ซูเปอร์โพล เปิดผลสำรวจ เสถียรภาพรัฐบาลในสายตาประชาชน ประชาชนเชื่อมั่นต่ำต่อเสถียรภาพรัฐบาลในอนาคต กังวล เกิดอุบัติเหตุทางการเมือง ยุบพรรค ยุบสภา แนะ 5 ทางออกเพื่อแก้ปัญหา
ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย ซูเปอร์โพล ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง เสถียรภาพของรัฐบาล ในสายตาของประชาชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) รวมจำนวนตัวอย่างในการวิเคราะห์ทางสถิติทั้งสิ้น 1,148 ราย
ผลสำรวจพบว่า ประชาชนร้อยละ 71.7 มีความสนใจข่าวสารเกี่ยวกับเสถียรภาพของรัฐบาล ในระดับ “มากถึงมากที่สุด” ร้อยละ 15.4 ระบุ “สนใจ ปานกลาง” ในขณะที่มีเพียงร้อยละ 12.9 เท่านั้นที่สนใจในระดับ “น้อยถึงไม่สนใจเลย” อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับข่าวด้านปัญหาค่าครองชีพ ค่าน้ำค่าไฟ และปากท้อง พบว่าประชาชนให้ความสนใจในระดับสูงกว่าที่ร้อยละ 85.2 ร้อยละ 10.4 ระบุ “สนใจ ปานกลาง” และร้อยละ 4.4 ระบุ “สนใจน้อย ถึง ไม่สนใจเลย” ตามลำดับ ชี้ให้เห็นว่าแม้ปัญหาปากท้องจะยังเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรก แต่เสถียรภาพทางการเมืองก็ได้รับความสนใจในวงกว้าง สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจและการเมืองที่ประชาชนตระหนักชัด
เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นของประชาชนต่อ เสถียรภาพของรัฐบาล ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประชาชนเพียงร้อยละ 27.8 ที่มีความเชื่อมั่นในระดับ “มากถึงมากที่สุด” และร้อยละ 20.5 ระบุ “เชื่อมั่น ปานกลาง” ว่ารัฐบาลจะรักษาเสถียรภาพได้ ขณะที่ร้อยละ 51.7 มีความเชื่อมั่นในระดับ “น้อยถึงไม่เลย” ตัวเลขนี้สะท้อนถึงความเปราะบางของภาพลักษณ์รัฐบาล และแสดงว่าประชาชนมีมุมมองที่ระมัดระวังต่อทิศทางของการเมืองในระยะสั้น
ที่น่าพิจารณาคือ ประชาชนมีความเป็นห่วง “การยุบพรรคการเมือง” สูงสุดที่ร้อยละ 29.1 ตามมาด้วย “คดีความทางการเมืองของนักการเมืองสำคัญ” ที่ร้อยละ 25.7 และ “การยุบสภา” ที่ร้อยละ 23.9 นอกจากนี้ ยังมีความกังวลต่อ “การแตกแยกของพรรคร่วมรัฐบาล” ร้อยละ 21.5 และ “การลาออกของรัฐมนตรีสำคัญ” ร้อยละ 20.7 ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน ชี้ให้เห็นว่าประชาชนจับตา “อุบัติเหตุทางการเมือง” ซึ่งอาจเป็นชนวนจุดประกายให้เกิดความไม่แน่นอน และกระทบต่อทั้งความต่อเนื่องทางนโยบายและเศรษฐกิจของประเทศ
ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวต่อว่า ผลการสำรวจของซูเปอร์โพลในครั้งนี้ชี้ชัดว่า ประชาชนให้ความสำคัญทั้งต่อปัญหาเศรษฐกิจพื้นฐาน และเสถียรภาพทางการเมืองอย่างลึกซึ้ง ความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างระหว่างสองปัจจัยนี้สะท้อนว่าการเมืองไม่สามารถแยกขาดจากคุณภาพชีวิตของประชาชนได้ ขณะเดียวกัน ระดับความเชื่อมั่นที่ต่ำต่อเสถียรภาพรัฐบาลในอนาคต พร้อมกับความกังวลต่อ "อุบัติเหตุทางการเมือง" บ่งชี้ว่ารัฐบาลต้องเผชิญกับโจทย์ใหญ่ในการรักษาเสถียรภาพ และบริหารความเสี่ยงทางการเมืองในสภาวะที่ความไว้วางใจของสังคมยังไม่แน่นแฟ้น เพียงพอ
ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล ยังกล่าวถึงข้อเสนอแนะด้วยว่า รัฐบาล และบุคคลสำคัญทางการเมือง น่าจะพิจารณาทางออกทางการเมืองภาพใหญ่ของประเทศในระยะสั้นนี้ ได้แก่
(1) เร่งสร้างความมั่นคงทางการเมืองควบคู่กับเศรษฐกิจ รัฐบาลควรบูรณาการการแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องกับการเสริมสร้างเสถียรภาพทางการเมือง เพื่อสร้างพลังศรัทธาใหม่จากประชาชน
(2) บริหารความเสี่ยงเชิงรุกต่ออุบัติเหตุทางการเมือง เตรียมแผนรับมือกรณียุบพรรค ยุบสภา หรือการลาออกของผู้นำสำคัญอย่างโปร่งใส เพื่อลดความวิตกของประชาชน
(3) สร้างการสื่อสารเชิงบวกที่โปร่งใสและสม่ำเสมอ การสร้างพื้นที่สื่อสารที่โปร่งใส ตรงไปตรงมา จะช่วยลดความวิตกเกี่ยวกับข่าวลือและสร้างความเชื่อมั่นในตัวสถาบันการเมือง
(4) ส่งเสริมเอกภาพของพรรคร่วมรัฐบาล เสริมสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวภายในรัฐบาล เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งภายในที่อาจกลายเป็นชนวนของอุบัติเหตุทางการเมือง
(5) สร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เชิญชวนภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชนทั่วไปให้เข้ามามีบทบาทร่วมในการผลักดันนโยบายสำคัญ เพื่อสร้างเสถียรภาพที่ยั่งยืนจากฐานรากของสังคม