขายังปรากฏตัวกับกลุ่มชาวพุทธแบบทิเบตเพื่อแบ่งปันแง่คิดของเขา และตัวเขาเองยังถูกเรียกว่าเป็น "รินโปเช" ซึ่งเป็นภาษาทิเบตที่ใช้แสดงความเคารพบุคคลที่สถานะสูงในด้านศาสนา แต่เขาอยากให้คนเรียกเขาว่า “เออเซล” มากกว่า 

เออเซล ไม่ได้ทำตัวตามความคาดหวังของใครอีก แต่เขาได้พบตัวเองและแบ่งปัน "ธรรมะ" ในแบบที่เขารู้สึกสบายใจที่สุด

ภาพจาก FPMT
 

TAGS: #น้องไนซ์ #Thubten #Yeshe #Ösel #Hita #Torres